บขส.เปิดบริการเส้นทางอุดรธานี-สนามบินอุดรธานี – หนองคาย – วังเวียง พ.ย.นี้

0
13

บขส.เปิดบริการเส้นทางอุดรธานี-สนามบินอุดรธานี – หนองคาย – วังเวียง พ.ย.นี้ เพิ่มความสะดวกนักท่องเที่ยวเชื่อมสนามบิน – รถไฟความเร็วสูง เล็งศึกษาเส้นทางใหม่ระหว่างไทย – สปป.ลาว 5 เส้นทาง หนุนเศรษฐกิจท่องเที่ยวสองประเทศ

นายอรรถวิท รักจำรูญ กรรมการฯ รักษาการแทนกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) กระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า บขส. ได้เข้าร่วมประชุมหารือด้านการขนส่งทางถนนระหว่างไทย – สปป.ลาว ณ โรงแรม Landmark Mekong Riverside นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว เมื่อวันที่ 4 – 5 กันยายน ที่ผ่านมา ตามที่กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) และ กรมขนส่ง สปป.ลาว กำหนดจัดขึ้น เพื่อติดตามผลการดำเนินการเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการขนส่งทางถนนระหว่างไทย – สปป.ลาว และหารือแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นด้านการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารที่เกิดขึ้นภายใต้กรอบความตกลงด้านการขนส่งทางถนนระหว่างไทย – สปป.ลาว ทั้งนี้ เพื่อเป็นไปตามนโยบายของนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมที่มอบหมายให้ บขส. เปิดเส้นทางเดินรถระหว่างประเทศครบทุกเส้นทาง และเปิดเส้นทางท่องเที่ยวใหม่เชื่อมสนามบินและรถไฟความเร็วสูง สำหรับการประชุมดังกล่าว บขส. ได้สรุปประเด็นสำคัญและมีแผนดำเนินการ 6 เรื่อง ดังนี้

1) เตรียมเปิดให้บริการเดินรถระหว่างประเทศไทย – สปป.ลาว เส้นทางอุดรธานี – ท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี – หนองคาย – วังเวียง ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2567 เพื่ออำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยว เดินทางเชื่อมต่อระหว่างสนามบินและรถไฟความเร็วสูง สปป.ลาว – จีน ที่สะดวก รวดเร็ว และไร้รอยต่อ หลังจากที่ก่อนหน้านี้เส้นทางดังกล่าวได้ปิดให้บริการชั่วคราว เพื่อปรับปรุงเส้นทางให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้บริการ

2) เตรียมศึกษาเส้นทางเดินรถระหว่างประเทศไทย – สปป.ลาว เพิ่มอีก 5 เส้นทาง ได้แก่ เชียงใหม่ – บ่อเต็น กรุงเทพฯ – สะหวันนะเขต พัทยา – ปากเซ พัทยา – เวียงจันทน์ และพัทยา – สะหวันนะเขต เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มทางเลือกผู้โดยสารเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะเชื่อมจังหวัดท่องเที่ยวทั้งสองประเทศมากขึ้น

3) เพิ่มช่องทางจำหน่ายตั๋วโดยสารล่วงหน้า ผ่านระบบออนไลน์ และ E-Ticket ในเส้นทางระหว่างประเทศทุกเส้นทาง ซึ่ง บขส. ได้ให้บริการเดินรถเส้นทางระหว่างประเทศไทย – สปป.ลาว 9 เส้นทาง 92 เที่ยววิ่งต่อวัน มีผู้โดยสารใช้บริการทั้งสองฝั่ง 3,000 คนต่อวัน ได้แก่ เส้นทางหนองคาย – นครหลวงเวียงจันทน์ อุดรธานี – นครหลวงเวียงจันทน์ นครพนม – เมืองท่าแขก อุบลราชธานี – เมืองปากเซ กรุงเทพฯ – เมืองปากเซ มุกดาหาร – แขวงสะหวันนะเขต กรุงเทพฯ – นครหลวงเวียงจันทน์ เลย – แขวงไซยบุรี – แขวงหลวงพระบาง และเชียงราย – แขวงบ่อแก้ว

4) เพิ่มมาตรฐานรถโดยสารที่บริการในเส้นทางกรุงเทพฯ – ปากเซ จากเดิมใช้รถโดยสารปรับอากาศชั้น 1 ให้บริการเดินรถ วันละ 2 เที่ยววิ่ง เที่ยวไป 1 เที่ยว เที่ยวกลับ 1 เที่ยว ให้เพิ่มเป็นรถโดยสารปรับอากาศพิเศษ วันละ 2 เที่ยว เที่ยวไป 1 เที่ยว เที่ยวกลับ 1 เที่ยว

5) ให้เพิ่มจำนวนรถโดยสาร เส้นทางมุกดาหาร – สะหวันนะเขต จากปัจจุบันมีรถโดยสารให้บริการ 7 คัน รวม 13 เที่ยวต่อวัน ให้เพิ่มรถโดยสารอีก 3 คัน รวมเป็น 10 คัน และเพิ่มเที่ยววิ่งอีก 4 เที่ยวต่อวัน รวมเป็น 17 เที่ยววิ่งต่อวัน

6) เพิ่มพนักงาน บขส. ที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองหนองคาย บริเวณสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 1 เส้นทางหนองคาย – เวียงจันทน์ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางให้ผู้โดยสารมากขึ้น

นอกจากนี้ ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมบริเวณช่องจำหน่ายตั๋วโดยสารของ บขส. ที่สถานีขนส่งผู้โดยสารตลาดเช้า เวียงจันทน์ สปป.ลาว โดยให้จัดทำป้ายประชาสัมพันธ์รถโดยสารเส้นทางระหว่างประเทศ ทั้งภาษาไทยและภาษาลาว เพื่อติดตั้งบริเวณช่องจำหน่ายตั๋วโดยสารของ บขส. ที่สถานีตลาดเช้า ให้ผู้โดยสารเข้าถึงบริการได้มากขึ้น