การรถไฟฯเปิดหวูดเที่ยวปฐมฤกษ์ กรุงเทพอภิวัฒน์-เวียงจันทน์ (คำสะหวาด)

0
23

สุรพงษ์ รชค. ร่วมต้อนรับผู้โดยสาร และนักท่องเที่ยวในการเปิดเดินขบวนรถระหว่างประเทศ ไทย – สปป.ลาว เที่ยวปฐมฤกษ์ เส้นทางกรุงเทพอภิวัฒน์ – เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) ส่งเสริมเศรษฐกิจทั้งสองประเทศ คาดมีผู้ใช้บริการมากกว่าปีละ 2 แสนคน สร้างรายได้มากกว่าปีละ 67 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2567 นายสุรพงษ์ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในการต้อนรับผู้โดยสาร และนักท่องเที่ยวในการเปิดเดินขบวนรถระหว่างประเทศ ไทย – สปป.ลาว เที่ยวปฐมฤกษ์ เส้นทางกรุงเทพอภิวัฒน์ – เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) เพื่ออำนวยความสะดวกในการเชื่อมต่อการเดินทางของประชาชน และนักท่องเที่ยว และขนส่งสินค้าระหว่างกัน โดยมี Mr. Saysongkham Manodham รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง นางสาวณภัทรา กมลรักษา ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง นายวีรวัฒน์ พัฒนาถาวรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทขนส่ง จำกัด นายฐากรู อินทรชม ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการเดินรถ การรถไฟฯ ผู้บริหารการรถไฟฯ พร้อมด้วย Mr.Saleumsak Sayamoungkhounสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว  Mr. Daochinda Siharath อธิบดีรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งชาติลาว และผู้บริหารสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เข้าร่วมพิธี ณ สถานีเวียงจันทน์(คำสะหวาด) สปป.ลาว

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การเดินขบวนรถระหว่างประเทศ ไทย – สปป.ลาว เที่ยวปฐมฤกษ์ เส้นทางกรุงเทพอภิวัฒน์ – เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) ครั้งนี้ ถือเป็นหนึ่งในความสำเร็จที่การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ดำเนินการยกระดับคุณภาพการให้บริการที่ดีแก่พี่น้องประชาชน ตามนโยบายที่มอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทย บูรณาการความร่วมมือกับรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งชาติลาว เพื่อขยายการให้บริการขบวนรถโดยสารระหว่างประเทศ สามารถเชื่อมโยงการเดินทางระหว่างไทย – สปป.ลาว ของประชาชนและนักท่องเที่ยวทั้งสองประเทศได้อย่างไร้รอยต่อ ซึ่งสอดรับกับนโยบาย IGNITE THAILAND ของรัฐบาลที่ต้องการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยสู่เป้าหมายการเป็น Tourism Hub ที่สำคัญของโลก ในการดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศ จำนวนไม่น้อยกว่า 35 ล้านคน สร้างรายได้สู่อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ไม่น้อยกว่า 3 ล้านล้านบาท โดยนักท่องเที่ยวจาก สปป.ลาว เป็น 1 ใน 5 ของกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีอัตราการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศสูงสุด ทั้งนี้ คาดว่าตลอดปี 2567 จะมีนักท่องเที่ยวจาก สปป.ลาว เดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทย ไม่น้อยกว่า 977,000 คน สามารถสร้างร้ายได้ไม่ต่ำกว่า 36,960 ล้านบาท ช่วยให้เกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจจากการเดินทางท่องเที่ยว

สำหรับการเปิดให้บริการขบวนรถระหว่างประเทศไทย – สปป.ลาว เส้นทางสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ – เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) – สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ระยะทาง 654กิโลเมตร ได้เปิดให้บริการไป-กลับ จำนวน 2 ขบวน นอกจากนี้ ยังได้เปิดให้บริการเส้นทางอุดรธานี –  เวียงจันทน์(คำสะหวาด) – อุดรธานี ไป-กลับ อีก 2 ขบวน รวมเป็น 4 ขบวน/วัน โดยมีการจำหน่ายตั๋วโดยสาร เที่ยวแรก 19 กรกฎาคม 2567 ไปเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคมที่ผ่านมา พบว่า มีนักท่องเที่ยวและประชาชนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก ทำให้ตั๋วโดยสารถูกจองเต็มทุกที่นั่งในเวลาอันรวดเร็ว ขณะเดียวกันการรถไฟฯ ยังได้รับความร่วมมือจาก สมาคมผู้ประกอบการขนส่งที่เวียงจันทน์  มาให้บริการอำนวยความสะดวกในการเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ในเมืองเวียงจันทน์ได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ คาดว่าจะมีผู้ใช้บริการขบวนทั้ง 4 ขบวน เพิ่มขึ้นมากกว่าปีละ 2 แสนคน สร้างรายได้มากกว่าปีละ 67 ล้านบาท ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลลูกค้าสัมพันธ์ โทรศัพท์ 1690 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือเฟซบุ๊ก แฟนเพจ ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย

นายสุรพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาการรถไฟฯ เตรียมความพร้อมขั้นสูงสุดในทุกด้านๆ ก่อนที่จะมีเปิดให้บริการเดินรถเต็มรูปแบบ โดยการจัดฝึกอบรมแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งชาติลาวในด้านปฏิบัติการเดินรถ ทั้งด้านพนักงานขับรถ พนักงานสถานี พนักงานกั้นถนน พนักงานคุมประแจ พนักงานย่านสับเปลี่ยน และพนักงานจำหน่ายตั๋วโดยสาร รวมถึงการตรวจสภาพทางและใช้รถอัดหินปรับปรุงสภาพทาง ตลอดจนการตรวจสอบระบบอาณัติสัญญาณ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดเดินขบวนรถ นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกันทดสอบการเดินขบวนรถไฟระหว่างสถานีอุดรธานี – สถานีหนองคาย – สถานีท่านาแล้ง -สถานีเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) แล้วเสร็จไปเมื่อวันที่ 13 – 14 กรกฎาคม 2567 โดยผลการทดสอบเป็นไปด้วยความเรียบร้อย 

สถานีรถไฟเวียงจันทน์(คำสะหวาด) สถานีตั้งอยู่ที่บ้านคำสะหวาด เมืองไซยเชษฐา ห่างขึ้นไปทางทิศเหนือจากท่าบกท่านาแล้งเพียง 7.5กิโลเมตร เป็นสถานีรถไฟขนาด 2 ชั้น 2 ชานชาลา ถูกออกแบบเพื่อใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าด้วยระบบรางขนาด 1เมตร(Meter Gauge) รวมขนาดพื้นที่กว่า 1 หมื่นตารางเมตร ใช้งบประมาณก่อสร้าง รวมทั้งสิ้น994.68 ล้านบาท นับเป็นสถานีรถไฟแห่งที่ 2 ในเส้นทางโครงข่ายทางรถไฟไทย – สปป.ลาว ที่มีความสำคัญในการคมนาคมขนส่งทางรางระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ยังถือเป็นเส้นทางเชื่อมโยงด้านการขนส่งสินค้า Logistics โดยผ่านสถานีขนถ่ายสินค้าท่านาแล้งแล้ว ยังเป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้กับพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษบึงธาตุหลวง ศูนย์กลางการท่องเที่ยว การค้า และการทำธุรกิจของเวียงจันทน์ ซึ่งจะก่อให้ประโยชน์ความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ การค้า การท่องเที่ยวในอนาคต

ท้ายนี้ กระทรวงคมนาคม และการรถไฟฯ มีความมุ่งหวังว่า การเปิดเดินขบวนรถระหว่างประเทศ ไทย – สปป.ลาว ในครั้งนี้ จะเป็นการขยายความร่วมมือครั้งสำคัญของทั้งสองประเทศ ที่สามารถเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมทางรางไว้ด้วยกัน ก่อให้เกิดการเจริญเติบโตสู่ภูมิภาค โดยขบวนรถสามารถรับส่งผู้โดยสารที่เดินทางโดยเครื่องบิน มาลงยังสนามบินอุดรธานี เพื่อเดินทางต่อโดยรถไฟเข้าไปนครหลวงเวียงจันทน์ได้โดยไม่ต้องต่อรถโดยสารอื่นเหมือนที่ผ่านมา สามารถขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว และโลจิสติสก์ของภูมิภาคต่อไป