นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานพิธีเปิดให้บริการอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) แบบ Soft Opening โดยมี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) นายกิตติพงศ์ กิตติขจร ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมพิธี ในวันที่ 29 กันยายน 2566 ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ กล่าวว่า ตามนโยบายของรัฐบาลในการเพิ่มขีดความสามารถและขยายศักยภาพท่าอากาศยานให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้บริการและเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศไทย กระทรวงคมนาคม โดยบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ได้เร่งรัดการดำเนินงานโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 ซึ่งท่าอากาศยานสุวรรณภูมิถือเป็นประตูด่านแรกในการต้อนรับนักท่องเที่ยว และปัจจุบันมีความพร้อมที่เปิดให้บริการอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 หรืออาคาร SAT-1 เพื่อสนับสนุนศักยภาพของอาคารผู้โดยสารหลักให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยจะเพิ่มขีดความสามารถของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในการรองรับผู้โดยสารจากเดิม 45 ล้านคนต่อปี เป็น 60 ล้านต่อปี ตัวอาคาร SAT-1 ได้รับการออกแบบงานสถาปัตยกรรมให้สอดคล้องกับอาคารผู้โดยสารหลัก หรือ Main Terminal โดยในระยะแรก สายการบินที่จะเข้าทำการบินที่อาคาร SAT-1 ได้แก่ สายการบินไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ และสายการบินไทยเวียตเจ็ท โดยจะพิจารณาจัดสายการบินอื่นเข้ามาทำการบินที่อาคาร SAT-1 เพิ่มเติมในระยะต่อไป เมื่ออาคาร SAT-1 เปิดให้บริการเต็มรูปแบบ จะเกิดประโยชน์แก่ทุกภาคส่วนทั้งผู้ใช้บริการและอุตสาหกรรมการบิน ร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ยกระดับขีดความสามารถของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิสู่ท่าอากาศยานชั้นนำระดับโลก
อาคาร SAT-1 เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 มีพื้นที่ใช้สอยภายในอาคาร 251,400 ตารางเมตร และพื้นที่ลานจอดอากาศยานรวมกว่า 260,000 ตารางเมตร เป็นอาคารสูง 4 ชั้น และมีชั้นใต้ดิน 2 ชั้น เชื่อมต่อกับ Main Terminal ด้วยอุโมงค์ใต้ดิน ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร ผู้โดยสารที่จะเดินทางเที่ยวบินที่ทำการบิน ณ อาคาร SAT-1 ทั้งขาออกและขาเข้าระหว่างประเทศ สามารถโดยสารรถไฟฟ้า APM ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าระบบล้อยางแบบไร้คนขับ รับ – ส่ง ผู้โดยสารระหว่างอาคารผู้โดยสารหลัก และอาคาร SAT-1 ใช้เวลาในการโดยสารรวมถึงระยะเวลารอ ประมาณ 3 นาที รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 210 คนต่อขบวน
สำหรับพื้นที่ลานจอดอากาศยานของอาคาร SAT-1 ประกอบด้วย หลุมจอดประชิดอาคาร 28 หลุมจอด สามารถจอดอากาศยานขนาด Code F ได้ 8 หลุมจอด และอากาศยานขนาด Code E ได้ 20 หลุมจอด มีสะพานเทียบอากาศยาน 64 สะพาน
นอกจากนี้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ได้นำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้ในการให้บริการ เช่น การจัดการกับกระเป๋าสัมภาระ Check-in โดยติดตั้งระบบ Individual Carrier System (ICS) ซึ่งเป็นระบบขนส่งสัมภาระความเร็วสูงเชื่อมต่อระหว่างอาคารผู้โดยสารหลัก (MTB) กับอาคาร SAT-1 ซึ่งสามารถติดตามกระเป๋าสัมภาระที่มีความแม่นยำสูง ลดปัญหากระเป๋าสัมภาระเสียหายในขั้นตอนการลำเลียงขึ้นอากาศยาน
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาท่าอากาศยาน เนื่องจากเป็นหนึ่งในนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น (Quick Win) ผ่านการกระตุ้นการใช้จ่าย สอดรับกับมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว ทั้งนี้ การพัฒนาท่าอากาศยานเพื่อรองรับการเดินทางท่องเที่ยวไม่เพียงแต่สร้างโอกาสให้กับเศรษฐกิจ แต่ยังเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น เนื่องจากการท่องเที่ยว คือ แหล่งรายได้ที่สำคัญ และสามารถกระจายสู่ภาคประชาชนได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง รวมทั้งก่อให้เกิดการลงทุนในด้านต่าง ๆ ที่ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งในเรื่องของการจ้างงาน การสร้างอาชีพและอุตสาหกรรมใหม่ ๆ การพัฒนาท่าอากาศยานเพื่อขีดความสามารถให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้นนั้นจะเป็นการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและโอกาสต่าง ๆ ให้กับประชาชน รวมทั้งทำให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลกเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ก้าวหน้าต่อไป
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำเรื่องการบริหารและการบริการภายในท่าอากาศยานให้ไม่ติดขัดเพียงพอกับการรองรับผู้โดยสารที่จะเข้ามาจำนวนมาก ซึ่งการพัฒนาท่าอากาศยานจะส่งเสริมศักยภาพการเป็นฮับการบินของภูมิภาคและจะเกิดประโยชน์แก่ทุกภาคส่วนทั้งผู้ใช้บริการสายการบินและอุตสาหกรรมการผลิตตลอดจนรองรับการค้าการลงทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในระยะยาว