สตช.ห่วงบางพื้นที่เผชิญวิกฤติภัยซ้ำซากปีนี้ เหตุน้ำต้นทุนในเขื่อนลดน้อย หวั่นแรงงานยุค 4.0 มีหนาว ชี้อัตราว่างงานปี 59 อยู่ที่ 0.99% เผยแนวโน้มนายจ้างแห่พึ่งเทตโนแทนแรงงานมนุษย์ พนักงานแบงก์-ค้าปลีกจ่อตามรอย ย้ำยังมีอีกหลายกลุ่มตามเป็นพรวน แนะภาครัฐเร่งหามาตรการรองรับด่วน
นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาสที่ 4 และภาพรวมปี 2559 ว่า อัตราการว่างงานไตรมาสที่ 4 ปี 2559 อยู่ที่ 0.97% และทั้งปีอัตราว่างงานอยู่ที่ 0.99% คิดเป็นผู้ว่างงานจำนวน 377,466 คน เพิ่มสูงขึ้นจาก 0.88% ในปี 2558 โดยพบว่าในปี 2559 ผู้มีงานทำในภาคเกษตรลดลง 4.3% เนื่องจากผลกระทบจากภัยแล้งในช่วงปลายปี 2558 ถึงช่วงกลางปี 2559 และช่วงครึ่งหลังปี 2559 เกิดความเสียหายจากอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ส่งผลให้เกษตรกรต้องเลื่อนการเพาะปลูกออกไปกระทบถึงอัตราการว่างงานในเดือนม.ค.2560 ที่อัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.2% ขณะที่การจ้างงานนอกภาคเกษตรในปี 2559เพิ่มขึ้น 0.8% ในสาขาก่อสร้าง ขายส่งและขายปลีก และสาขาโรงแรมและภัตตาคาร
“แม้ปี 2560 สภาพอากาศได้คลี่คลายลง แต่จากปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในเดือนธ.ค.2559-ม.ค.2560 ทำให้เกิดความเสียหายกับประชาชนและเกษตรกร มีพื้นที่ปลูกพืชเสียหายจำนวน 1,095,302 ไร่ ด้านประมงจำนวน 96,114 ตารางเมตร และด้านปศุสัตว์รวม 8,882,014 ตัว ซึ่งจะต้องช่วยเหลือเยียวยาและฟื้นฟูที่ทำกินของเกษตรกรต่อไป และแม้ว่าในภาพรวมของปีนี้ปริมาณน้ำในเขื่อนทั้งประเทศที่เป็นน้ำต้นทุนสำหรับใช้ในฤดูแล้งปี 2560 จะมีปริมาณมากกว่าปี 2556 แต่ปริมาณน้ำในเขื่อนบางแห่งยังมีปริมาณน้ำน้อยกว่าปกติ เช่น เขื่อนลำปาว เขื่อนลำตะคอง เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งอาจจะส่งผลให้มีน้ำไม่พอใช้ในฤดูแล้งที่จะมาถึงนี้ในบางพื้นที่ ซึ่งภาครัฐจะต้องมีมาตรการไปดูแลเร้่งด่วน
นอกจากนี้ เลขาธิการสตช.ระบุเพิ่มเติมว่าภาพรวมการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)ภาคเกษตรในปีนี้คาดจะเป็นบวก เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรเริ่มดีขึ้น ตามสถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่ดีขึ้น ตามราคาน้ำมันที่สูงขึ้น โดยในเดือนม.ค.2560 ดัชนีผลผลิตทางการเกษตรขยายตัว 3.4% ดัชนีราคาขยายตัว 15.6% ส่งผลให้รายได้เกษตรกรในเดือนม.ค.ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 19.5% และทั้งปี 2560 คาดดัชนีผลผลิตภาคเกษตรจะขยายตัว 2-3% ดัชนีราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น 5-6% และรายได้เกษตรกรจะเพิ่มขึ้น 10% ถึงกระนั้น จะมีพื้นที่เกษตรบางส่วนได้รับผลกระทบจากภัยแล้งเพราะมีน้ำต้นทุนอยู่น้อยในบางเขื่อน
“ประเด็นที่น่่าจะเป็นห่วงและมีผลกระทบต่อการจ้างงานและรายได้ของแรงงานในอนาคตอีกด้าน ก็คือ การปรับตัวของตลาดแรงงานเข้าสู่ยุคดิจิทัล 4.0 ที่จะมีผลให้ผู้ประกอบการปรับตัวด้านต่างทั้งการนำเครื่องมือเครื่องจักรที่ทันสมัยมาใช้ในการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพและลดการใช้กำลังแรงงานคน รวมถึงด้านการเงิน การตลาด ที่สามารถเข้าถึงลูกค้าได้ง่าย สะดวก และไม่จำกัดเวลา สิ่งเหล่านี้จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงความต้องการของตลาดแรงงาน ทั้งเรื่องคุณสมบัติและผลตอบแทนของโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ”
อย่างไรก็ดี นายปรเมธี ย้ำอีกว่าเวลานี้ยังประเมินไม่ได้ว่าผลกระทบจากการปรับตัวเข้าสู่ยุค 4.0 ที่จะใช้เครื่องมือ เครื่องจักร ที่เป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่มาทดแทนแรงงานมนุษย์มากขึ้น ซึ่งจะมีผลกระทบต่อตลาดแรงงานจำนวนเท่าใด แต่เห็นเริ่มเห็นสัญญาณแล้วว่าทุกภาคส่วนต้องเตรียมตัวรับการเปลี่ยนแปลงเมื่อมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้มากขึ้นในอนาคต เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยเองก็ต้องวิเคราะห์และเตรียมตัวรองรับไว้ โดยเฉพาะผลกระทบต่อตลาดแรงงานภาคธนาคาร และธุรกิจค้าปลีก จะเป็นกลุ่มแรกๆที่มีผลกระทบ เห็นได้ชัดจากการที่ธนาคารไทยพาณิชย์ประกาศที่จะลดสาขาลง 40%ภายใน3-5 ปี และในอนาคตคาดยังจะกระทบอีกหลายด้าน เช่น รถยนต์ที่ไม่ใช้คนขับ การใช้โดรนในการขนส่ง คลังสินค้าอัจฉริยะ
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก http://infofedvr.com