กระทรวงคมนาคมร่วมมือหน่วยงานความมั่นคง ประชุมหารือ “อูเบอร์” ขอให้หยุดบริการ ด้านเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ฯ เสนอจัดการขั้นเด็ดขาดรถแท็กซี่ผิดกฎหมาย ฟาก ขนส่งทางบก พร้อมจัดระเบียบแท็กซี่ป้ายเหลือง ยกระดับคุณภาพ-แก้ปัญหาปฏิเสธ บังคับติดอุปกรณ์ความปลอดภัยภายในรถ ดึงดูดคนใช้บริการ
นายวิฑูรย์ แนวพานิช ประธานเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ในเขตกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ตนเองได้เดินทางเข้ามายื่นหนังสือต่อนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม ในกรณีที่มีการนำรถยนต์ส่วนบุคคลมาให้บริการเป็นรถโดยสารสาธารณะ พร้อมเร่งให้กระทรวงคมนาคมเร่งแก้ไขปัญหา ซึ่งการเข้ามายื่นหนังสือในครั้งนี้ต้องการเรียบร้องให้กรมการขนส่งทางบก มีการบังคบใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด พร้อมแก้ไขปัญหารถแท็กซี่ที่ผิดกฎหมาย
“ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ามีการนำรถยนต์ส่วนบุคคลมาให้บริการเป็นรถโดยสารสาธารณะ โดยปัจจุบันมีวิ่งให้บริการอยู่กว่า 50,000 คัน ส่งผลกระทบต่อคนขับแท็กซี่ที่ลงทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก ทำให้มีการแย่งผู้โดยสาร และทำให้รายได้ของรถแท็กซี่ที่ถูกกฎหมาย ลดลง กว่า 30% ทั้งนี้ทางเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ฯ ไม่ได้ต่อต้านการนำแอพพลิเคชั่นมาใช้ แต่ต้องการให้การให้บริการเป็นไปอย่างถูกต้อง ซึ่งทางเครือข่ายเองก็พร้อมร่วมมือกับแอพพลิเคชั่น Smart Taxi ที่พัฒนาโดยคนไทย แต่จะต้องรอให้กรมการขนส่งทางบกแก้ไขกฎหมาย เกี่ยวกับการติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติม เช่น กล้องวงจรปิด และมิเตอร์รูปแบบใหม่ ที่ใช้บัตรประจำตัวคนขับสแกนเพื่อยืนยันตัวตนก่อนออกให้บริการ หวังว่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายใน 3-6 เดือนนี้ โดยแอพพลิเคชั่นดังกล่าวจะสามารถแก้ปัญหารถแท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสารได้ เนื่องจากเมื่อมีผู้โดยสารเรียกใช้บริการผ่านแอพพลิเคชั่น smart taxi ซึ่งจะเป็นการเรียกใช้รถแท็กซี่ที่มีอยู่ในระบบ และเอารถที่ผู้ขับตัดสินใจไปรับผู้โดยสารก็ จะตัดปัญหาเรื่องการปฏิเสธผู้โดยสารออกไปได้ด้วย นอกจากนี้ ก็ขอให้กระทรวงคมนาคม มีการทบทวนโครงสร้างค่าโดยสารในปัจจุบันให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง รวมไปถึงขอให้มีการปรับโครงสร้างแท็กซี่ใหม่ เปิดสัมปทานให้มีผู้ประกอบการกำกับดูแล ซึ่งหากมีการกระทำผิดจะลงโทษโดยการยึดใบอนุญาตสัมปทานได้ทันที”
ด้าน นายสมศักดิ์ ห่มม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับ นางเอมี่ กุลโรจน์ปัญญา ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายรัฐสัมพันธ์สื่อสารองค์กร ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หรืออูเบอร์ และตัวแทนจากมณฑลทหารบกที่ 11 (ผบ.มทบ.11.) ในกรณีที่มีการนำรถส่วนบุคคลหรือรถป้ายดำมาวิ่งให้บริการเป็นรถโดยสารสาธารณะ ว่า ที่ประชุมมีมติร่วมกันในการศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสมในการนำระบบบริการร่วมเดินทาง (Ridesharing) ซึ่งเป็นรูปแบบใหม่ของการเดินทางของอูเบอร์มี่ที่นำเอาเทคโนโลยีมาใช้บนสมาร์ทโฟนมาให้บริการแท็กซี่ เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่รองรับระบบดังกล่าวคาดว่าจะใช้เวลาในการศึกษาและสรุปผลได้ภายใน 6 เดือนถึง1ปี ซึ่งหากเห็นว่าเหมาะสมก็อาจจะต้องจัดให้เป็นบริการในรูปแบบใหม่ ซึ่งในอนาคตจะต้องมีการแก้ไขกฎหมาย และออกมาตรการกำกับเกี่ยวกับมาตรฐาน คนขับ ตัวรถ การทำประกันภัย รวมทั้งการเสียภาษีในการทำธุรกิจให้ถูกต้อง
ทั้งนี้ นางเอมี่ กุลโรจน์ปัญญา ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายรัฐสัมพันธ์สื่อสารองค์กร ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หรืออูเบอร์ กล่าวว่า ในที่ประชุมเรารับปากหรือตกลงร่วมกันเฉพาะประเด็นให้มีการศึกษาความเหมาะสมร่วมกันเท่านั้น อูเบอร์ไม่ได้รับปากเรื่องจะยุติการให้บริการตามที่กระทรวงคมนาคมระบุแต่อย่างใด โดยยืนยันที่จะเดินหน้าให้บริการต่อไป เพราะบริการของอูเบอร์ไม่ได้ผิดกฎหมาย เพียงแต่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับระบบบริการร่วมเดินทาง ของอุเบอร์มากกว่า ขณะที่อินโดนิเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ มีกฎหมายรองรับและสามารถให้บริการได้ ส่วนกรณีที่เครือข่ายสมาชิกถูกทางการไล่จับและปรับนั้น ที่ผ่านมาอุเบอร์ได้ให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว