ขร.ประสานความร่วมมือเชิงปฏิบัติการด้านรถไฟไทย-ญี่ปุ่น มุ่งพัฒนาระบบรถไฟฟ้า พร้อมยกระดับขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯและปริมณฑล
วันนี้ (18 ก.ย. 2567) นายอธิภู จิตรานุเคราะห์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง ร่วมหารือกับกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคม และการท่องเที่ยว (MLIT) ประเทศญี่ปุ่น ในการประชุมหารือความร่วมมือเชิงปฏิบัติการด้านรถไฟไทย – ญี่ปุ่น โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ได้แก่ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด และสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) ณ กรมการขนส่งทางราง
ทางฝ่ายญี่ปุ่นได้มีการนำเสนอแผนการศึกษา โดยนำเสนอภาพรวมของการพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งปัจจุบันเปิดให้บริการแล้วประมาณ 277 กิโลเมตร และอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 71 กิโลเมตร โดยมีการศึกษาสถานะปัจจุบันและปัญหาของระบบรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งเสนอแนวทางการปรับปรุงโดยอ้างอิงจากกรณีศึกษาในประเทศญี่ปุ่น ครอบคลุมประเด็นสำคัญ อาทิ การส่งเสริมการใช้รถไฟฟ้า การบรรเทาความแออัด นโยบายค่าโดยสาร การปรับปรุงระดับการให้บริการ และการปรับปรุงการเข้าถึงสถานี ให้มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย ทันสมัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
สำหรับฝ่ายไทยนั้นได้มีการรายงานความก้าวหน้าของโครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงส่วนต่อขยายที่อยู่ระหว่างเสนออนุมัติจำนวน 3 โครงการ รวมระยะทาง 29.34 กิโลเมตร และโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ ซึ่งมีความคืบหน้าร้อยละ 40.38 พร้อมทั้งได้รายงานความก้าวหน้าของการพัฒนาระบบตั๋วร่วมซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางและส่งเสริมการเชื่อมต่อระหว่างระบบขนส่งสาธารณะต่าง ๆ
นอกจากนี้ทั้งสองฝ่ายได้หารือร่วมกันเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการต่ออายุบันทึกความร่วมมือระหว่างกระทรวงคมนาคมแห่งราชอาณาจักรไทย และกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น ด้านระบบราง โดยเสนอพิจารณาปรับปรุงเนื้อหาที่มีอยู่เดิม และกำหนดประเด็นเฉพาะของความร่วมมือ ได้แก่ การขนส่งสีเขียว และความร่วมมือในด้านการจัดการภัยพิบัติ เช่นในกรณีน้ำท่วม รวมถึงประเด็นอื่นๆ เพิ่มเติมในอนาคต
นายอธิภู กล่าวว่ารัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบรางของไทยให้มีประสิทธิภาพ ทันสมัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะให้ประชาชนทุกคนได้ใช้บริการอย่างเท่าเทียม และลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ซึ่งการศึกษาของฝ่ายญี่ปุ่นจะช่วยสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบรางของประเทศไทย ให้เกิดการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะได้อย่างเท่าเทียมเช่นเดียวกับในญี่ปุ่นพร้อมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยอีกด้วย