โค้ดดิ้ง (Coding) เป็นหลักสูตรที่นักเรียนทั่วประเทศต้องเรียนตามประกาศของกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา เริ่มเรียนตั้งแต่ชั้น ป.1 เป็นต้นไป โดยให้ Coding เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรวิทยาการคำนวณที่บรรจุอยู่ในสาระเทคโนโลยี กลุ่มสาระเรียนรู้วิทยาศาสตร์เป้าหมาย เพื่อปูพื้นฐานให้นักเรียนฝึกคิดอย่างเป็นระบบ ค้นเจอปัญหาและเงื่อนไข รู้เหตุและผล เข้าใจกระบวนการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหา ซึ่งเป็นทักษะสำคัญและจำเป็นสำหรับเด็กในศตวรรษใหม่
อย่างไรก็ตาม โรงเรียนที่มีความพร้อมในเรื่องวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ เรื่อง Coding เป็นสิ่งที่นักเรียนสามารถเรียนรู้และเข้าถึงองค์ความรู้ได้โดยง่าย แต่โรงเรียนบางแห่งอาจไม่มีความพร้อมสำหรับเรื่องนี้ โรงเรียนบ้านหนองกระทุ่ม ต.ชีบน อ.บ้านเขว้า จ.ชัยภูมิ โรงเรียนขนาดกลาง สอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล 2 – ประถมศึกษาปีที่ 6 เป็นหนึ่งในโรงเรียนที่ไม่มีความพร้อมในการจัดหาคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์การเรียนดังกล่าวให้เพียงพอกับนักเรียนทั้ง 131 คน
นายพิทรัตน์ บรรจงงาม ผู้อำนวยการ รร.บ้านหนองกระทุ่ม เล่าว่า โรงเรียนฯ มีครูคอมพิวเตอร์ แต่กลับมีคอมพิวเตอร์ไม่พอสำหรับเด็กๆ ครูจึงทำโครงการ “Amazing Coding By Micro bit” เสนอต่อมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา หรือ CONNEXT ED โดยมีซีพีเอฟให้การสนับสนุนคอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนรู้ จนถึงปัจจุบันสอนเป็นรุ่นที่ 2 มีนักเรียนชั้นป. 4 – 5 – 6 รวม 55 คน ที่เข้าเรียนในชั่วโมงชุมนุม ส่วนน้องๆป.1 – 2 -3 ให้เรียนปรับพื้นฐานไปก่อน
“เด็กๆ ทุกคนตื่นเต้นมากที่ได้เรียน Coding ได้เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ไม่เคยได้เรียน เขาจึงอยากเรียนรู้ ตั้งใจเรียน สนใจดูคู่มือ พร้อมที่จะลงมือทำ และต่อยอดสร้างสรรค์ บางคนถึงกับขอเพิ่มชั่วโมงชุมนุม ตอนนี้เรายังทำการสอนแบบกลุ่ม และหวังว่าในอนาคตจะสอนตัวต่อตัว อยากให้ได้ลงมือทำลองปฏิบัติกับอุปกรณ์และคอมพิวเตอร์จริงๆ ขอขอบคุณซีพีเอฟ ที่ส่งเสริมการพัฒนานักเรียนของเรามาตลอด ก่อนหน้านี้ก็สนับสนุนชุมนุมประดิษฐ์ดอกไม้ ซึ่งเป็นกิจกรรมชุมชนสัมพันธ์ ให้เด็กๆประดิษฐ์ดอกไม้ทำพวงหรีด เป็นเสริมรายได้ให้พวกเขา ต่อยอดไปถึงการแกะสลักในงานศิลปะหัตถกรรมต่างๆ กลายเป็นพื้นฐานให้นักเรียนนำไปใช้และต่อยอดเป็นอาชีพได้” ผอ.พิทรัตน์ กล่าว
ด.ญ.พิชญดา จันทร์บุญ นักเรียนชั้น ป.6 บอกว่า Coding ทำให้การเรียนของหนูสนุกขึ้น หนูชอบที่ได้ลองผิดลองถูกได้ทำกิจกรรมที่แปลกใหม่ ท้าทายความสามารถ และยังทำให้มีกระบวนการคิดที่ดีขึ้น คิดอย่างมีขั้นตอน มีเหตุผล และทำให้มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถนำความรู้ไปต่อยอดเป็นอาชีพ เช่น การทำระบบรดน้ำอัจฉริยะ และระบบให้อาหารไก่อัตโนมัติ ส่วน ด.ช.ณัฐนันท์ พันธ์สูงเนิน นักเรียนชั้นเดียวกัน ฝากขอขอบคุณซีพีเอฟที่มอบโอกาสให้นักเรียนได้สัมผัสการเรียนรู้ใหม่ๆ ผมชอบการเรียนรู้ผ่านไมโครบิทมากๆ เพราะได้ฝึกการคิดแก้ปัญหา เป็นการเรียนรู้ที่น่าสนใจมากๆ
ด้าน ด.ญ.ชมพูนุช วรรณมาตย์ นักเรียนชั้น ป.5 ที่ตื่นเต้นไม่แพ้กันที่ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ และเป็นโอกาสดีที่ได้ฝึกกระบวนการทำงานต่างๆของไมโครบิท ที่ทำให้มีทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับเทคโนโลยี พร้อมพัฒนาศักยภาพและความสามารถด้านเทคโนโลยีมากขึ้นไปอีก และยังได้ฝึกสมาธิ มีความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบผลงาน นักเรียนทุกคนต่างสนุกกับการเรียน ขอขอบคุณทางซีพีเอฟที่สนับสนุนโครงการดีๆ แบบนี้
“Amezing Coding by Micro bit” การเรียนรู้ผ่านแผงควบคุมเล็กๆ ที่ออกแบบให้สามารถสั่งงานได้ด้วยการเขียนโปรแกรมสไตล์ Block-based programming เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้และการใช้เทคโนโลยีขั้นพื้นฐานของน้องๆ นักเรียน รร.บ้านหนองกระทุ่ม ที่จะกลายเป็นการจุดประกายให้กับพวกเขา นำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ต่อยอดสู่อาชีพ และอาจกลายเป็นผู้สร้างนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ที่ยิ่งใหญ่ในอนาคต