DHL แหกกฎ ‘รูปแบบเดิมๆ’ ชูธง “ส่งถึงที่” สยายปีกรับอีคอมเมิร์ซบูม!

นับวันพฤติกรรมผู้บริโภคยิ่งเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วหลัง Digital Disruption เข้ามามีอิทธิพลต่อวิถีชีวิต เป็นอานิสงส์เบิกทางให้ “ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ”ในไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดด เห็นได้ชัดจากผลการสำรวจมูลค่าธุรกิจอีคอมเมิร์ซในไทยของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) พบว่านับตั้งแต่ปี 56 เป็นต้นมา

0
626

นับวันพฤติกรรมผู้บริโภคยิ่งเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วหลัง Digital Disruption เข้ามามีอิทธิพลต่อวิถีชีวิต เป็นอานิสงส์เบิกทางให้ “ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ”ในไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดด เห็นได้ชัดจากผลการสำรวจมูลค่าธุรกิจอีคอมเมิร์ซในไทยของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) พบว่านับตั้งแต่ปี 56 เป็นต้นมา มูลค่าอีคอมเมิร์ซในไทยมีมูลค่าสูงต่อเนื่อง และปี 59 พุ่งกระฉุดกว่า 12 % มูลค่ารวมสูงกว่า 5 หมื่นล้านบาท

ยิ่งเมื่อมัดรวมกับการเติบโตของ SMEs ที่ปัจจุบันมีมากถึง 2.7 ล้านผู้ประกอบการ เป็นแรงดีดให้ช่องทาง การค้าออนไลน์รุ่งโรจน์อย่างก้าวกระโดดและไม่มีท่าทีจะผ่อนแรงลง และเป็นแรงหนุนส่งต่อให้ “ธุรกิจขนส่งสินค้า” ในปัจจุบันพลอยได้รับอานิสงส์การเติบโตเข้าไปเต็มเปา เมื่อธุรกิจอีคอมเมิร์ซโตไม่หยุดฉุดไม่อยู่และพุ่งทะยานสูงขึ้นต่อเนื่อง ตลาดรวมก็ยิ่งเพิ่มมูลค้ามหาศาลงอกเงยเป็น “เค้กก้อนโต” กลายเป็นตลาดเนื้อหอมที่ใครต่อใครต่างต้องการคว้าไปครอง ทำให้ “รูปแบบการขนส่งสินค้า”ต้องฉีกแนวไปจากรูปแบบเดิมๆ เพื่อต้องตอบโจทย์ผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด

เมื่อตลาดใหญ่มีมูลค่าสูงและเติบโตต่อเนื่องก็ย่อมมีหลากหลายคู่แข่งร่วมแย่งเค้กก้อนโตเป็นเรื่องธรรมดา และยิ่งเป็นการโบกมือเรียกให้ผู้เล่นรายใหม่ที่มีความพร้อมในทุกด้านไม่ว่าไทยและเทศกระโจนร่วมวงไพบูลย์มากขึ้น ส่วนผู้เล่นรายเก่าจำเป็นต้องยอมปลดแอกแหกรูปแบบการบริการแบบเดิมเป็นรูปแบบใหม่ ที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ทั้งการขนส่งที่รวดเร็ว การรับประกันสินค้า การเช็คสถานะสินค้า การขนส่งที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ ฯลฯ ทำให้อุณหภูมิการแข่งขัน “ธุรกิจขนส่งสินค้าด่วน”ดุเดือดเข้มข้นเป็นเงาตามตัว

DHL บุกตลาดอีคอมเมิร์ซในไทย

เกียรติชัย พิตรปรีชา

เช่นเดียวกับ DHL กลุ่มบริษัทขนส่งผู้นำด้านการขนส่งด่วนและโลจิสติกส์ระดับโลกสัญชาติเยอรมันไม่ยอมปล่อยโอกาสทองฝัวเพชรให้หลุดมือ โดยส่ง ดีเอชแอล อีคอมเมิร์ซ ประเทศไทย เข้าประกวดและร่วมเซิ้งกลยุทธ์การตลาดกับค่ายอื่นๆหวังสร้างทางเลือกที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าในห้วงที่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซเบ่งบาน โดยหัวเรือใหญ่อย่างนายเกียรติชัย พิตรปรีชา กรรมการผู้จัดการ DHL eCommerce ประเทศไทย เปิดเผยกับ Logistics Time ว่ารอบ 2-3 ปีที่ผ่านมาธุรกิจอีคอมเมิร์ซในไทยมีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่สองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รองจากอินโดนีเซีย  มีอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดดและยังไม่มีท่าทีว่าอ่อนแรงแต่อย่างใด เมื่อปีที่แล้วโตกว่า 12 % โดยมีมูลค่าตลาดกว่า 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งมี และคาดการณ์ว่าจะโตต่อเนื่องจะโตขึ้นถึง 3 เท่า ที่มูลค่า 3,600 ล้านยูโร หรือประมาณ 140,000 ล้านบาทภายในปี พ.ศ. 2563

“เมื่อตลาดอีคอมเมิร์ซกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วนี้  ผู้บริโภคก็มีความต้องการเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ทั้งในเรื่องความคุ้มค่าและสมเหตุสมผลของราคาค่าบริการ รวมถึงคุณภาพของการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ ด้วยเหตุนี้เราจึงขยายการลงทุนพัฒนาการให้บริการในด้านต่างๆ เพื่อให้ DHL eCommerce ประเทศไทย เป็นตัวเลือกอันดับ 1 ของผู้บริโภคในประเทศไทย”

บริการ B2C ไปยังลูกค้าต่างประเทศโดยตรง

อย่างไรก็ดี กรรมการผู้จัดการ DHL eCommerce ประเทศไทย กล่าวอีกว่า DHL eCommerce เริ่มดำเนินธุรกิจในประเทศไทยเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2559 นำเสนอบริการจัดส่งสินค้าภายในประเทศแบบครบวงจร โดยการขยายเครือข่ายการกระจายสินค้าให้ครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคในประเทศด้วยบริการจัดส่งสินค้าถึงมือผู้รับภายในวันถัดไปสำหรับผู้บริโภคในพื้นที่ห่างไกลอื่นๆ รวมถึงการขยายบริการรับสินค้าถึงที่ให้กับผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซรายย่อยเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มมากขึ้น

“นอกเหนือจากการให้บริการด้านการจัดส่งสินค้าภายในประเทศ DHL eCommerce ยังช่วยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยขยายธุรกิจสู่ตลาดอีคอมเมิร์ซระหว่างประเทศ ด้วยบริการจัดส่งสินค้าระหว่างประเทศแบบ B2C ในราคาประหยัด การให้บริการด้าน fulfillment ที่คิดค่าใช้จ่ายตามการใช้งานจริง “เรามุ่งมั่นที่จะร่วมพัฒนาและสนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศไทยตามนโยบาย ‘ดิจิตอล ไทยแลนด์’ ของรัฐบาลที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2559 ซึ่งเป็นโอกาสสำหรับองค์กรธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มธุรกิจ SMEs ในการปรับเปลี่ยนการดำเนินงานและการให้บริการมาเป็นรูปแบบดิจิตอล”

 

หนุน SMEs ปลดล็อคคำว่า “เสียเวลารอนาน”

ส่วนกลยุทธ์ที่สร้างความแข็งแกร่งให้กับองค์กรนั้น นายเกียรติชัย ระบุว่าเรากำลังพัฒนาและเสริมสร้างเครือข่ายการจัดส่งสินค้าภายในประเทศของเราให้มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น เพื่อมอบบริการที่เหนือกว่าในพื้นที่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงฐานลูกค้าอีคอมเมิร์ซในต่างจังหวัดที่เพิ่มมากขึ้นได้อย่างทั่วถึงด้วยบริการที่มีมาตรฐานและคุณภาพ

“เราได้ขยายบริการด้านการรับสินค้าถึงที่ (pick-up service) สำหรับผู้ประกอบการทุกขนาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการ SMEs กว่า 2.7 ล้านรายในประเทศไทย ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการจัดส่งสินค้าให้ถึงมือผู้บริโภค โดยผู้ประกอบการไม่ต้องเสียเวลาเดินทางและรอเข้าคิวเพื่อจัดส่งสินค้าอีกต่อไป ทำให้มีเวลาในการพัฒนาและขยายธุรกิจให้เติบโตมากยิ่งขึ้น ในปีที่ผ่านมา DHL eCommerce ประเทศไทยได้ลงทุนในด้านบุคลากร การให้บริการ ศูนย์กระจายสินค้า ยานพาหนะในการจัดส่ง และเครือข่ายการกระจายสินค้าอย่างจริงจัง  DHL eCommerce มีศูนย์กระจายสินค้าขนาด 3,222 ตารางเมตรในกรุงเทพฯ และเครือข่ายศูนย์กระจายสินค้าย่อยทั่วประเทศไทยที่สามารถรองรับการจัดส่งสินค้ากว่า 15 ล้านรายการในแต่ละปี”

“อีกทั้งกลุ่มผู้ประกอบการยังสามารถใช้บริการเก็บเงินปลายทาง หรือ COD (Cash on Delivery) ซึ่งจะชำระเงินคืนเมื่อสินค้าส่งถึงมือผู้รับในแต่ละวัน รวมถึงศูนย์บริการลูกค้า (Call Center) ที่สามารถให้บริการได้หลากหลายภาษา และมีการบูรณาการระบบไอทีที่เข้าถึงได้ง่ายมารองรับการบริหารคำสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ ซึ่งเพิ่มความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการในการจัดเตรียมสินค้าก่อนการจัดส่งผ่านเครือข่ายการให้บริการของ DHL” กรรมการผู้จัดการ DHL eCommerce ประเทศไทย กล่าวปิดท้าย

เมื่อตลาดอีคอมเมิร์ซเบ่งบานไม่หยุด ผนวกกับหลากหลายผู้ประกอบการขนส่งด่วนน้อยใหญ่แห่ร่วมโม่แป้งกันอุตลุด ที่โชว์หมัดเด็ดและมอบการบริการที่ดีที่สุดหวังชิงสัดส่วนการตลาด ยิ่งเทรนด์การขนส่งสินค้าในอนาคตจะเปลี่ยนสู่การบริการที่ไร้ขอบเขตไร้กาลเวลา เมื่อถึงวันนั้นผู้เล่นในตลาดยิ่งขับเคี่ยวกันสุดมัน

สุดท้ายแล้วผู้ที่โชคดีที่สุดต้องยกให้กับ “ผู้บริโภค” ที่มีโอกาสได้เลือกการบริการที่ตอบจริตของตนได้มากที่สุด