“มนพร”มอบหมาย บวท. เตรียมความพร้อมรองรับปริมาณเที่ยวบินช่วงปีใหม่ 68

0
4

“มนพร”มอบหมาย บวท. เตรียมความพร้อมรองรับปริมาณเที่ยวบินช่วงปีใหม่ 68 รวม 7 วัน กว่า 1.8 หมื่นเที่ยวบิน โต 14% ด้าน “วิทยุการบินฯ” ชู I-SMART ใช้เทคโนโลยีบริหารจัดการ เพิ่มขีดความสามารถทางวิ่ง หวังอำนวยความสะดวก ประชาชน – ไฟลท์บินไม่ล่าช้า – ปลอดภัย คาดปีหน้าอุตสาหกรรมการบินโตต่อเนื่อง แตะ 1 ล้านเที่ยวบิน

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 ที่จะถึงนี้ คาดว่าจะมีประชาชนและนักท่องเที่ยวเดินทางกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก โดยจากการรายงานของบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) คาดการณ์ปริมาณเที่ยวบินระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2567 – 2 มกราคม 2568 รวม 7 วัน ระบุว่าจะมีเที่ยวบินรวม 18,280 เที่ยวบิน เฉลี่ย 2,611 เที่ยวบินต่อวัน เพิ่มขึ้น 14% จากช่วงเดียวกันของปี 2567 ส่วนในปี 2568 อุตสาหกรรมการบินในประเทศจะฟื้นตัวอย่างชัดเจน ซึ่งคาดว่าจะมีเที่ยวบินทั่วประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านเที่ยวบิน จากปี 2567 ที่ให้บริการเที่ยวบินรวม 981,270 เที่ยวบิน และเตรียมที่จะพัฒนาท่าอากาศยานและระบบเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อรองรับการเติบโตสอดคล้องกับภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องเช่นกัน 

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ บวท. และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมด้านต่าง ๆ เพื่อรองรับการเดินทางของประชาชน ภายใต้แนวคิด I-SMART ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม พร้อมทั้งประยุกต์ใช้ระบบเทคโนโลยีมาบริหารจัดการ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวให้มีความรวดเร็ว และปลอดภัย และรองรับปริมาณเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อไม่ให้เที่ยวบินมีความล่าช้า และลดความแออัดของเที่ยวบิน รวมถึงอำนวยความสะดวกด้านข้อมูลสภาพการจราจรทางอากาศและข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้สายการบินอย่างรวดเร็วและทั่วถึง

ด้านนายณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บวท. กล่าวว่า วิทยุการบินฯ ได้เตรียมมาตรการรองรับการเดินทางในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 ตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม โดยได้ดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานทางวิ่ง (High Intensity Runway Operation) หรือ HIROs ซึ่งจะจัดระยะห่างของอากาศยานขาเข้าและขาออกให้กระชับตามกฎเกณฑ์มาตรฐานและสัมพันธ์กับค่าการใช้เวลาบนทางวิ่งของอากาศยาน (Runway Occupancy Time) เพื่อให้สามารถรองรับปริมาณเที่ยวบินได้มากที่สุด สามารถใช้ทางวิ่งร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังเพิ่มข้อกำหนดทางขับ (Preferred-Exit Taxiway) ที่เหมาะสมให้อากาศยานใช้ในการออกจากทางวิ่ง เพื่อใช้เวลาบนทางวิ่งน้อยที่สุด เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจราจรทางอากาศ