“พัชรวาท” ร่วมประชุมด้านสิ่งแวดล้อมระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค สู่ความร่วมมือแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม

0
76

เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2566 พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านสิ่งแวดล้อมภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกของโครงการสิ่งแวดล้อม สมัยที่ 5 (5th AP Forum) เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกล พร้อมด้วย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และผู้แทนสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และกรมควบคุมมลพิษ เพื่อร่วมหารือถึงท่าทีทางด้านสิ่งแวดล้อมของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกที่เชื่อมโยงกับหัวข้อหลักของการประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 6 หรือ UNEA 6 ที่จะจัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 โดยมุ่งเน้นการดำเนินการภายใต้กลไกพหุภาคี เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญของโลก อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และมลพิษทางด้านสิ่งแวดล้อม

โดย พล.ต.อ.พัชรวาท ได้กล่าวถ้อยแถลงในนามของรัฐบาลไทย แสดงความขอบคุณต่อกระทรวงสิ่งแวดล้อมแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา และ UNEP ที่ได้จัดการประชุมครั้งนี้ รวมทั้งได้กล่าวถึงการยกระดับการดำเนินงานของประเทศไทยในการบริหารจัดการ และปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผ่านกลไกการพัฒนานโยบายและกฎหมาย เพื่อมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายของประเทศและพันธกรณีระหว่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยมีความมุ่งมั่นในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในทุกมิติ พร้อมทั้งได้กล่าวทิ้งท้ายว่า ประเทศไทยมุ่งมั่นและพร้อมที่จะร่วมมือกับโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) และประเทศอื่น ๆ เพื่อส่งเสริมให้ความร่วมมือระดับภูมิภาคมีความเข้มแข็ง ตลอดจนเร่งรัดการบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

นอกจากนี้ ในการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ที่ผ่านมา ประเทศไทยยังได้รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมของไทยต่อที่ประชุม โดยได้เน้นย้ำถึงการดำเนินงานด้านการจัดการมลพิษทางอากาศ และการลดผลกระทบจาก PM 2.5 อย่างต่อเนื่อง โดยปรับปรุงการดำเนินการภายในประเทศและเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งเชื่อมโยงกับแผนปฏิบัติการระดับภูมิภาคว่าด้วยมลพิษทางอากาศที่ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกได้รับรองในการประชุมคณะกรรมการว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา สมัยที่ 7 (CED 7) ระดับรัฐมนตรี

รวมถึงให้ความสำคัญต่อปัญหามลพิษจากขยะพลาสติก และได้กำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยเร่งดำเนินการแก้ไขอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อก้าวไปสู่สังคมเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านกลไกการผลักดันด้านกฎหมายเพื่อการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์ โดยประเทศไทยสนับสนุนและมีส่วนร่วมในกระบวนการเจรจาระหว่างรัฐบาล (Intergovernmental Negotiating Committee: INC) เพื่อจัดทำมาตรการที่มีผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศด้านมลพิษจากพลาสติก และสิ่งแวดล้อมทางทะเล อย่างเต็มที่ ทั้งยังสนับสนุนให้ UNEP และภาคส่วนต่าง ๆ ร่วมกันส่งเสริมและบูรณาการการความร่วมมือระดับอนุภูมิภาค เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมในการแก้ไขวิกฤติสิ่งแวดล้อมโลก และนำข้อมติสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติไปสู่การปฏิบัติเพื่อความยั่งยืนของภูมิภาคต่อไป