“สุริยะ”สั่งทช. เพิ่มประสิทธิภาพคุมเข้มสายแบก จัดตั้งด่านชั่งน้ำหนักออกเป็น 3 ประเภทหวังป้องกันทางเสียหาย เร่งขยายติดตั้ง WIM ในสายทางปริมาณจราจรรถบรรทุกสูงทั่วประเทศ พร้อมนำข้อมูลไปวิเคราะห์งานซ่อมบำรุงทางให้เกิดประสิทธิผลในการดำเนินงานมากยิ่งขึ้น
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากที่ก่อนหน้านี้ได้สั่งการให้กรมทางหลวงชนบท (ทช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานเชิงรุก หมั่นตรวจตรากวดขัน และบังคับใช้กฎหมายเรื่องรถบรรทุกน้ำหนักเกินอย่างจริงจังต่อเนื่อง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อทางหลวงแผ่นดินและทางหลวงชนบท ซึ่งอาจก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัย และส่งผลต่อความเดือดร้อนของประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน ปัจจุบัน ทช. โดยสำนักบำรุงทาง ได้มีการจัดตั้งด่านชั่งน้ำหนักเพื่อตรวจสอบและควบคุมน้ำหนักของรถบรรทุกไม่ให้น้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด โดยแบ่งประเภทการจัดตั้งด่านชั่งน้ำหนักออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ สถานีตรวจสอบน้ำหนักยานพาหนะ (Weigh Station) ด่านชั่งน้ำหนักกึ่งถาวร (Weigh in Motion, WIM) และหน่วยตรวจสอบน้ำหนักเคลื่อนที่ (Spot Check) ในส่วนภูมิภาค เพื่อป้องกันการชำรุดเสียหายของถนนทางหลวงชนบท ตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 มาตรา 61
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ กล่าวต่อว่า ทช. ได้รายงานการดำเนินการจัดตั้งระบบ WIM ในปี 2566 เสร็จสมบูรณ์แล้ว 8 แห่ง ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำให้ ทช. จัดทำแผนติดตั้ง WIM ในสายทางที่มีปริมาณการจราจรของรถบรรทุกสูง เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับพี่น้องประชาชนผู้ใช้เส้นทาง ลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงถนนจากความเสียหายก่อนระยะเวลาที่กำหนด พร้อมทั้งเน้นย้ำให้ลงพื้นที่ติดตั้งด่านชั่งน้ำหนักยานพาหนะเคลื่อนที่ในสายทางหลวงชนบททั่วประเทศ เพื่อควบคุมน้ำหนักของรถบรรทุกให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อไป ทช. ได้จัดตั้งด่านชั่งน้ำหนักของรถบรรทุกในหลายรูปแบบ โดยที่เป็นระบบ WIM และ Spot Check เพื่อช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัดระหว่างคัดกรองรถบรรทุกก่อนเข้าด่านชั่ง เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบรถบรรทุกน้ำหนักเกิน รวมทั้งเก็บข้อมูลรถบรรทุกเพื่อใช้ในการวางแผนการตรวจสอบน้ำหนักบรรทุกและบำรุงรักษาทาง ซึ่งจะนำข้อมูลที่ได้ไปวิเคราะห์งานซ่อมบำรุงทางให้เกิดประสิทธิผลในการดำเนินงานมากยิ่งขึ้น โดยได้ดำเนินการจัดตั้ง Weigh Station ไปแล้ว 5 แห่ง จัดตั้งระบบ WIM 11 แห่ง และในปี 2566 ได้ดำเนินการจัดตั้งระบบ WIM อีก 8 แห่ง ดังนี้
1. สะพานภูมิพล 1 และ 2 เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร และอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ทั้งฝั่งถนนพระราม 3 และถนนสุขสวัสดิ์
2. ถนนสาย นฐ.3004 แยก ทล.346 – ศาลายา อำเภอบางเลน และพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม
3. ถนนสาย นภ.3007 แยก ทล.228 – บ้านวังลาน (ตอนหนองบัวลำภู) อำเภอศรีบุญเรือง จังหวัดหนองบัวลำภู
4. ถนนสาย พล.2043 แยก ทล.12 – บ้านสนามคลี อำเภอเมืองพิษณุโลก และบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก
5. ถนนสาย ตก.5052 แยกทางหลวงชนบทสาย ตก.3050 – บ้านวังตะเคียนใต้ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก
6. ถนนสาย นพ.2019 แยก ทล.22 – บ้านนาผักปอด อำเภอเมืองนครพนม และท่าอุเทน จังหวัดนครพนม
7. ถนนสาย นบ.3030 สะพานพระราม 4 อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
8. ถนนสาย นบ.1020 สะพานพระราม 5 อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี