กรมทางหลวง(ทล.)ขยาย 4 ช่องจราจร ทล.229 มัญจาคีรี-แยกช่องสามหมอ จ.ขอนแก่น ระยะทาง 26.335 กม.วงเงินงบประมาณ 1,129,429,778.94 บาท แล้วเสร็จ เชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมขนส่งกับภูมิภาคอื่น ๆ สะดวก รวดเร็ว และมีความปลอดภัย พร้อมกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวภาคอีสาน
นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กรมทางหลวง (ทล.) โดยสำนักก่อสร้างทางหลวงที่ 2 ได้ก่อสร้าง ทล.229 สาย อำเภอมัญจาคีรี – แยกช่องสามหมอ จังหวัดขอนแก่น เป็น 4 ช่องจราจร ระยะทาง 26.335 กิโลเมตร แล้วเสร็จ เพื่อรองรับปริมาณการจราจรในอนาคต เพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายการคมนาคมขนส่งของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ทล.229 สาย อำเภอมัญจาคีรี – แยกช่องสามหมอ เป็นทางหลวงสายสำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประชาชนนิยมใช้ในการสัญจรระหว่างจังหวัดขอนแก่นและจังหวัดชัยภูมิ รวมทั้งเป็นเส้นทางเลี่ยงรถติดช่วงเทศกาลและวันหยุดยาว ประกอบกับการดำเนินการตามนโยบายกระทรวงคมนาคมในการเชื่อมต่อโครงข่ายการคมนาคมขนส่งทุกโหมดการเดินทางได้อย่างไร้รอยต่อ เพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายการคมนาคมขนส่งของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงได้ก่อสร้างขยายคันทางโดยขยายช่องจราจรจากเดิมขนาด 2 ช่องจราจร ให้เป็นขนาด 4 ช่องจราจร เพื่อรองรับปริมาณการจราจรเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทล. จึงได้ดำเนินการโครงการก่อสร้าง ทล.229 สาย อำเภอมัญจาคีรี – แยกช่องสามหมอ พื้นที่ อำเภอมัญจาคีรี และอำเภอโคกโพธิ์ไชย จังหวัดขอนแก่น ตามแผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ โครงการก่อสร้างโครงข่ายทางหลวงแผ่นดิน กิจกรรมเร่งรัดขยายทางสายประธานให้เป็น 4 ช่องจราจร รวมระยะทางทั้งหมด 26.335 กิโลเมตร แบ่งการก่อสร้างเป็น 4 ช่วง โดยมีจุดเริ่มต้นช่วงที่ 1 บริเวณ กม.17+625 – 19+559 ช่วงที่ 2 กม.26+300 – 37+875 ช่วงที่ 3 กม.39+650 – 41+075 และช่วงที่ 4 กม.43+220 – 54+621 โดยก่อสร้างเป็นมาตรฐานทางชั้นพิเศษขนาด 4 ช่องจราจร (ไป – กลับ) ผิวทางแอสฟัลม์ติกคอนกรีต ช่องจราจรกว้างช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางด้านนอกกว้าง 2.50 เมตร แบ่งทิศทางการจราจรด้วยเกาะกลางแบบแบริเออร์คอนกรีตและเกาะกลางแบบยก รวมทั้งก่อสร้างสะพานคอนกรีต จำนวน 6 แห่ง ก่อสร้างจุดกลับรถ จำนวน 11 แห่ง ก่อสร้างศาลาทางหลวง จำนวน 14 แห่ง พร้อมงานติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างเพื่อความสะดวกและความปลอดภัยของผู้ใช้ทาง วงเงินงบประมาณ 1,129,429,778.94 บาท
ปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จ ประชาชนสามารถใช้บริการสัญจรเรียบร้อยแล้ว สามารถรองรับปริมาณการจราจรที่เพิ่มมากขึ้น เชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมขนส่งกับภูมิภาคอื่น ๆ ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และมีความปลอดภัย ช่วยลดต้นทุนทางด้านการคมนาคมขนส่ง ส่งเสริมการท่องเที่ยว ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน รองรับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ และเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน