คลี่ไส้ใน….มหันตภัยรถบัส 2 ชั้น!!
ภายหลัง ปีศาจขนส่ง ได้อัญเชิญที่มาที่ไปการออกประกาศ “ห้ามรถบัส 2 ชั้นจดทะเบียนใหม่” ให้เริงระบำใน LT 139 กันแล้วนั้น ครั้นถึงฉบับนี้จะไม่ขยี้ต่อก็ดูกระไรอยู่ ถ้าไม่งั้นก็เหมือนเข้าห้องน้ำปลดทุกข์แล้วไม่สุด หากจะให้หมดทุกข์ก็ต้องให้มันสุดติ่งกระดิ่งแมวไปเลย ฉันใดก็ฉันเพลแหล่ะคุณโยม
แต่ฉบับนี้ ใคร่ขอนำเสนอข้อมูลจากวิจัยของศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย เพื่อกระทุ้งความกระจ่างแจ้งแดงแจ๋ว่าแท้จริงแล้ว อุบัติเหตุจากรถ 2 ชั้นเกิดจากตัวรถเอง หรือผู้ขับขี่มากกว่า!
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทยได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ จากข้อมูลอุบัติเหตุของกรมการขนส่งทางบกในปี พ.ศ. 2558 พบว่า อัตราการเกิดอุบัติเหตุของรถบัสสองชั้นต่อจำนวนรถบัสสองชั้น ที่จดทะเบียน 10,000 คัน สูงกว่าอัตราการเกิดอุบัติเหตุของรถบัสชั้นเดียว ต่อจำนวนรถบัสชั้นเดียวที่จดทะเบียน 10,000 คัน ถึง 6 เท่า หรือกล่าวง่ายๆได้ว่า “รถบัสสองชั้นมีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุสูงกว่ารถบัสชั้นเดียว ถึง 6 เท่า” ส่วนอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถบัสสองชั้นนั้น ก็สูงกว่าอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถบัสชั้นเดียวถึง 6 เท่าเช่นเดียวกัน หรือ “การเดินทางด้วยรถบัสสองชั้น มีความเสี่ยงในการเสียชีวิตมากกว่าการโดยสารรถบัสชั้นเดียวถึง 6 เท่า” ถ้าเปรียบเทียบตัวเลขในลักษณะนี้แล้ว ก็จะเห็นได้ว่าปัจจัยของการเกิดอุบัติเหตุนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับผู้ขับขี่เพียงอย่างเดียว ตัวยานพาหนะเองก็น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ไม่เช่นนั้นทำไมอัตราการเกิดอุบัติเหตุของรถบัสสองชั้นถึงสูงกว่ารถบัสชั้นเดียวมากขนาดนี้
ตัวเลขข้างต้นนี้ แสดงให้เห็นถึงข้อเท็จจริงที่ชัดเจนแล้วว่า รถบัสสองชั้น มีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุและทำให้ผู้โดยสารเสียชีวิตมากกว่ารถบัสชั้นเดียว และถ้าจะอธิบายปัญหาของตัวรถบัสสองชั้นตามหลักการทางด้านวิศวกรรม ก็มีดังนี้
1) ปัญหาการพลิกคว่ำของรถบัสสองชั้น ที่มีโอกาสเกิดได้บ่อยกว่ารถบัสชั้นเดียว ไม่ว่าจะเป็นการพลิกคว่ำบนถนนหรือพลิกคว่ำข้างทาง โดยปัจจัยหลักที่เกี่ยวข้องคือตำแหน่งของจุดศูนย์ถ่วงที่อยู่สูงกว่ารถบัสชั้นเดียวทั่วไป เนื่องจากมิติของตัวรถบัสสองชั้นและน้ำหนักของผู้โดยสารและสัมภาระด้านบน
2) ปัญหาความแข็งแรงของรถบัสสองชั้น ที่ส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 80 เป็นรถที่ประกอบขึ้นจากการนำคัสซีเก่ามาซ่อมแซมและดัดแปลงเป็นตัวถังรถใหม่ เพื่อลดต้นทุนในการนำเข้ารถใหม่จากต่างประเทศที่มีราคาสูงกว่าเท่าตัว ไม่มีการคำนึงถึงมาตรฐานของความปลอดภัย ทำให้เมื่อเกิดอุบัติเหตุ สภาพตัวรถจะบิดเบี้ยว หลังคาเปิด เบาะหลุดกระจัดกระจาย และผู้โดยสารกระเด็นไปคนละทิศคนละทาง
3) นอกจากนี้ยังมีปัญหาอื่นๆ ที่รถบัสชั้นเดียวก็ประสบเช่นเดียวกัน ได้แก่ ปัญหาระบบเบรกลม ที่มักจะขัดข้องหรือหยุดทำงานขณะรถวิ่งลงเนินเขาเป็นระยะทางยาว ปัญหาการยึดเบาะที่นั่ง และปัญหาการไม่ติดตั้งเข็มขัดนิรภัยหรือติดตั้งแล้วแต่ผู้โดยสารไม่คาดเข็มขัดนิรภัย
แต่สาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุรถบัสสองชั้น น่าจะเป็นที่มิติของตัวรถ หรือความสูงของตัวรถบัสสองชั้น โดยเมื่อประกอบกับความเร็วในการขับขี่ และสภาพถนนที่เป็นทางโค้งจะทำให้รถบัสสองชั้นเกิดอุบัติเหตุเสียหลักหรือพลิกคว่ำได้ง่าย นี่จึงเป็นที่มาของประกาศกรมการขนส่งทางบกที่กำหนดให้รถบัสที่มีความสูงตั้งแต่ 3.6 ม.ขึ้นไปต้องผ่านการทดสอบพื้นเอียง 30 องศา โดยกำหนดให้รถบัสที่จดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม.2556 ต้องนำรถเข้ามาผ่านการทดสอบพื้นเอียง ส่วนรถบัสที่จดทะเบียนก่อนวันที่ 1 มกราคม 2556 ก็ต้องทยอยนำรถเข้ามาทดสอบพื้นเอียงเช่นกัน แต่เมื่อปลายปีที่แล้ว กรมการขนส่งทางบกอนุโลมให้กลุ่มรถบัสสูงกว่า 3.6 ม.ที่จดทะเบียนก่อน วันที่ 1 มกราคม 2556 ยังไม่ต้องนำรถมาทดสอบพื้นเอียง แต่จะต้องนำรถไปติด GPS และเมื่อถึงรอบที่รถบัสมีการเปลี่ยนตัวถัง ก่อนที่จะขอจดทะเบียนก็ต้องมาทดสอบพื้นเอียงก่อนเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ตัวถังจะมีอายุประมาณ 5-7 ปี นั่นก็หมายความว่า รถบัสรุ่นเก่าที่จดทะเบียนก่อน วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2556 ยังไงก็ต้องมาทดสอบพื้นเอียงอยู่ดี
ดังนั้น การลดปัญหาอุบัติเหตุจากรถโดยสารสองชั้น จึงควรให้มีการจำกัดการใช้งานและควบคุมจำนวนรถบัสสองชั้นมากกว่า โดยในระยะสั้นควรจำกัดเส้นทางการเดินรถของรถบัสสองชั้นในเส้นทางที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดอุบัติเหตุรุนแรง ได้แก่ เส้นทางบริเวณทางเขาที่มีทางโค้งและทางลาดชัน ส่วนในระยะยาว ควรมีมาตรการเข้มข้นในการจัดหารถโดยสารใหม่ไม่ว่าจะเป็นของภาครัฐหรือภาคเอกชน โดยควรสนับสนุนให้จัดซื้อเฉพาะรถบัสชั้นเดียว ในขณะเดียวกันการต่อทะเบียนรถบัสสองชั้นที่มีอยู่เดิมก็จะมีกฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้น ดังนั้น วิธีการนี้จะควบคุมปริมาณรถบัสสองชั้นให้น้อยลงเรื่อยๆ แบบค่อยเป็นค่อยไป จนกระทั่งรถบัสสองชั้นนั้นหายไปในที่สุด