กรมทางหลวง(ทล.)พร้อมเดินหน้ามอเตอร์เวย์ M5 แก้ไขปัญหาจราจรติดขัด ช่วงรังสิต – บางปะอิน ตามมติคณะรัฐมนตรี 24 ธ.ค. 2567 เชื่อมโยงการเดินทางมอเตอร์เวย์ M6 มุ่งสู่โคราชแบบไร้รอยต่อ คาดเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนได้ภายในปี 2568 และลงนามสัญญาร่วมลงทุนได้ในปี 2569
นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า ตามที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบนโยบาย “คมนาคมเพื่อโอกาสประเทศไทย” โดยเร่งรัดโครงการลงทุนต่างๆ ของกระทรวงคมนาคม เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายระบบคมนาคมอย่างไร้รอยต่อ รวมถึงส่งเสริมให้ภาคเอกชนที่มีศักยภาพเข้ามาลงทุนในโครงการต่างๆ ของภาครัฐ เพื่อช่วยประหยัดและลดภาระด้านงบประมาณ โดยได้มอบนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดของกระทรวงคมนาคมเร่งรัดการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมในการผลักดันเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่ออนุมัติดำเนินการก่อสร้างโครงการ
วันนี้ (24 ธ.ค. 67) คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบให้กระทรวงคมนาคม โดยกรมทางหลวงดำเนินการให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 5 ส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต – บางปะอิน เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดด้านทิศเหนือของกรุงเทพมหานคร ในแนวทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) โดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วนเช้าและเย็น อีกทั้งในอนาคตเมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ จะเป็นการเชื่อมต่อการเดินทางจากใจกลางกรุงเทพมหานครไปสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้โดยตรง ช่วยให้การเดินทางมีความคล่องตัว สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย รวมถึงการสนับสนุนกิจกรรมโลจิสติกส์ และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
สำหรับโครงการมอเตอร์เวย์ M5 ทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต – บางปะอิน มีรูปแบบการก่อสร้างเป็นทางยกระดับ ขนาด 6 ช่องจราจร ระยะทาง 22 กิโลเมตร จุดเริ่มต้นโครงการอยู่บริเวณโรงกษาปณ์เชื่อมต่อกับทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงอนุสรณ์สถาน – รังสิต และมีจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณทางแยกต่างระดับบางปะอิน มีทางขึ้น-ลง ตลอดแนวเส้นทางจำนวน 7 แห่ง โดยมีเส้นทางทางเชื่อมต่อกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) เพื่ออำนวยความสะดวกการเดินทางไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือในอนาคตให้เป็นไปอย่างไร้รอยต่อ สำหรับการจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง จะใช้ระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น หรือ M-Flow โดยกำหนดค่าธรรมเนียมผ่านทางสำหรับรถยนต์ 4 ล้อ ณ ปีเปิดให้บริการในอัตราสูงสุดไม่เกิน 40 บาทต่อคัน
นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับโครงการนี้จะดำเนินการในรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนแบบ PPP Gross Cost มีระยะเวลาสัญญาไม่เกิน 34 ปี (ก่อสร้าง 4 ปี และ ดำเนินการและบำรุงรักษา หรือ O&M 30 ปี) โดยมีวงเงินลงทุนโครงการฯ ประมาณ 31,358 ล้านบาท แบ่งเป็นส่วนที่ภาครัฐเป็นผู้รับผิดชอบคือค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 78 ล้านบาท และเงินลงทุนของภาคเอกชน จำนวน 31,280 ล้านบาท โดยให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างงานโยธา งานระบบ พร้อมการดำเนินงาน และบำรุงรักษาตลอดทั้งสายทาง รวมถึงการลงทุนและบริหารจัดการจุดพักรถขนาดเล็ก (Rest Stop) ภาครัฐจะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรายได้ค่าธรรมเนียมผ่านทางทั้งหมดของโครงการ และเอกชนจะได้รับเงินค่าตอบแทนจากการให้บริการ (Availability Payment) จากกรมทางหลวงตามเงื่อนไขที่กำหนดในสัญญา (คิดเป็นจำนวนเงินมูลค่าปัจจุบันไม่เกิน 47,881 ล้านบาท) โดยภาครัฐจะทยอยจ่ายให้เอกชนหลังจากเริ่มเปิดให้บริการ มีกำหนดระยะเวลาแบ่งจ่ายค่าตอบแทนเงินลงทุนก่อสร้างไม่น้อยกว่า 15 ปี และค่าตอบแทนการให้บริการในส่วนของค่าดำเนินงานเป็นระยะเวลา 30 ปี นับจากปีที่เปิดให้บริการ โดยกรมทางหลวงจะได้พิจารณากำหนดเงื่อนไขตัวชี้วัดระดับคุณภาพการให้บริการ (KPI) เพื่อให้เอกชนคู่สัญญารักษาคุณภาพระดับการให้บริการที่ดีและปลอดภัยต่อประชาชนผู้ใช้ทาง โดยกรมทางหลวงคาดว่าจะออกประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนได้ภายในปี 2568 และจะลงนามสัญญาร่วมลงทุนได้ในปี 2569