กรมทางหลวงชนบท(ทช.)รายงานสายทางที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือ – อีสาน สัญจรผ่านไม่ได้ 13 สายทาง พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ติดตามเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เพื่ออำนวยความปลอดภัยให้กับประชาชน
นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวงชนบท เปิดเผยว่า จากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ได้รับผลกระทบจากปริมาณฝนที่ตกหนักอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมีลมพายุ ส่งผลให้น้ำท่วมบ้านเรือนประชาชนได้รับความเดือดร้อน ปัจจุบัน (วันที่ 17 ก.ย. 67 เวลา 14.00 น.) สำนักบำรุงทาง และสำนักงานทางหลวงชนบทที่ 17 (เชียงราย) ได้รายงานถึงสถานการณ์โครงข่ายทางหลวงชนบทได้รับผลกระทบ ไม่สามารถสัญจรผ่านได้ 13 สายทาง ในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย บึงกาฬ หนองคาย และตาก ดังนี้
1. สะพานบนถนนสาย ชร.3037 แยก ทล.118 – บ้านใหม่หมอกจ๋าม อำเภอแม่สรวย, เมือง, แม่อาย จังหวัดเชียงราย (ช่วง กม.ที่ 65+830 ถึง 66+000)
2. สะพาน ชร.007 สะพานพ่อขุนเม็งรายมหาราช อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย (ช่วง กม.ที่ 0+000 ถึง 0+200)
3. สะพาน ชร.016 สะพานแม่น้ำกก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย (ช่วง กม.ที่ 0+000 ถึง 0+140)
4. ถนนเชิงลาดสะพาน ชร.022 สะพานประชาร่วมใจ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย (ช่วง กม.ที่ 1+450 ถึง 2+000)
5. สะพานบนถนนสาย ชร.1041 อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย (กม.ที่ 0+000)
6. ถนนสาย บก.3010 แยก ทล.212 – บ้านหนองมุม อำเภอบึงกาฬ, ปากคาด จังหวัดบึงกาฬ (ช่วง กม.ที่ 30+900 ถึง 31+550 และ 7+000 ถึง 8+000)
7. ถนนสาย นค.5027 แยก ทล.3009 – บ้านสร้างคอม (ตอนหนองคาย) อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย (ช่วง กม.ที่ 12+825 ถึง 13+400 และ 7+525 ถึง 8+850)
8. ถนนสาย นค.3042 แยก ทล.211– บ้านธาตุกลางน้อย อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย (ช่วง กม.ที่ 16+300 ถึง 17+300)
9. ถนนสาย นค.4044 แยก ทล.2266 – บ้านทุ่ม อำเภอศรีเชียงใหม่, ท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย (ช่วง กม.ที่ 6+500 ถึง 7+600)
10. สะพาน นค.012 สะพานห้วยหลวง อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย (ช่วง กม.ที่ 0+000 ถึง 6+180)
11. สะพาน นค.029 สะพานห้วยเป อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย (ช่วง กม.ที่ 0+000 ถึง 0+100)
12. สะพาน นค.019 สะพานห้วยน้ำโมง อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย (ช่วง กม.ที่ 1+700 ถึง 2+730)
13. ถนนสาย ตก.4014 แยก ทล.1090 – บ้านพบพระเหนือ อำเภอแม่สอด, พบพระ จังหวัดตาก (ช่วง กม.ที่ 15+400 ถึง 15+500) ดำเนินการติดตั้งสะพานเบลีย์ เพื่อเปิดใช้ในการสัญจรชั่วคราวแล้ว
อธิบดีกรมทางหลวงชนบท กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับสถานการณ์ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำนักงานทางหลวงชนบทที่ 15 (อุดรธานี) แขวงทางหลวงชนบทหนองคาย และแขวงทางหลวงชนบทบึงกาฬ ได้ลงพื้นที่ติดตามเฝ้าระวังระดับน้ำที่ท่วมบนสายทาง ติดตั้งป้ายเตือน สัญญาณไฟ และอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยบนสายทางเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ติดตามเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้เส้นทาง รวมถึงสำนักงานทางหลวงชนบทที่ 16 (กาฬสินธุ์) แขวงทางหลวงชนบทนครพนม และแขวงทางหลวงชนบทมุกดาหาร ได้เตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่ วัสดุ อุปกรณ์ ป้ายเตือน และอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย รวมถึงเฝ้าระวังสถานการณ์ระดับน้ำในแม่น้ำโขงอย่างใกล้ชิด เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างทันท่วงที
ทั้งนี้ หากประชาชนต้องการความช่วยเหลือ สามารถติดต่อได้ที่แขวงทางหลวงชนบทในพื้นที่ได้ทันที หรือสายด่วน กรมทางหลวงชนบท โทร. 1146