มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ขับเคลื่อนแผนพัฒนา “ทะเลสาบสงขลา” หนุนอาชีพ ควบคู่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติยั่งยืน

0
49

มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท เดินหน้า โครงการพัฒนาอาชีพ ตามดำริ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ภายใต้แผนงาน “ทะเลสาบสงขลายั่งยืน” มุ่งสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนการพัฒนาอาชีพชุมชนชาวประมงรอบทะเลสาบสงขลา ไปพร้อมๆกับการปกป้องฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล สู่ความยั่งยืนในทุกมิติ

นายจอมกิตติ ศิริกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท เปิดเผยว่า มูลนิธิฯ เล็งเห็นความสำคัญของทะเลสาบสงขลา ในด้านทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ เนื่องจากเป็นทะเลสาบแบบลากูนแห่งเดียวของประเทศไทย และมีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้งยังเป็นที่อยู่ของสัตว์ทะเลหลากหลายชนิด โดยเฉพาะ “โลมาอิรวดี” ซึ่งจัดเป็นสัตว์ทะเลสถานะใกล้สูญพันธุ์ รวมถึงมีป่าพรุและป่าชายเลนโดยรอบทะเลสาบ มูลนิธิฯ จึงมุ่งขับเคลื่อนโครงการพัฒนาอาชีพ ตามดำริ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ภายใต้แผนงาน “ทะเลสาบสงขลายั่งยืน” เพื่อสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชน ควบคู่ไปกับการปกป้อง ฟื้นฟู และอนุรักษ์ทรัพยากรทางธรรมชาติในทะเลสาบสงขลา

มูลนิธิฯ เดินหน้าแผนงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ทะเลสาบสงขลายั่งยืน ปี 2566 – 2568 มุ่งปกป้องและฟื้นฟูทะเลสาบสงขลา พัฒนาอาชีพประมงพื้นบ้านยั่งยืน และอนุรักษ์สัตว์ในทะเลสาบ ครอบคลุมทะเลสาบตอนบน ตอนกลาง และตอนล่าง ที่สำคัญ ทะเลสาบสงขลาถือเป็นทั้งแหล่งอาชีพและแหล่งอาหารที่สำคัญของชุมชนกว่า 4 แสนครัวเรือน มูลนิธิฯ จึงมีแผนสนับสนุนการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สร้างอาชีพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในอนาคต” นายจอมกิตติ กล่าว

ที่ผ่านมา มูลนิธิฯ มีการแลกเปลี่ยนทิศทางการขับเคลื่อนงานร่วมกับภาคีเครือข่ายหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม และชุมชน ได้แก่ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลหลวง พัทลุง-สงขลา ในการหาแนวทางอนุรักษ์ “โลมาอิรวดี” พร้อมทั้งส่งเสริมให้ชุมชนมีรายได้จากการท่องเที่ยว และสนับสนุนเด็กและเยาวชนลูกหลานชาวประมง สร้าง “มัคคุเทศก์น้อย” ผ่านหลักสูตร Thai Lagoon เพื่อปลูกฝังการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในทะเลสาบสงขลา และมีความภาคภูมิใจในบ้านเกิดของตนเอง พร้อมทั้งหารือร่วมกับสมาคมรักษ์ทะเลไทย ในการสนับสนุนการสร้างอาชีพยั่งยืน อาทิ การทำธนาคารกุ้งก้ามกรามเพื่อการเพิ่มพันธุ์สัตว์น้ำเศรษฐกิจ การเลี้ยงปลาในกระชังในพื้นที่ทะเลสาบสงขลา เพื่อส่งเสริมอาชีพและรายได้ และได้เข้าพบมูลนิธิพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศน์พื้นที่ทะเลสาบสงขลาตอนบน บริเวณชุมชนปากประ ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำสำคัญของโลก รวมถึงการอนุรักษ์ “ควายน้ำ” ระบบการเลี้ยงควายปลักพื้นที่ทะเลน้อย ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่มรดกโลกทางการเกษตรแห่งแรกของไทย

นอกจากนี้ มูลนิธิฯ ยังเข้าหารือสถาบันทักษิณคดีศึกษา สมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนจังหวัดสงขลา ในการร่วมมือด้านการท่องเที่ยวชุมชน การส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชน อาหารท้องถิ่น และเข้าศึกษาดูงานที่ศูนย์เรียนรู้วิถีชีวิตโหนด นา เล บ้านท่าหิน อ.สทิงพระ จ.สงขลา ต่อยอดการยกระดับผลิตภัณฑ์จากตาลโตนด พร้อมช่องทางการจำหน่ายเข้าสู่ตลาดโมเดิร์นเทรด โดยมีเป้าหมายขยายสู่กิจการเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise และ การพัฒนากลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มทำ “นาริมเล” บ้านปากประ ต.ลำปำ อ.เมือง จ.พัทลุง เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน