“กรมชลฯ” พร้อมดัน 3 โครงการเร่งด่วน ช่วยเหลือ ปชช. รับมือภัยแล้งและน้ำท่วมในลุ่มน้ำชี

0
80

“กรมชลประทาน” ลงพื้นที่เตรียมความพร้อมแก้ปัญหาภัยแล้ง ชี้แนวทางบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำชี พร้อมเสนอแผนหลักการพัฒนาอาคารบังคับน้ำในลำน้ำชี ในเขตจังหวัดชัยภูมิ-ขอนแก่น-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด ชู 3 โครงการเร่งด่วน “ประตูระบายน้ำบ้านท่าสวรรค์-ประตูระบายน้ำบ้านโนนเขวา-ประตูระบายน้ำบ้านท่าสองคอน” มุ่งแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค และภาคการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง และรับมือน้ำท่วม บรรเทาปัญหาในพื้นที่ 7 จังหวัดลุ่มน้ำชี ยกระดับความเป็นอยู่แบบยั่งยืน เมื่อเร็วๆ นี้

นายวิทยา แก้วมี รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้นำคณะผู้บริหารและสื่อมวลชนลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดมหาสารคาม เพื่อติดตามสถานการณ์การบริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มน้ำชี เน้นเตรียมความพร้อมรับมือภัยแล้งในพื้นที่ลำน้ำชี เนื่องจากลำน้ำชีเป็นลำน้ำที่ไหลผ่านหลายจังหวัด ความยาวมากกว่า 1,000 กิโลเมตร ซึ่งจังหวัดเหล่านี้ถือเป็นพื้นที่เศรษฐกิจของภาคอีสาน ได้แก่ จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดขอนแก่น จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดยโสธร จนไหลไปบรรจบแม่น้ำมูลที่จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งหลาย ๆ พื้นที่ถูกระบุว่าเป็นพื้นที่แล้งซ้ำซาก ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรต่ำกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจของภาคอีสาน นอกจากภัยแล้งแล้ว พื้นที่ที่อยู่ติดลำน้ำชีซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำก็ยังประสบปัญหาอุทกภัยเป็นประจำทุกปี เป็นสภาวะที่มีทั้งน้ำหลากและน้ำท่วมขังที่ทำให้พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย บางพื้นที่ไม่สามารถทำนาปีได้ เกษตรกรก็หวังจะทำนาปรังชดเชย แต่พอถึงฤดูแล้งปริมาณน้ำชีก็น้อยจนไม่สามารถสูบขึ้นมาใช้ได้ กรมฯจึงให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ลำน้ำชี

“หากย้อนไปดูการพัฒนาโครงการด้านแหล่งน้ำที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า มีแหล่งเก็บกักน้ำที่ก่อสร้างแล้ว เช่น เขื่อนอุบลรัตน์ ที่จังหวัดขอนแก่น เขื่อนลำปาว ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนลำปะทาว เขื่อนลำคันฉู ที่จังหวัดชัยภูมิ รวมกับอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กสามารถเก็บกักน้ำไว้ได้เพียงประมาณ 5,068 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 45 ของปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยรายปีเท่านั้น จึงมีแผนที่จะพัฒนาหาที่เก็บน้ำเพิ่มเติมอีก ปัจจุบันมีทั้งอยู่ในแผนงานก่อสร้างและที่กำลังก่อสร้าง เช่น อ่างเก็บน้ำลำเจียง อ่างเก็บน้ำลำสะพุง อ่างเก็บน้ำลำชี เป็นต้น ซึ่งหากพัฒนาได้ทั้งหมดก็สามารถมีน้ำเก็บกักเพิ่มเติมได้อีกประมาณ 150-200 ล้านลูกบาศก์เมตร กรมชลประทานจึงมีนโยบายที่จะหาแหล่งเก็บกักน้ำเพิ่มเติม โดยการใช้ลำน้ำชีเป็นแหล่งเก็บกักน้ำก็คาดว่าจะได้น้ำเก็บกักเพิ่มเติมอีกประมาณ 100-150 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงเป็นที่มาของโครงการที่กรมชลประทานกำลังดำเนินการศึกษาแผนหลักและความเหมาะสมรวมถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อมอาคารบังคับน้ำในลำน้ำชี”

“แนวคิดของกรมชลประทานเมื่อพิจารณาลำน้ำชี ปัจจุบันมีอาคารที่ก่อสร้างตามลำน้ำประมาณ 10 แห่ง อาคารที่สำคัญ ได้แก่ เขื่อนชนบท เขื่อนมหาสารคาม เขื่อนวังยาง เขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร และเขื่อนธาตุน้อย ที่อยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ก่อนที่น้ำชีจะไหลลงสู่แม่น้ำมูล จะเห็นว่าช่วงห่างของอาคารค่อนข้างมีระยะทางมาก จึงเกิดปัญหาช่องว่างที่มีน้ำน้อยมาก หรือไม่มีเลยในลำน้ำที่เราเรียกว่า “ช่วงฟันหลอ” ทำให้เกษตรกรไม่สามารถสูบน้ำขึ้นมาใช้ได้ในช่วงฤดูแล้ง จึงทำการศึกษาว่ามีช่วงไหนของลำน้ำที่จะต้องสร้างอาคารบังคับน้ำเพิ่มเติม เป็นผลให้มีการศึกษาแผนหลักการพัฒนาอาคารบังคับน้ำในลำน้ำชีขึ้น” นายวิทยา กล่าว

สำหรับการพัฒนาอาคารบังคับใช้น้ำในลำน้ำชี และโครงการพัฒนาอื่นๆ ที่มีโครงข่ายเชื่อมโยงกัน ตั้งแต่อ่างเก็บน้ำลำน้ำชี จนถึงเขื่อนยโสธร-พนมไพร ในพื้นที่ 7 จังหวัด 32 อำเภอ 111 ตำบล ได้แก่ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ นครราชสีมา มหาสารคาม ยโสธร และร้อยเอ็ด โดยกรมชลประทาน ได้ทำการศึกษาจัดทำแผนหลักในการพัฒนาอาคารบังคับน้ำในลำน้ำชีเพิ่มเติม จำนวน 9 โครงการ โดยนำมาจัดลำดับความสำคัญและคัดเลือก 3 โครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ได้แก่

1. โครงการประตูระบายน้ำบ้านท่าสวรรค์ ความจุเก็บกัก 19.473 ล้าน ลบ.ม. ลักษณะเป็นประตูระบายน้ำ ความกว้าง 12.50 เมตร สูง 13 เมตร จำนวน 6 ช่อง ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลท่าศาลา อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น

2. โครงการประตูระบายน้ำบ้านโนนเขวา ความจุเก็บกัก 7.112 ล้าน ลบ.ม. ลักษณะเป็นประตูระบายน้ำ ความกว้าง 10 เมตร สูง 9 เมตร จำนวน 6 ช่อง ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลท่านางแนว อำเภอแวงน้อย จังหวัดขอนแก่น

3. โครงการประตูระบายน้ำบ้านท่าสองคอน ความจุเก็บกัก 14.050 ล้าน ลบ.ม. ลักษณะเป็นประตูระบายน้ำ ความกว้าง 12.50 เมตร สูง 8 เมตร จำนวน 7 ช่อง ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลท่าสองคอน อำเภอเมืองมหาสารคราม จังหวัดมหาสารคาม

อย่างไรก็ตาม หลังลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลำน้ำชีแล้ว กรมชลประทานจะเร่งดำเนินการศึกษาจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ ควบคู่กับการสำรวจและออกแบบเบื้องต้น เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยรวมทั้งความต้องการของประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียง

นอกจากนี้ กรมชลประทานเผยต่อสื่อมวลชนถึงการปฏิบัติงานผ่าน Smart Water Operation Center ซึ่งเรียกห้องนี้ว่า ห้อง SWOC ใช้สำหรับการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำชีและลำน้ำมูลที่เชื่อมโยงกันอยู่ ข้อมูลทั้งหมดจะถูกเชื่อมโยง
ไปที่ศูนย์ใหญ่ที่กรมชลประทานสามเสน เพื่อยืนยันให้พี่น้องประชาชน ทั้งในพื้นที่ลุ่มน้ำชีและประชาชนทั่วไปให้เกิดความมั่นใจในสิ่งที่กรมชลประทาน พยายามแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างเต็มความสามารถ