“ทางหลวง” แจงแอสฟัลต์พุ่ง ตามกลไกตลาดโลก ยันยึดหลักตามกรมบัญชีกลาง

0
151

จากกรณีนายสังวรณ์ ลิปตพัลลภ นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ทำหนังสือถึงนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับการได้รับแจ้งจากสมาชิกของสมาคมฯ และผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างว่าประสบปัญหาเกี่ยวกับราคายางมะตอยที่ใช้ในงานก่อสร้าง(ยางแอสฟัลต์)จนได้รับความเดือดร้อนในวงกว้าง เนื่องจากผู้จำหน่ายได้ปรับราคาอย่างต่อเนื่อง โดยใน 1 รอบปีที่ผ่านมาราคาสูงขึ้นเกือบ 1 เท่าตัว ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบจากช่วงเดินกุมภาพันธ์ 2559 ราคาจำหน่ายรวมค่าขนส่งและภาษีมูลค่าเพิ่ม จะอยู่ที่ตันละ 10,593 บาท แต่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ราคาจำหน่ายเพิ่มขึ้นไปตันละ 20,223 บาท ซึ่งส่งผลกระทบต่อราคาการก่อสร้างที่ได้ทำการประมูลและลงนามสัญญาไปแล้ว หรืออยู่ในระหว่างดำเนินการก่อสร้าง

เนื่องจากผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบในเรื่องค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นกว่าราคากลางที่ประมูลได้ แม้ทางหน่วยงานราชการจะกำหนดให้มีค่า K เพื่อชดเชยกรณีราคาวัสดุเปลี่ยนแปลง แต่ยังมีความล่าช้าในการเบิกจ่ายและเบิกไม่ได้เต็มจำนวนจริง จึงส่งผลกระทบต่อความคล่องตัวในการบริหารจัดการด้านการเงินของผู้ประกอบการก่อสร้าง เพราะค่าK ไม่สามารถรองรับส่วนต่างที่เกิดขึ้นได้ทั้งหมด โดยเฉพาะเรื่องของดอกเบี้ย

จากเรื่องดังกล่าว นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง ได้กล่าวว่า วิธีการคิดราคากลางการประกวดราคาโครงการของทางหลวง จะคิดก่อนเปิดประกวดราคา 30 วัน เช่น ในเดือนมีนาคมนี้ ราคายางอยู่ที่ตันละ 1.8 หมื่นบาท ทาง ทล.ก็จะคิดให้ตันละ 1.8 หมื่นบาท โดยในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านยอมรับว่าราคายางขึ้นมาสูงมากประมาณ 2 เท่า ซึ่งก็เป็นไปตามกลไกตลาดโลก ตนก็ไม่ทราบว่ากลไกดังกล่าวเป็นอย่างไร แต่เมื่อราคามันสูงขึ้นหลังจากประกวดราคาแล้วแบบนี้ที่ ทล.ก็มีให้ คือ ค่า Kก็จะอยู่ในสูตรการคำนวณอยู่แล้ว เช่น ในช่วงที่คำนวณกำหนดให้ยางตันละ 1.4 หมื่นบาท แต่พอหลังจากนั้นยางเพิ่มเป็นตันละ 2.5 หมื่นบาท ส่วนต่างที่เกิดขึ้นก็จะมีสูตรที่คำนวณให้ แต่ไม่ได้ให้ทั้งหมดที่เพิ่มขึ้น โดยเป็นการให้ชดเชยตามเปอร์เซ็นวงเงินที่ปรับเพิ่มขึ้นไป

“สำหรับรูปแบบที่ใช้อยู่ตอนนี้ จะคล้ายกับการคิดราคาในวันประมูลและคิดราคากลางใหม่อีกครั้งในวันที่โครงการแล้วเสร็จ โดยส่วนต่างที่เกิน คือ K บวกหรือลบ 4 หรือ 4% แรกตามระเบียบพัสดุ ดังนั้นหากตอนประมูลกำหนดราคากลางแอสฟัลต์ไว้ที่ 2 หมื่นบาท แต่เอาเข้าจริงลดลงมาที่ 1.2 หมื่นบาท ผู้รับเหมาก็จะได้ส่วนต่างไป ส่วนค่า K นั้น เราก็จะต้องเรียกส่วนที่เกินไปคืนด้วย ซึ่งราคาก็เป็นไปตามกลไกตลาด ขณะที่ค่า K ก็คิดตามกฎระเบียบวิธีคิดค่า K ของกรมบัญชีกลาง ในส่วนเรื่องการปรับขึ้นราคายางแอสฟัสต์นั้น ก็ไม่ทราบว่าทำไมถึงมีการปรับราคาที่สูงขึ้น นั่นเป็นเพราะเรื่องของกลไกตลาด โดยยางประเภทนี้ ไทยไม่ได้ผลิตขึ้นมาเอง ต้องนำเข้ามา 100% จากสิงคโปร์ และมาเลเซีย  หรือนำเอาไปกลั่นที่โรงกลั่นศรีราชาเท่านั้น  ซึ่งยางแอสฟัลต์เป็นผลพลอยได้จากการกลั่นน้ำมันนั่นเอง” นายธานินทร์ กล่าวทิ้งท้าย