กรมทางหลวงชนบท(ทช.)ลุยก่อสร้างถนนสาย ข1 ผังเมืองรวมเมืองสมุทรปราการ ส่งเสริมการคมนาคมขนส่งสินค้าและการเดินทางระหว่าง กรุงเทพฯ -จ.สมุทรปราการ ให้สมบูรณ์ พร้อมรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคตได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ คืบหน้ากว่า 43 % เร็วกว่าแผน คาดแล้วเสร็จปี 67
กรมทางหลวงชนบท (ทช.) รายงานความคืบหน้าการดำเนินโครงการก่อสร้างถนนสาย ข1 ผังเมืองรวมเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ปัจจุบันมีความคืบหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 43 เร็วกว่าแผนที่กำหนดไว้ โดยในขณะนี้บางช่วงได้ดำเนินการปูผิวจราจร งานทางเท้า เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่แล้ว และบางช่วงอยู่ในขั้นตอนของการรื้อย้ายเสาไฟฟ้า งานถมขยายคันทาง งานรื้อผิวถนนเดิม และงานก่อสร้างขยายสะพานข้ามคลองชวดลากข้าว และคลองสิงห์โต ซึ่งโครงการดังกล่าวคาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี 2567 ต่อไป
จังหวัดสมุทรปราการมีพื้นที่ตั้งอยู่ติดกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมที่สำคัญ และเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทั้งทางน้ำและทางอากาศ ประกอบกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีหนังสือขอความอนุเคราะห์ให้ ทช. พิจารณาในการสนับสนุนการก่อสร้าง และขยายถนนสายกิ่งแก้ว – คลองสิงห์โต ทั้งนี้ เพื่อเชื่อมโยงระบบคมนาคมขนส่งสินค้าระหว่างกรุงเทพมหานคร และจังหวัดสมุทรปราการให้สมบูรณ์ สามารถรองรับการเจริญเติบโตของเมืองในอนาคตได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
โดยเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะเป็นอีกหนึ่งเส้นทางที่เชื่อมต่อระหว่างอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ กับเขตประเวศ กรุงเทพมหานคร (ระหว่าง ทล.3256 หรือถนนกิ่งแก้ว กับถนนวงแหวนรอบนอกตะวันออก) พร้อมทั้งยังเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมขนส่งสินค้านำเข้า – ส่งออกสู่สนามบินสุวรรรณภูมิให้มีความต่อเนื่องมากยิ่งขึ้น
ทช. จึงได้ดำเนินโครงการก่อสร้างถนนสาย ข1 ผังเมืองรวมเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ มีจุดเริ่มต้นบริเวณ กม.ที่ 0+000 เชื่อมจาก ทล.3256 (ถนนกิ่งแก้ว) ประมาณ กม.ที่ 17+090 ด้านซ้ายไปทางทิศตะวันตกตามแนวถนนคอนกรีตเดิม (สป.4008 หรือ ซอยกิ่งแก้ว 25/1) ตัดผ่านคลองชวดลากข้าว และคลองสิงห์โต มีจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณ กม.ที่ 1+925 บรรจบกับถนนของเขตประเวศ กรุงเทพมหานคร และเชื่อมต่อไปยังถนนวงแหวนรอบนอกตะวันออก รวมระยะทาง 1.925 กิโลเมตร โดยมีรูปแบบการก่อสร้างเป็นผิวจราจรขนาด 4 ช่องจราจร ความกว้างช่องจราจรละ 3.25 เมตร ทางเท้ากว้างข้างละ 3 เมตร ซึ่งตั้งแต่ช่วง กม.ที่ 0+000 ถึง กม.ที่ 0+100 ก่อสร้างเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก และช่วง กม.ที่ 0+100 ถึง กม.ที่ 1+925 ก่อสร้างเป็นผิวจราจรแอสฟัลท์ติกคอนกรีต พร้อมก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก จำนวน 2 แห่ง ติดตั้งระบบระบายน้ำ ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง และอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยตลอดสายทาง โดยใช้งบประมาณรวม 157.85 ล้านบาท