เหลียวหลังแลหน้า!127 ปีการรถไฟฯ…ม้าเหล็กไทยไม่เหมือนเดิม

0
156

เมื่อ 127 ปีที่แล้ว ซึ่งตรงกับวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2439 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปประกอบพระราชพิธีเปิดการเดินรถไฟหลวงสายแรกในพระราชอาณาจักรคือสายนครราชสีมา ซึ่งขณะนั้นสร้างเสร็จตอนหนึ่งระหว่างสถานีกรุงเทพถึงอยุธยา ถือได้ว่ากิจการรถไฟหลวงของไทยได้ถือกำเนิดตั้งแต่บัดนั้น และการรถไฟฯ ได้ถือเอาวันที่ 26 มีนาคมเป็น วันสถาปนากิจการรถไฟของไทย

ในปัจจุบัน “ระบบราง” ถือเป็นระบบการขนส่งที่สำคัญของไทย ทั้งในภาคการขนส่งผู้โดยสาร และการขนส่งสินค้า สอดรับกับนโยบายของรัฐบาล ที่ได้ผลักดันให้การขนส่งทางรางให้เป็นการขนส่งหลักของประเทศ โดยมีเป้าหมายในการลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ ซึ่งนับเป็นกระดูกสันหลังใหญ่ของภาคเศรษฐกิจที่มีทิศทางการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค อีกทั้งช่วยเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันกับนานาประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ “การรถไฟแห่งประเทศไทย” (รฟท.) ก็นับเป็นอีกหนึ่งองค์กรที่สำคัญของไทย เป็นฟันเฟืองและหน่วยงานหลักในการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางของไทย เห็นได้จาก “พันธกิจ” ที่ระบุไว้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะการเป็นองค์กรที่สร้างรายได้และการเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านการพัฒนาระบบการขนส่งให้มีประสิทธิภาพและลดต้นทุนการขนส่งของประเทศ ที่สำคัญ คือ เป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางรางของประเทศด้วยบริการที่มีคุณภาพ ครบวงจร ทันสมัย พร้อมทั้งเป็นองค์กรที่มีธรรมาภิบาล ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย พัฒนาศักยภาพบุคลากรอย่างต่อเนื่อง และสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับพนักงาน

ทั้งนี้ ภายใต้การบริหารงานของ นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ในช่วงระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา การรถไฟฯ ได้ดำเนินโครงการที่สำคัญมากมาย ทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบรางมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนการเดินทาง และการขนส่งสินค้า ตลอดจนกิจกรรมเพื่อสังคม ล้วนสร้างประโยชน์อย่างมากมาย ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีแผนในการพัฒนาอย่างต่อเนื่องด้วย

เริ่มต้นด้วยการเปิดให้บริการ “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” ซึ่งเป็นศูนย์กลางการคมนาคม และการขนส่งทางรางของประเทศ และเป็นสถานีรถไฟที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน รวมถึงเป็นศูนย์กลางการคมนาคมแห่งใหม่เทียบเท่าสถานีรถไฟชั้นนำของโลกอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา พร้อมกับมีการปรับเปลี่ยนสถานีต้นทาง ปลายทาง ของขบวนรถไฟทางไกล สายเหนือ ใต้ อีสาน ทั้งขบวนรถด่วนพิเศษ รถด่วน รถเร็ว จำนวน 52 ขบวน มาที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ แต่ขณะเดียวกันยังคงอนุรักษ์สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) และเปิดให้บริการควบคู่กันตามปกติ สำหรับให้บริการขบวนรถท้องถิ่น ขบวนรถชานเมือง ขบวนรถท่องเที่ยว

ต่อด้วยการเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการรถไฟทางคู่และรถไฟสายใหม่ ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคมให้สำเร็จตามแผน ในส่วนเส้นทางรถไฟทางคู่ระยะที่ 1 ขณะนี้สามารถเปิดใช้งานทางคู่ในช่วงแรกได้แล้วหลายเส้นทาง ได้แก่ โครงการช่วงชุมทางฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย  โครงการช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ขณะที่เส้นทางรถไฟทางคู่สายใต้ ก็สามารถเปิดให้บริการได้ตามแผนเช่นกัน โดยเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ได้เปิดให้บริการระหว่างสถานีบ้านคูบัว จ.ราชบุรี ถึงสถานีสะพลี จ.ชุมพร รวมระยะทาง 348 กิโลเมตร ส่วนช่วงที่ 2 ของสายใต้ระหว่างสถานีสะพลี-ด้านเหนือสถานีชุมพร ตามแผนการจะเปิดใช้ทางคู่ประมาณช่วงเดือนเมษายน 2567 จากนั้นจะทยอยเปิดใช้งานช่วงนครปฐม-บ้านคูบัว ประมาณเดือนมิถุนายน 2567 นอกจากนี้ ในช่วงปลายปี 2567 จะเปิดให้บริการรถไฟทางคู่สายตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ช่วงบันไดม้า-คลองขนานจิตร อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ระยะทาง 29.70 กิโลเมตร ที่การก่อสร้างงานโยธาแล้วเสร็จ

ขณะเดียวกัน การรถไฟฯ ยังเดินหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใหม่ 2 เส้นทาง ได้แก่ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ซึ่งปัจจุบัน ภาพรวมความก้าวหน้า ร้อยละ 6.695 และการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม สัญญา 1 บ้านไผ่ – หนองพอก ความก้าวหน้าโครงการ ร้อยละ 5.065 สัญญา 2 หนองพอก – สะพานมิตรภาพ 3 ความก้าวหน้าโครงการ ร้อยละ 7.897 ไม่เพียงเท่านี้ การรถไฟฯ ยังเดินหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 เพิ่มเติมอีก 7 สายทาง ได้แก่ ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย, ช่วงขอนแก่น-หนองคาย, ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี, ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี, ช่วงสุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา และช่วงชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ที่คณะกรรมการรถไฟฯ ได้อนุมัติและส่งเรื่องไปยังกระทรวงคมนาคมเพื่อขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรีต่อไป ส่วนโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ อยู่ระหว่างการจัดทำข้อมูล เพื่อเสนอขออนุมัติโครงการฯ

ส่วนการดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย – จีน  ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ถึงสถานีปลายทางนครราชสีมา ระยะทางรวม 250.77 กิโลเมตร มีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง มีผลงานรวมอยู่ที่ ร้อยละ 32 ในส่วนของการก่อสร้างงานโยธา มี 14 สัญญา ได้ก่อสร้างเสร็จสิ้นแล้ว 2 สัญญาอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 10 สัญญา และยังไม่ลงนาม 2 สัญญา นอกจากนี้ยังมีสัญญางานระบบฯ 1 สัญญา อยู่ระหว่างการออกแบบและจัดหาวัสดุอุปกรณ์ตามสัญญา คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ ภายในปี 2571

รวมถึงการเสริมทัพของหัวรถจักรดีเซลไฟฟ้า 50 คัน  (Diesel Electric Locomotive) มาใช้งาน โดยถือเป็นรถจักรดีเซลไฟฟ้ารุ่นใหม่ที่มีคุณภาพสูง ซึ่งนำมาใช้ทดแทนหัวรถจักรเดิมที่มีอายุการใช้งานมานาน สามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารและการขนส่งสินค้าทั่วประเทศ ปัจจุบันได้เปิดให้บริการเดินขบวนรถทางไกลในเส้นทางต่างๆ ทั่วประเทศ ช่วยให้การรถไฟฯ มีรถจักรเพียงพอต่อการให้บริการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าได้มากขึ้นสามารถเดินขบวนรถได้ตรงตามกำหนดเวลา รองรับโครงการรถไฟทางคู่ที่ทยอยเปิดใช้งาน

ริเริ่มพัฒนารถไฟระบบ EV on Train จนสามารถดำเนินการเริ่มทดสอบรถจักรพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่เป็นรถต้นแบบคันแรก เพื่อใช้ในระบบสับเปลี่ยนขบวน (Shunting) เป็นไปตามนโยบายขับเคลื่อนการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะด้วยการนำเทคโนโลยียานยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (EV) แทนที่ยานยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของกระทรวงคมนาคม เพื่อส่งเสริมพลังงานสะอาด ลดมลพิษในด้านต่าง ๆ

นอกจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบรางแล้ว การรถไฟฯ ยังได้เดินหน้าดำเนินการพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการในด้านต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางสูงสุดแก่พี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่อง ตามนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงคมนาคม Quick Win “คมนาคม เพื่อความอุดมสุขของประชาชน” ของนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม โดยการขับเคลื่อนภารกิจให้ขบวนรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน ปรับลดค่าโดยสารรถไฟชานเมืองสายสีแดงสูงสุดไม่เกิน 20 บาท หรือ 20 บาทตลอดสาย และปรับลดค่าบริการจอดรถชั้นใต้ดินสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เพื่อลดรายจ่ายและค่าครองชีพให้แก่ประชาชน รวมถึงกระตุ้นให้มีผู้โดยสารหันมาใช้บริการมากขึ้น 

ไม่หยุดเพียงเท่านี้ การรถไฟฯ ได้ขยายเวลาเปิดให้บริการจองตั๋วโดยสารล่วงหน้าสูงสุด 90 วัน ในขบวนรถด่วนพิเศษและขบวนรถด่วน จำนวน 32 ขบวน ให้ผู้โดยสารสามารถวางแผนการเดินทางได้สะดวกยิ่งขึ้น สามารถจองและซื้อตั๋วโดยสาร ได้จาก 3 ช่องทาง ได้แก่ ช่องทางจำหน่ายผ่านระบบออนไลน์ D-Ticket : https://www.dticket.railway.co.th ช่องทางจำหน่ายตั๋วผ่านสถานีรถไฟทุกแห่งทั่วประเทศ และช่องทาง Call Center การรถไฟแห่งประเทศไทย 1690 ขณะเดียวกัน ยังมีระบบ TTS (Train Tracking System) : https://ttsview.railway.co.th  ที่สามารถตรวจสอบเวลา และตำแหน่ง ขบวนรถทุกขบวน โดยระบบจะแสดงสถานะการเดินรถให้ทราบทันที ซึ่งจะทำให้ผู้โดยสาร และผู้ที่มารอรับที่ปลายทาง สามารถวางแผนการเดินเดินทางได้สะดวกยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการยกระดับมาตรฐานด้านความสะดวกและความปลอดภัย ช่วยสร้างความมั่นใจในการเดินทางแก่ผู้โดยสารตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง

การรถไฟฯ ยังได้ร่วมกับ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) บูรณาการโครงข่ายคมนาคมเชื่อมต่อการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ โดยได้นำรถบัสโดยสารเฉพาะของ บขส. (ไม่รวมรถร่วมบริการและรถตู้โดยสาร) เข้ามาจอดส่งผู้โดยสารขาเข้าบริเวณประตูที่ 3 ของสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ช่วยเพิ่มทางเลือกการเดินทางที่สะดวกอย่างไร้รอยต่อให้กับประชาชน

การดูแลทางด้านสังคม การรถไฟฯ ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ออกหน่วยแพทย์เฉพาะทางเคลื่อนที่ นำคุณหมอผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่มีชื่อเสียงของประเทศไปทำการตรวจ รักษา และดูแลพี่น้องคนรถไฟและพี่น้องประชาชนบริเวณใกล้เคียงด้วยการลงพื้นที่ และรักษาอย่างต่อเนื่องผ่านระบบ Tele Med  หรือ VDO Conference

ในด้านของเยาวชน การรถไฟฯ ร่วมกับมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ นำน้องๆ ผู้พิการทางสายตาไปทัศนศึกษานอกสถานที่ การจัดโครงการนำเยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ทัศนศึกษาทางรถไฟ การสนับสนุนโครงการสานใจไทยสู่ใจใต้โดยสนับสนุนตู้โดยสารในการเดินทางไปทำกิจกรรมต่างๆ และร่วมกับสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ นำคณะนักเรียนผู้พิการและด้อยโอกาสนั่งรถไฟไปศึกษาประวัติศาสตร์ ผ่านแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญในเส้นทางต่าง ๆ อาทิ กรุงเทพ – กาญจนบุรี กรุงเทพ – ฉะเชิงเทราให้เรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทย รวมถึง การจัดกิจกรรมมวลชนสัมพันธ์ กับพี่น้องประชาชนในหลายพื้นที่ในสามจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างชุมชนกับการรถไฟฯ ให้สามารถดำเนินชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

ตัวอย่างที่กล่าวมานี้จะเห็นว่า การรถไฟฯ มุ่งมั่นในการยกระดับพัฒนาการทำงาน และการให้บริการ ให้เท่าทันต่อความเปลี่ยนแปลงของบริบทแวดล้อมภายนอก ตลอดจนเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับผู้เกี่ยวข้อง หรือ Stakeholders ทั้งหมด ตามวิสัยทัศน์ขององค์กร กล่าวโดยสรุป ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา  ภารกิจของการรถไฟฯ สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีตามแผนงานที่กำหนดไว้หลายด้าน จนทำให้องค์กรมีการพัฒนา ก้าวหน้าแบบต่อเนื่องอย่างเห็นผลเป็นรูปธรรม

ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การรถไฟฯ ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการทำหน้าที่สนับสนุนภารกิจต่างๆ ของกระทรวงสาธารณสุข ในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ของโรคโควิด-19 เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในหมู่ประชาชน บุคลากรด่านหน้าในการให้บริการสาธารณสุข รวมถึงพนักงานการรถไฟฯ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน โดยการสนับสนุนพื้นที่ภายในสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ตั้งเป็นศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ เริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2564 จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2565 เป็นเวลาทั้งสิ้น 477 วันที่ให้บริการฉีดวัคซีน จำนวนกว่า 6 ล้านโดส ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงคมนาคม และกระทรวงสาธารณสุข

การส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยผลักดันให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือระหว่างการรถไฟฯ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน  ในการเปิดมุมมองใหม่ของการท่องเที่ยวทางรถไฟ โดยใช้รถ KIHA 183 มาให้บริการท่องเที่ยวแบบครบวงจร ขณะที่การก้าวสู่ความทันสมัยก็เห็นผลเป็นรูปธรรม โดยมุ่งมั่นในการยกระดับพัฒนาการทำงาน และการให้บริการ ให้เท่าทันต่อความเปลี่ยนแปลงของบริบทแวดล้อมภายนอก ตลอดจนเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับผู้เกี่ยวข้อง ตามวิสัยทัศน์ขององค์กร “เป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์มการเชื่อมต่อและการขนส่งที่มุ่งตอบสนองความต้องการของผู้มีส่วนได้เสีย”