ท่าอากาศยานไทย(ทอท.) แถลงผลประกอบการปีงบ 2566 กำไรสุทธิ 8,790.87 ล้านบาท เป็นผลจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว พร้อมเดินหน้าพัฒนาสนามบินต่อเนื่อง เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการให้รวดเร็ว
บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) กระทรวงคมนาคม แถลงผลประกอบการปีงบประมาณ 2566 มีกำไรสุทธิจำนวน 8,790.87 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งมีผลขาดทุนสุทธิจำนวน 11,087.86 ล้านบาท ทั้งนี้ ภาพรวมของผลการดำเนินงานด้านปริมาณการจราจรทางอากาศของปีงบประมาณ 2566 (ตุลาคม 2565 – กันยายน 2566) ณ ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ ทอท. ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) ท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ทชม.) ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย (ทชร.) ท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.) และท่าอากาศยานหาดใหญ่ (ทหญ.) เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) คลี่คลาย ประกอบกับอุตสาหกรรมการบินและภาคการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว โดยมีจำนวนเที่ยวบินรวม 639,891 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 62.22 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน แบ่งเป็น เที่ยวบินระหว่างประเทศ 321,053 เที่ยวบิน และเที่ยวบินภายในประเทศ 318,838 เที่ยวบิน มีผู้โดยสารรวมทั้งหมด 100.06 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 114.31 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน แบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ 53.91 ล้านคน และผู้โดยสารภายในประเทศ 46.15 ล้านคน
ปีงบประมาณ 2566 (สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2566) ทอท.มีกำไรสุทธิจำนวน 8,790.87 ล้านบาท มีผลการดำเนินงานเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนซึ่งมีผลขาดทุนสุทธิจำนวน 11,087.86 ล้านบาท โดยมีรายได้จากการขายหรือการให้บริการ 48,140.92 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 190.71 จากปีงบประมาณ 2565 ประกอบด้วย รายได้เกี่ยวกับกิจการการบินจำนวน 22,265.83 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 205.43 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนเที่ยวบินและจำนวนผู้โดยสาร และรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบินจำนวน 25,875.09 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 179.13 จากการเพิ่มขึ้นของรายได้ส่วนแบ่งผลประโยชน์จากธุรกิจร้านค้าปลอดอากร ธุรกิจการบริหารกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ธุรกิจจัดส่งอาหารและเครื่องดื่ม และธุรกิจบริการภาคพื้นและซ่อมบำรุง ค่าใช้จ่ายรวมสำหรับปีงบประมาณ 2566 มีจำนวน 34,248.23 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.81 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ส่วนใหญ่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายผลประโยชน์พนักงาน ค่าจ้างภายนอก ค่าสาธารณูปโภค และค่าซ่อมแซมและบำรุงรักษา ทั้งนี้ ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 ทอท.มีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 195,611.09 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากวันที่ 30 กันยายน 2565 จำนวน 11,798.17 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.42 และมีหนี้สินรวมทั้งสิ้น 83,432.90 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากวันที่ 30 กันยายน 2565 จำนวน 2,138.58 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.63
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ภายหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ส่งผลให้มีการเดินทางเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับที่รัฐบาลมีนโยบายมาตรการ VISA Free ให้กับนักท่องเที่ยวชาวจีน คาซัคสถาน สาธารณรัฐอินเดียและไต้หวัน กระตุ้นเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยว ซึ่งการท่องเที่ยวจะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างรายได้ให้กับประเทศ กระทรวงคมนาคมในฐานะผู้กำกับดูแล ทอท. ได้มอบหมายให้ ทอท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มศักยภาพของท่าอากาศยานและการขนส่งทางอากาศ โดยมีนโยบายเร่งด่วนภายใน 1 ปี ให้ดำเนินการเพิ่มตารางการบิน (Slot) รองรับนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มมากขึ้น และการบริหารจัดการพื้นที่ภายในท่าอากาศยานเป็นสิ่งสำคัญจะต้องมีความพร้อมในทุกด้านของการให้บริการ เพื่อให้ผู้โดยสารและผู้ใช้บริการได้รับการบริการที่รวดเร็ว และการเดินทางที่สะดวกสบาย ไม่เกิดปัญหาความแออัดอย่างที่ผ่านมา เพื่อรองรับการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบิน และการท่องเที่ยวซึ่งเป็นตัวจักรสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจ นอกจากนี้ มอบให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมดำเนินงานภายใต้กรอบนโยบาย “คมนาคมเพื่อความอุดมสุขของประชาชน” ในทุกมิติ
นายสุริยะ กล่าวต่อ ในส่วนของโครงการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 ทสภ.เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของทางวิ่งให้รองรับเพิ่มจาก 68 เที่ยวบินต่อชั่วโมง เป็น 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมง คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ในปี 2567 ซึ่งในส่วนของงานก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันออก (East Expansion) เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะเพิ่มขีดความสามารถของ ทสภ. อีก 15 ล้านคนต่อปี ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงแบบ โดยคาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างในปี 2567 แล้วเสร็จในปี 2570 มั่นใจว่าเมื่อโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จจะเป็นการแก้ปัญหาความแออัดผู้โดยสารได้ตรงจุด
นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. กล่าวว่า ทอท. ได้ขานรับนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โดยได้เร่งดำเนินการพัฒนาท่าอากาศยานเพื่อรองรับการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวของประเทศตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทสภ. ซึ่งได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite 1: SAT-1) พร้อมทั้งระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติเชื่อมต่อระหว่างอาคาร SAT-1 กับอาคารผู้โดยสารหลัก โดยปัจจุบันโครงการดังกล่าวดำเนินการแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการแล้วเมื่อเดือนกันยายน 2566 ทำให้ ทสภ.สามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นจาก 45 ล้านคนต่อปี เป็น 60 ล้านคนต่อปี นอกจากนี้ ทสภ. อยู่ระหว่างดำเนินโครงการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของทางวิ่งให้รองรับเพิ่มจาก 68 เที่ยวบินต่อชั่วโมง เป็น 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมง คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ในปี 2567 ซึ่งในส่วนของงานก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันออก (East Expansion) จะดำเนินการก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลักด้านทิศตะวันออกของอาคารเดิมเพื่อเพิ่มพื้นที่การให้บริการ โดยเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะเพิ่มขีดความสามารถของ ทสภ. อีก 15 ล้านคนต่อปี ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงแบบ โดยคาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างในปี 2567 แล้วเสร็จในปี 2570
สำหรับโครงการพัฒนา ทดม. ระยะที่ 3 จะก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ และปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร อาคาร 1 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจาก 30 ล้านคนต่อปี เป็น 50 ล้านคนต่อปี ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการออกแบบ คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างในปี 2568 แล้วเสร็จในปี 2573 และโครงการพัฒนา ทชม. ระยะที่ 1 จะก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ และปรับปรุงอาคารผู้โดยสารเดิมเป็นอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจาก 8 ล้านคนต่อปี เป็น 16.5 ล้านคนต่อปี ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการออกแบบ คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างในปี 2568 แล้วเสร็จในปี 2571
ในส่วนของโครงการพัฒนา ทชร. ระยะที่ 1 จะดำเนินการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจาก 3 ล้านคนต่อปี เป็น 6 ล้านคนต่อปี ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำ TOR จ้างผู้ออกแบบ เพื่อดำเนินการออกแบบในปี 2567 โดยคาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างในปี 2569 แล้วเสร็จในปี 2572 และโครงการพัฒนา ทภก. ระยะที่ 2 จะก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจาก 12.5 ล้านคนต่อปี เป็น 18 ล้านคนต่อปี ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำ TOR จ้างผู้ออกแบบเพื่อดำเนินการออกแบบในปี 2567 โดยคาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างในปี 2569 แล้วเสร็จในปี 2572 ทั้งนี้ ในส่วนของ ทหญ. อยู่ระหว่างทบทวนแผนแม่บทให้สอดคล้องกับปริมาณการจราจรทางอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงไป
ทอท. ในฐานะผู้บริหารท่าอากาศยานหลัก 6 แห่งของประเทศไทยมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาศักยภาพของท่าอากาศยานในความรับผิดชอบ และท่าอากาศยานในอนาคต เพื่อเตรียมรองรับผู้โดยสารและนักเดินทางจากทั่วทุกมุมโลกให้ได้รับความสะดวกสบาย และสัมผัสประสบการณ์การเดินทางที่น่าประทับใจ อันจะนำมาสู่การฟื้นฟูทางด้านอุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยว และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมต่อไป