แม้รัฐบาลและกระทรวงพลังงาน จะ “ติดเบรก” การปรับขึ้นราคาพลังงาน โดยเฉพาะในส่วนของค่าเอฟที (FT) ที่ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติจะให้มีการปรับขึ้นไปถึงยูนิตละ 4.68 บาท ทั้งที่รัฐบาลและพลังงานเพิ่งจะปรับลดค่า FT ลงไปไม่ถึงขวบเดือน
ด้วยข้ออ้างเพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนพลังงาน ต้นทุนเชื้อเพลิงและส่วนหนึ่งเพื่อนำเม็ดเงินที่ได้ไปชดเชยหนี้กว่า 120,000 ล้าน ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ (กฟผ.) ต้องแบกรับแทนประชาชน ทำเอาประชาชนคนไทยที่กำลังสำลักความสุขที่รัฐบาล นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ประเคนให้ไปก่อนหน้าต่างช็อคตาตั้ง
จนนายกฯ ต้องออกโรงว่ารับไม่ได้ ก่อนที่จะมอบหมายให้กระทรวงพลังงานไปเร่งหามาตรการบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และนำมาซึ่งมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 66 ที่ผ่านมา ที่เห็นชอบมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ ประกอบด้วย
1. ตรึงราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2567 โดยกระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลังจะร่วมกันบริหารจัดการราคาขายปลีก โดยใช้กลไกของภาษีสรรพสามิตและกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
2. ตรึงราคาขายปลีก LPG ที่ระดับ 423 บาทต่อถัง (15 กิโลกรัม) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2567 โดยกระทรวงพลังงานบริหารผ่านกลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
3. ให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) พิจารณาดำเนินการตรึงอัตราค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บกับผู้ใช้ไฟฟ้ารอบเดือนมกราคม 2567 ถึงเดือนเมษายน 2567 ในอัตราไม่เกิน 4.20 บาทต่อหน่วยต่อไป
4. ช่วยเหลือค่าไฟฟ้าของกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางที่ 3.99 บาทต่อหน่วยซึ่งจะเป็นการลดเป็นเวลา 4 เดือน ครอบคลุมรอบบิล มกราคม – เมษายน 2567 โดยคาดว่า จะมีกลุ่มเปราะบางที่ได้รับการช่วยเหลือจากมาตรการรวมทั้งสิ้นประมาณ 17.77 ล้านราย โดยรัฐจะใช้งบประมาณทั้งสิ้นประมาณ 487.50 ล้านบาทต่อเดือน (รวมประมาณ 1,950 ล้านบาท)
ผลพวงจากการที่รัฐบาลและกระทรวงพลังงานต้องใช้ความพยายามอย่างยิ่งยวดในการตรึงราคาพลังงาน โดยเฉพาะค่า FT ข้างต้น ยิ่งเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นในการปรับโครงสร้างราคาพลังงานที่ยังคงต้องมีอยู่ต่อไป และเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต่างฝากความหวังไว้ที่ รมต.กระทรวงพลังงาน ผู้นี้
*3 เดือน กฟผ. ไร้ทั้งบอร์ด-ฝ่ายบริหาร
สำหรับ “เนตรทิพย์” แล้ว เรายังคงจุดยืน ทุกครั้งที่มีการพูดถึงการปรับขึ้นค่า FT ที่ประชาชนต้องถูกมัดมือชก เป็นต้องมีการหยิบยกเอากำรี้กำไรของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนทั้งหลายแหล่ออกมาเป็นมูลเหตุหลักหนึ่งที่ทำให้ประชาชนจ่ายค่าไฟแพง
ทั้งที่ หากทุกฝ่ายจะได้ผ่าโครงสร้างการจัดหาไฟฟ้าไปสู่บ้านเรือนประชาชนนั้น แม้รัฐบาลและการไฟฟ้าฯ (กฟผ.) จะเปิดให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้าตามนโยบายแปรรูป แต่ก็หาได้เปิดทางให้ภาคเอกชนจำหน่ายไฟตรงสู่ครัวเรือนประชาชนหรือภาคอุตสาหกรรม
ไฟฟ้าทุกหน่วยผลิตที่ได้ รวมทั้งที่ประเทศไทยต้องนำเข้าจากเพื่อนบ้าน สปป.ลาว ล้วนถูกบังคับให้จำหน่ายผ่านระบบสายส่งของ กฟผ. แต่เพียงผู้เดียว ก่อนที่จะถูกส่งผ่านไปยัง 2 การไฟฟ้า คือ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) จึงทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าที่กว่าจะถูกส่งไปถึงมือประชาชนผู้บริโภคนั้นถูกบวกกำรี้กำไรไปไม่รู้กี่ต่อ
แน่นอนว่า หากทั้ง 3 การไฟฟ้าออกมา “ยืนยัน นั่งยัน” ต่อสาธารณชนว่า เป็นรัฐวิสาหกิจและกลไกเครื่องมือของรัฐที่ทำหน้าที่ดูแลด้านความมั่นคงด้านพลังงาน ไม่เคยเอาเปรียบประชาขนผู้บริโภคผู้ใช้ไฟใด ๆ แม้แต่น้อย ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ โม่แป้งเอง หรือที่รับซื้อจากไฟฟ้าเอกชนทั้งหลาย ทั้ง IPP SPP VSPP หรือที่ต้องนำเข้าจากเพื่อนบ้าน สปป.ลาว ล้วนถูกส่งผ่านไปยัง 2 การไฟฟ้า กฟน.-กฟภ. และประชาชน โดยที่ 3 การไฟฟ้าต้องแบกรับภาระแทนประชาชนอย่างที่ กฟผ. กำลังป่าวประกาศอยู่เวลานี้ ก็เป็นเรื่องสมควรที่รัฐบาลและกระทรวงพลังงานควรให้ความเป็นธรรม ไม่ควรให้รัฐวิสาหกิจเหล่านี้ต้องแบกรับภาระอย่างที่เห็น
แต่ในข้อเท็จจริงนั้น หากทุกฝ่ายจะได้ย้อนรอยไปพิจารณารายงานงบการเงินของ 3 การไฟฟ้า อันได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในรอบปี 65 ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า 3 การไฟฟ้านั้น มีกำไรจากการประกอบการรวมกันกว่า 67,828 ล้านบาท
โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ มีรายได้ 794,894 ล้านบาท มีกำไร 45,387 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่มีกำไรจากการดำเนินงาน 30,682 ล้านบาท ขณะที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) มีรายได้ 593,217 ล้าน มีกำไร 12,465.95 ล้านบาท และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ที่แสดงงบการเงินมาถึงปี 65 มีรายได้ 223,994 ล้านบาท กำไร 9,976 ล้านบาท
ขณะที่ผลการดำเนินงานในปีงบ 2566 ที่ผ่านไป 2 ไตรมาสนั้น กฟผ. มีกำไรจากการดำเนินงานเบื้องต้นไปกว่า 43,009 ล้านบาท และมีกำไรจากการดำเนินงานรวม 2 ไตรมาส 29,117 ล้านบาท มากกว่าระยะเดียวกันของปีก่อนที่มี 27,916 ล้านบาท ทั้ง กฟผ. ยังมีกำไรสะสม ณ สิ้นปี 2565 อีกกว่า 475,545 ล้านบาท
อันเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นว่า ขนาดคน กฟผ. ออกมาโอดครวญว่า ถูกรัฐบาลและกระทรวงพลังงาน “บอนไซ” รายวัน เปิดทางให้บริษัทเอกชนเข้ามาผลิตไฟฟ้าเป็นบ้าเป็นหลัง จนสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. เหลืออยู่เพียง 34% หรือ 1 ใน 3 ของกำลังการผลิตรวม ทั้งยังถูกบีบให้แบกรับภาระส่วนต่างค่า FT ไปนับแสนล้าน จนทำให้สภาพคล่องทางการเงินตึงตัว แต่กำรี้กำไรในรอบ 6 เดือน ก็ยังทะลักล้นไปถึง 50,545 ล้านบาท
จนถึงขนาดที่มีคนเอาไปสัพยอกว่า กำไร กฟผ. เพียงแห่งเดียวนั้น มากกว่า 12 บริษัทพลังงานในตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมกันเสียอีก
เพราะ กฟผ.นั้น เป็นทั้งผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุด และ “นายหน้า” ค้าไฟฟ้าที่รับซื้อจากเอกชนมาขายต่อให้ 2 การไฟฟ้า คือ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) โดย “กินส่วนต่าง” จากการได้สิทธิผูกขาดและบริหารระบบสายส่งแต่เพียงผู้เดียวของประเทศไทย
เราถึงเรียกร้องว่าถึงเวลาที่รัฐบาลและกระทรวงพลังงานจะต้องดำเนินการผลักดันแนวทางการปฏิรูปโครงสร่างพลังงานกันอย่างถึงพริกถึงขิง ถึงเวลาที่จะต้อง “ปลดล็อค” องค์กรที่ทำตัวเป็นเสือนอนกิน Tiger Sleep Eat กันเสียที เพื่อทลายกำแพงผูกขาดระบบสายส่ง -แยกระบบสายส่งของ กฟผ.
โดยรัฐควรแยกระบบสายส่งออกมาจะจัดตั้งหน่วยงานของรัฐ หรือหน่วยงานขึ้นมาบริหารจัดการอย่างเป็นรูปธรรม และบริหารจัดการในลักษณะ “ใครใช้-ใครจ่าย” เช่นเดียวกับการให้บริการเติมเชื้อเพลิงการบินในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ-ดอนเมืองในปัจจุบัน ที่ผู้ค้าน้ำมันทุกรายสามารถจำหน่ายน้ำมันอากาศยานให้แก่ลูกค้าสายการบินผ่านระบบ Pool ที่ บมจ.บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ หรือ BAFs ดำเนินการให้บริการอยู่ในปัจจุบัน
รวมทั้งการปลดล็อค “เปิดเสรีมิเตอร์ไฟฟ้า Mitering” เปิดทางให้ประชาชนผู้ใช้ไฟได้เลือกซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าได้อิสระโดยตรง เช่นในต่างประเทศ ในสหรัฐฯ ยุโรป ออสเตรเลีย ที่รัฐบาลเปิดให้ผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจำหน่ายไฟฟ้าตรงสู่ครัวเรือนประชาชน ไม่ต่างไปจากที่รัฐบาลในอดีต ได้เปิดเสรีโทรคม-อินเทอร์เน็ตไปก่อนหน้าจนทำให้ผู้ให้บริการมือถือแต่ละรายต่างงัดกลยุทธ์ทางการตลาด งัดโปรโม่ชั่น ลดแลก แจกแถม เพิ่มมาตรการจูงใจให้ผู้คนหันมาใช้เครือข่ายของตนมากที่สุด
เมื่อมีกระแสข่าวกระทรวงพลังงานจะมีการแต่งตั้งบอร์ด กฟผ. ชุดใหม่ ที่คาดว่าจะมี นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานโดยตรง หลายฝ่ายจึงต่างฝากความหวังเอาไว้ว่า จะทำให้เส้นทางการปฏิรูปพลังงานมีความเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เพราะจะทำให้กระทรวงพลังงานสามารถผลักดันนโยบายปฏิรูปพลังงานผ่านกลไกการทำงานของประธานบอร์ด กฟผ. ได้โดยตรงเสียที