ทอท.โชว์ผลประกอบการปีงบ 2567 สุดปลื้มกำไรพุ่ง 1.9 หมื่นล้านบาท โต 118.21% เทียบปีก่อน คาดช่วงปีใหม่ 2568 มีผู้โดยสาร 2.86 ล้านคน พร้อมจัดที่จอดรถฟรีที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ต หาดใหญ่ด้วยการบริการสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย
นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. กล่าวว่า รายงานผลประกอบการปีงบประมาณ 2567 ในรอบ 12 เดือน ระหว่างเดือนตุลาคม 2566 ถึงเดือนกันยายน 2567 ณ ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่ง ของ ทอท. ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) ท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ทชม.) ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย (ทชร.) ท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.) และท่าอากาศยานหาดใหญ่ (ทหญ.) ทอท. มีกำไรสุทธิรวมทั้งสิ้น 19,182.39 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10,391.52 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 118.21 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน โดยมีรายได้รวม 67,827.79 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 40.01 ซึ่งรายได้จากการขายหรือการให้บริการเพิ่มขึ้น 18,980.38 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 39.43 แบ่งเป็น รายได้เกี่ยวกับกิจการการบิน 31,000.47 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8,734.64 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 39.23 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน และรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบิน จํานวน 36,120.83 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10,245.74 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 39.60 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ในขณะที่มีค่าใช้จ่ายรวม 40,524.93 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6,276.70 ล้านบาท หรือร้อยละ 18.33 ซึ่งน้อยกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของรายได้รวมทำให้สัดส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานเทียบกับรายได้จากการดำเนินงานลดลงจากร้อยละ 70.08 ในปีก่อนเป็นร้อยละ 59.71 แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายของ ทอท.
สำหรับปริมาณการจราจรทางอากาศ ณ ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ ทอท. ของปีงบประมาณ 2567 (ตุลาคม 2566 – กันยายน 2567) มีผู้โดยสารมาใช้บริการรวมกว่า 119.29 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.22 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ 72.67 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.82 และผู้โดยสารภายในประเทศ 46.62 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.01 ขณะที่มีเที่ยวบินรวม 732,690 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.5 แบ่งเป็น เที่ยวบินระหว่างประเทศ 416,190 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.63 และเที่ยวบินภายในประเทศ 316,500 เที่ยวบิน ลดลงร้อยละ 0.73
ทั้งนี้ ทอท. ประมาณการณ์ปริมาณการจราจรทางอากาศ ณ ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่ง ในปีงบประมาณ 2568 (ตุลาคม 2567 – กันยายน 2568) คาดว่าจะมีผู้โดยสารมาใช้บริการรวมกว่า 129.97 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.95 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศประมาณ 78.61 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.17 และผู้โดยสารภายในประเทศประมาณ 51.36 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.18 ขณะที่คาดว่าจะมีเที่ยวบินรวมประมาณ 808,280 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.32 แบ่งเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศประมาณ 453,750 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.02 และเที่ยวบินภายในประเทศประมาณ 354,530 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.02
นายกีรติ กล่าวเพิ่มเติมว่าจากประมาณการณ์การจราจรทางอากาศของปีงบประมาณ 2568 จะเห็นได้ว่าตัวเลขผู้โดยสารฟื้นตัวใกล้เคียงกับปริมาณผู้โดยสารช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวโดยเฉพาะในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 ทอท. คาดว่าระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2567 – 4 มกราคม 2568 จะมีผู้โดยสารเดินทางมาใช้บริการท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่ง ประมาณ 2.86 ล้านคน ฟื้นตัวร้อยละ 92.9 เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 (29 ธันวาคม 2562 – 4 มกราคม 2563) แบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศประมาณ 1.83 ล้านคน ฟื้นตัวร้อยละ 95.3 และผู้โดยสารภายในประเทศประมาณ 1.03 ล้านคน ฟื้นตัวร้อยละ 88.8 ขณะที่คาดว่าจะมีเที่ยวบินประมาณ 17,410 เที่ยวบิน ฟื้นตัวร้อยละ 97.5 เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 (29 ธันวาคม 2562 – 4 มกราคม 2563) แบ่งเป็น เที่ยวบินระหว่างประเทศประมาณ 10,370 เที่ยวบิน ฟื้นตัวร้อยละ 102 หรือฟื้นตัวเท่ากับช่วงก่อนโควิด-19 แล้ว และเที่ยวบินภายในประเทศประมาณ 7,040 เที่ยวบิน ฟื้นตัวร้อยละ 91.6
ทอท. มีความพร้อมในการรองรับผู้โดยสารที่จะเดินทางผ่านท่าอากาศยานอย่างเต็มที่ ด้วยการบริการที่สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย โดยในวันที่ 1 ธันวาคม 2567 ระบบพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล (Automated Biometric Identification System: Biometric) ด้วยเทคโนโลยี Facial Recognition สำหรับระบุตัวตนของผู้โดยสารจะมีความพร้อมสมบูรณ์ในการให้บริการอย่างเต็มรูปแบบแก่ผู้โดยสาร ทั้งผู้โดยสารระหว่างประเทศและผู้โดยสารภายในประเทศ โดยผู้โดยสารจำเป็นต้องยินยอมให้ใช้ข้อมูลอัตลักษณ์บุคคลก่อน ซึ่งระบบ Biometric จะทำให้ผู้ใช้บริการท่าอากาศยานได้รับความสะดวกสบาย และรวดเร็ว ตั้งแต่ขั้นตอนการโหลดกระเป๋าสัมภาระผ่านเครื่องรับกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ (เครื่อง CUBD) ตลอดจนผ่านจุดตรวจค้น รวมทั้งขั้นตอนขึ้นเครื่อง โดยผู้โดยสารไม่ต้องแสดง Passport และ Boarding Pass อีก (ทั้งนี้ เป็นการยินยอมให้ใช้ข้อมูล Biometric สำหรับการเดินทางเพียงครั้งเดียวเท่านั้น)
นอกจากนี้ ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 ทอท. จัดที่จอดรถฟรี ณ ทสภ. ทดม. ทภก.และ ทหญ. โดยที่ ทสภ. สามารถจอดรถฟรีได้บริเวณลานจอดรถระยะยาวโซน C ตั้งแต่เวลา 00.01 น.ของวันที่ 30 ธันวาคม 2567 ถึงเวลา 24.00 น.ของวันที่ 1 มกราคม 2568 ในส่วนของ ทดม. ได้จัดพื้นที่จอดรถฟรีบริเวณพื้นที่ลานจอดระหว่างอาคารคลังสินค้า 2 และอาคารจอดรถยนต์ 5 ชั้น ตั้งแต่เวลา 00.01 น.ของวันที่ 30 ธันวาคม 2567 ถึงเวลา 24.00 น.ของวันที่ 1 มกราคม 2568 โดย ทสภ.และ ทดม. ได้จัดรถรับ – ส่งผู้โดยสารระหว่างที่จอดรถยนต์กับอาคารผู้โดยสาร และที่ ทภก. สามารถจอดรถฟรีได้บริเวณหน้าอาคารสำนักงาน ทภก. ตั้งแต่เวลา 00.01 น.ของวันที่ 28 ธันวาคม 2567 ถึงเวลา 23.59 น.ของวันที่ 1 มกราคม 2568 และที่ ทหญ. จัดพื้นที่จอดรถฟรีบริเวณสนามฟุตบอล ตั้งแต่เวลา 00.01 น. ของวันที่ 30 ธันวาคม 2567 ถึงเวลา 24.00 น. ของวันที่ 1 มกราคม 2568
สำหรับการเตรียมความพร้อมด้านอื่น ๆ ทอท. ได้บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานราชการ สายการบิน ผู้ประกอบการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการให้บริการ ได้แก่ เพิ่มความถี่ในการจัดรถเข็นกระเป๋า การทำความสะอาดห้องน้ำ เพิ่มเคาน์เตอร์เช็กอินและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ บริหารจัดการจราจรทั้งภาคพื้นและพื้นที่การบิน (Landside & Airside) ในช่วงชั่วโมงคับคั่ง (Peak Hour) บริหารจัดการสายพานลำเลียงกระเป๋า จัดเจ้าหน้าที่ Airport Help ช่วยดูแลเรื่องการจัดแถวของผู้โดยสารในพื้นที่ต่าง ๆ รวมทั้งให้คำแนะนำการใช้งานเครื่องเช็กอินอัตโนมัติ (เครื่อง CUSS) เครื่อง CUBD และเครื่องตรวจหนังสือเดินทางอัตโนมัติ (Automated Border Control: ABC) การตรวจสภาพรถรับจ้างสาธารณะ การตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ของผู้ขับขี่รถรับจ้างสาธารณะ การจัดเตรียมรถแท็กซี่สาธารณะ เพิ่มความถี่รถโดยสารสาธารณะและการดูแลการจราจรทางอากาศ รวมทั้งจัดอัตรากำลังพลให้เพียงพอเพื่อดูแลผู้โดยสารตลอด 24 ชั่วโมง ทอท. ในฐานะรัฐวิสาหกิจผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานท่าอากาศยานที่สำคัญของประเทศไทยและภูมิภาค พร้อมที่จะส่งมอบประสบการณ์การเดินทางอันน่าประทับใจ และไม่หยุดยั้งที่จะเพิ่มขีดความสามารถการให้บริการอย่างต่อเนื่อง ตามวิสัยทัศน์ขององค์กร “ทอท. เป็นผู้ดำเนินการและจัดการท่าอากาศยานที่ดีระดับโลก : มุ่งเน้นคุณภาพการให้บริการ โดยคำนึงถึงความปลอดภัย และสร้างรายได้อย่างสมดุล