ขนส่งฯเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อทำใบอนุญาตขับรถปลอมทางออนไลน์และอย่าโอนเงินโดยเด็ดขาด ลั่นขนส่งฯติดตามดำเนินการเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยได้แจ้งความดำเนินคดีไปแล้ว 555 ราย แนะดำเนินการผ่านช่องทางกรมการขนส่งทางบก สะดวก รวดเร็ว ถูกต้องตามกฎหมาย
นายเสกสม อัครพันธุ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก และโฆษกกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า กระทรวงคมนาคม กรมการขนส่งทางบกได้มุ่งมั่นในการพัฒนาระบบการขอหรือต่อใบอนุญาตขับรถ ซึ่งในปัจจุบันมีความสะดวก รวดเร็ว และถูกต้องตามกฎหมาย โดยการขอรับใบอนุญาตขับรถใหม่สามารถจองคิวล่วงหน้าผ่านแอปพลิเคชัน DLT Smart Queue (เลือกสำนักงานขนส่ง วันและเวลาที่สะดวก) เพื่อเข้าตรวจสอบเอกสาร ทดสอบสมรรถภาพของร่างกาย อบรมที่สำนักงาน 5 ชั่วโมง ทดสอบข้อเขียน และทดสอบขับรถได้ที่สำนักงานขนส่ง กรณีผู้ขับขี่ที่เรียนกับโรงเรียนสอนขับรถที่กรมการขนส่งทางบกรับรอง ผู้ขับขี่จะได้เรียนรู้ทักษะการขับขี่อย่างปลอดภัยโดยครูผู้สอนที่ได้รับการรับรองจากกรมฯ พร้อมทั้งดำเนินการอบรม ทดสอบข้อเขียน ทดสอบขับรถ ณ โรงเรียนสอนขับรถได้เลย และเมื่อผ่านการทดสอบแล้วจะได้รับหนังสือรับรองจากโรงเรียนสอนขับรถเพื่อนำไปยื่นและถ่ายรูปเพื่อออกใบอนุญาตขับรถที่สำนักงานขนส่ง มีอัตราค่าธรรมเนียมการขอรับใบอนุญาตขับรถใหม่ (รวมค่าคำขอ) รถยนต์ 205 บาท รถจักรยานยนต์ 105 บาท สำหรับการต่ออายุใบอนุญาตขับรถ สามารถเข้ารับบริการโดยไม่ต้องจองคิวล่วงหน้า (walk in) โดยอบรมภาคทฤษฎีออนไลน์ล่วงหน้าผ่านระบบ e-Learning ทางเว็บไซต์ www.dlt-elearning.com หรือในกรณีผู้ที่ไม่ได้อบรมล่วงหน้ามาแต่ประสงค์อบรมที่สำนักงาน สามารถนำบัตรประจำตัวประชาชน ใบอนุญาตขับรถฉบับเดิม ใบรับรองแพทย์ เข้ารับบริการต่ออายุใบอนุญาตขับรถได้ทันที ณ สำนักงานขนส่งทุกแห่งทั่วประเทศ มีอัตราค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาตขับรถ (รวมค่าคำขอ) รถยนต์ 505 บาท รถจักรยานยนต์ 255 บาท
รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวต่อไปว่า ณ ปัจจุบันมีกลุ่มมิจฉาชีพแอบอ้างว่าสามารถรับทำธุรกรรมกับกรมการขนส่งทางบกผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก โดยเฉพาะรับทำหรือต่ออายุใบอนุญาตขับรถยนต์ โดยพฤติกรรมของกลุ่มมิจฉาชีพจะนำรูปตราสัญลักษณ์กรมการขนส่งทางบกมาใส่ในรูปโปรไฟล์ หรือนำรูปภาพของผู้ที่ได้รับใบขับขี่มาแอบอ้าง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ โดยจะโฆษณาหลอกลวงว่าสามารถออกใบขับขี่หรือต่ออายุใบขับขี่โดยไม่ต้องเดินทางไปที่สำนักงานขนส่ง และมีการเรียกเก็บเงินแพงกว่าค่าธรรมเนียมจริงเป็นจำนวนมาก ซึ่งกรมการขนส่งทางบกได้ติดตามดำเนินการเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยได้แจ้งความดำเนินคดีไปแล้ว 555 ราย ทั้งนี้ เตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อเพจมิจฉาชีพแอบอ้างรับทำธุรกรรมด้านใบอนุญาตต่างๆ บนโลกออนไลน์เด็ดขาด เสี่ยงสูญเสียทั้งทรัพย์สินและเอกสารสำคัญส่วนบุคคล ซึ่งผู้หลงเชื่อจะมีความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดฐานปลอมแปลงเอกสารทางราชการหรือใช้เอกสารราชการปลอม มีโทษถึงขั้นจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน – 5 ปี ปรับตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ หากพบเพจเฟซบุ๊กปลอมขอให้กดรายงานบัญชีหรือเพจเฟซบุ๊ก (REPORT) หรือสามารถแจ้งเบาะแสมายังกรมการขนส่งทางบกได้โดยตรง หรือโทรสายด่วน 1584 ตลอด 24 ชั่วโมง