บ้านปู แง้มทริค “ปั้นโปรไฟล์ธุรกิจ SE” ให้โดนใจนักลงทุน พร้อมชวนติดตามพัฒนาการธุรกิจ SE ใน BC4C ปีที่ 12

0
79

กิจการเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise (SE) อาจเกิดจากการมี “ไอเดียเพื่อสังคมที่ดี” แต่การจะทำธุรกิจ SE ให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนนั้น ต้องมีแนวทางการดำเนินธุรกิจแบบหวังผลที่ชัดเจน และพร้อมที่จะนำเสนอให้กับนักลงทุนที่สนใจ ดังนั้นนอกเหนือจากการสร้างความเชื่อมั่นว่าธุรกิจจะสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรมแล้ว การมี “โปรไฟล์ธุรกิจที่น่าเชื่อถือ” จึงเป็นสิ่งที่ SE ควรให้ความสำคัญ เพราะมีผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุน

บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ สถาบัน ChangeFusion ในฐานะผู้สนับสนุนกิจการเพื่อสังคมมาอย่างยาวนาน ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการกิจการ SE ให้สามารถสร้างโปรไฟล์ธุรกิจให้แข็งแกร่งผ่านการดำเนินโครงการ Banpu Champions for Change (BC4C) โดยโครงการฯ ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนธุรกิจและปั้นโปรไฟล์แบบมืออาชีพ มาช่วยเพิ่มทักษะในการทำโปรไฟล์ธุรกิจและพัฒนาศักยภาพให้กับผู้ประกอบการกิจการเพื่อสังคม เพื่อทำให้ SE สามารถระดมทุนและสร้างการเติบโตได้ต่อเนื่อง

ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ 2 ที่ BC4C ได้คัดเลือก SE ที่มีประสบการณ์และผ่านการดำเนินธุรกิจมาระยะหนึ่ง ที่ต้องการโตขึ้นไปอีกขั้นจำนวน 6 โครงการมาเข้าร่วมกระบวนการพัฒนาศักยภาพกิจการระยะขยายผล (Acceleration Program) ซึ่งหนึ่งในกระบวนการหลักที่ผู้เข้าร่วมจะได้รับการพัฒนาคือการสร้างโปรไฟล์ธุรกิจ ที่ตอบโจทย์สิ่งที่นักลงทุนต้องการเห็น

5 กุญแจสำคัญ ช่วยปั้นโปรไฟล์ธุรกิจ SE ให้ดึงดูดนักลงทุน

นางสาวไฮดี้ เหลิ่ง ผู้จัดการฝ่ายบริหารธุรกิจแห่ง ChangeFusion ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนธุรกิจในกิจการเพื่อสังคม เผยว่า หลักสำคัญในการพัฒนาโปรไฟล์ธุรกิจ (Business Profile) เพื่อเพิ่มโอกาสในการร่วมลงทุนของนักธุรกิจได้นั้น ผู้ประกอบการควรยึด 5 ข้อสำคัญดังนี้ 

  • ต้องชัดเจนว่าธุรกิจของตนอยู่ในอุตสาหกรรมใด

การกำหนดแนวทางและวางตำแหน่ง (Position) ของธุรกิจตัวเองในอุตสาหกรรมที่แน่ชัด
จะส่งผลต่อทิศทางการดำเนินธุรกิจและมีแหล่งอ้างอิงในการวางแผนพัฒนากลยุทธ์ในอนาคต ซึ่งจะทำให้นักลงทุนเห็นภาพและสามารถประเมินการเติบโตได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น                                                             

  • การแสดงข้อมูลสถิติที่ดึงดูดนักลงทุน (Traction) เพื่อประกอบการตัดสินใจ

ไม่ว่าจะด้วยการแสดงสถิติจำนวนผู้ใช้งานในปัจจุบัน รายรับ รายได้ กำไร สถิติการกลับมาซื้อซ้ำ เป็นต้น รวมถึงความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจ เพื่อแสดงให้เห็นความถนัดของผู้ประกอบการ สร้างความเชื่อมั่นว่าธุรกิจนี้มีโอกาสที่จะขยายฐานลูกค้ารวมถึงการสร้างรายได้ได้จริง

  • มีแผนและแนวทางขยายกิจการในอนาคต

ผู้ประกอบการต้องสามารถแสดงถึงวิสัยทัศน์และแผนงานระยะยาว โดยมีการวางแผนกิจกรรม วางแผนการเงิน (Financial Planning) การคาดการณ์ทางการเงิน (Financial Forecasts) ให้นักลงทุนรับทราบแผนอย่างชัดเจน

  • เข้าใจบริบทในการสร้างอิมแพคกับสังคม (Social Impact)

กล่าวคือ Business Model จะต้องสามารถสร้างผลลัพธ์ทางสังคมได้ ทั้งสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีให้เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม สังคมหรือชุมชนนั้นๆ ได้จริงและวัดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งสามารถทำได้โดยการชักชวนกลุ่มเป้าหมายหรือผู้ที่มีส่วนได้เสีย (Stakeholder) เข้ามามีส่วนร่วมในธุรกิจ

  • มีแผนบริหารและจัดการความเสี่ยง

หลายๆ ครั้งผู้ประกอบการมักไม่ได้ให้ความสนใจหรือมองข้ามส่วนนี้ไป ซึ่งจริงๆ การมีแผนวิเคราะห์ความเสี่ยงและแผนรับมือ จะทำให้ผู้ประกอบการมีความเป็นมืออาชีพ พร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลง และเพิ่มความน่าเชือถือให้กับพอร์ตธุรกิจได้อย่างมาก ถือเป็นส่วนสำคัญที่สามารถดึงดูดนักลงทุนได้

“สำหรับกิจการที่มาเข้าร่วม Acceleration Program โดยส่วนใหญ่ ที่แม้จะมีรากฐานที่เห็นเป็นรูปเป็นร่าง แต่ยังขาดเรื่องราวความน่าสนใจและแผนธุรกิจระยะยาวที่จะดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาสนับสนุน ตลอดจนสร้างความมั่นคงให้ตนเองจนสามารถดำเนินกิจการได้อย่างยั่งยืน ดังนั้น การสร้างโปรไฟล์ธุรกิจที่ดี นอกจากช่วยสนับสนุนการเจรจากับนักลงทุนได้อย่างครบถ้วนและตรงประเด็นแล้ว ยังช่วยตีกรอบให้ธุรกิจสามารถเดินไปข้างหน้าได้โดยไม่หลงทาง” นางสาวไฮดี้ กล่าว

จัดการตัวเองอย่างไรให้เป็น SE ที่นักลงทุนชอบ ด้วย “เครื่องพิสูจน์-การนำเสนอ”

นายสมิทธิพร เศรษฐปราโมทย์ Head of Corporate Venture Capital บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนได้ให้คำแนะนำว่า “ประเภทของนักลงทุนที่จะลงทุนใน SE คือคนที่อยู่ในแวดวง Impact Fund หรือกองทุนบนหลักการแห่งความยั่งยืน สิ่งแรกที่นักลงทุนประเภทนี้มองหา คือ การมี ‘เครื่องพิสูจน์’ ว่าธุรกิจสามารถสร้างผลลัพธ์ได้จริง ทั้งด้านผลกำไรและผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมที่เห็นอย่างเป็นรูปธรรม มีการวางแผนรับมือหรือบริหารจัดการธุรกิจในภาวะวิกฤตอย่างไร มีความสามารถในการสร้างรายได้ในระยะยาวมากแค่ไหน รวมถึงมีทิศทางการเติบโตของธุรกิจและความสามารถในการมอบผลตอบแทนได้ในสัดส่วนที่ตกลงกันในระยะเวลาที่กำหนดหรือไม่ เช่น ธุรกิจจะมีแนวโน้มการเติบโตหรืออยู่รอดอย่างไร ภายในเวลา 3-5 ปี”

“นอกจากนี้ การมี ‘การนำเสนอ’ (Presentation) ที่ดีและสอดคล้องกับความสนใจของนักลงทุน ก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะนอกจากตัวเลขผลประกอบการ กำไร นักลงทุนยังมองหาตัวเลขที่แสดงถึงผลกระทบด้านอื่นๆ ด้วย อาทิ หากลงทุนใน SE นี้แล้วจะสามารถช่วยเหลือผู้คนได้จำนวนกี่ราย หรือลดอัตราการเจ็บป่วยของผู้ป่วยได้ในสัดส่วนกี่เปอร์เซนต์ ดังนั้น หาก SE สามารถพัฒนาทักษะการนำเสนอ ไปพร้อมกับการตีกรอบปัญหาที่แสดงให้เห็นถึงแนวทางการแก้ไขที่มีประสิทธิภาพได้ จะช่วยเพิ่มโอกาสการลงทุนธุรกิจได้เป็นอย่างดี” นายสมิทธิพร กล่าว

อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าแนวทางในการสร้าง Business Profile ที่ดีนั้น ไม่ได้พึ่งพาเพียงความแน่วแน่ในการทำธุรกิจเพื่อสังคมเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องการความรู้ด้านธุรกิจที่ลึกซึ้ง เพื่อให้กิจการ SE สามารถเสริมจุดเด่น แก้ไขจุดด้อย สร้างการเติบโตในระดับที่ยิ่งใหญ่ขึ้นได้อีกด้วย จึงเป็นต้นกำเนิดของ Acceleration Program ภายใต้โครงการ BC4C

ด้าน นายรัฐพล สุคันธี ผู้อำนวยการสายอาวุโส-สื่อสารองค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ในปีนี้ เราได้สานต่อกิจกรรม Acceleration Program โดยได้รับความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญในแวดวง Impact Fund มาให้คำแนะนำการสร้างโปรไฟล์ธุรกิจที่ตอบโจทย์นักลงทุน ซึ่งหลังจาก SE ทั้ง 6 ทีมที่ผ่านเข้ารอบมาแล้วในปีนี้ มีโปรไฟล์ธุรกิจที่พร้อมแล้ว เราก็จะสานต่อกิจกรรมเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการได้นำเสนอธุรกิจกับนักลงทุนตัวจริง ในช่วงปลายเดือนกันยายนและเดือนตุลาคม 2566 เพื่อโอกาสในการต่อยอดธุรกิจและสร้างผลกระทบเชิงบวกทางสังคมที่กว้างขึ้นได้จริง ทั้งนี้ เราหวังว่าการเพิ่มศักยภาพและช่วยต่อยอดธุรกิจของ SE ภายใต้โครงการดังกล่าว จะช่วยให้ประเทศของเรามีจำนวน SE ที่แข็งแกร่งและพร้อมที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากและสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้แก่ชุมชนได้ในระยะยาว”