ขนส่งฯเผยสถิติร้องเรียนรถสาธารณะในเขตกทม. 1 ต.ค.65 – 30 มิ.ย.66 ทั้งหมด 85,438 เรื่อง และได้ดำเนินการแก้ไขแล้วเสร็จ 78,254 เรื่อง (ร้อยละ 91.59%) ชี้ปฏิเสธไม่รับผู้โดยสารคือข้อหาที่มีการร้องเรียนมากที่สุด กำชับผู้ขับรถขนส่งและรถสาธารณะต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด หากพบทำผิดจนเกิดอุบัติเหตุร้ายแรง จะดำเนินการลงโทษผู้ฝ่าฝืนขั้นสูงสุดและมีโอกาสถูกพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับรถได้
นายเสกสม อัครพันธุ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก และโฆษกกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตามที่มีกระแสข่าวและภาพรถสาธารณะที่ให้บริการประชาชนทำผิดกฎหมายปรากฏบนสื่อสังคมออนไลน์หลายกรณี เช่น เก็บค่าโดยสารเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดโดยเฉพาะผู้โดยสารชาวต่างชาติ รถสาธารณะบรรทุกผู้โดยสารเกินจำนวนที่นั่ง พนักงานขับรถแสดงกิริยาวาจาไม่สุภาพ มีพฤติกรรมลามกอนาจารต่อผู้โดยสาร ฯลฯ กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ในฐานะหน่วยงานที่กำกับ ดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ขับรถโดยสารสาธารณะให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด สร้างพฤติกรรมการขับรถที่ถูกต้อง ลดพฤติกรรมเสี่ยงและกระทำผิด ได้ดำเนินการติดตามและตรวจสอบการปฏิบัติงานผู้ขับรถโดยสารสาธารณะอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งได้บังคับใช้กฎหมายกับพนักงานขับรถที่กระทำความผิดอย่างจริงจัง
ทั้งนี้ ขบ. ได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการช่วยแจ้งเบาะแสการกระทำความผิดของรถสาธารณะผ่านศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารรถสาธารณะ 1584 เพื่อช่วยกันพัฒนาระบบการให้บริการของรถสาธารณะให้มีความปลอดภัยมากขึ้น โดยระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2565 – 30 มิถุนายน 2566 มีเรื่องร้องเรียนในเขตกรุงเทพมหานครทั้งหมด 85,438 เรื่อง และได้ดำเนินการแก้ไขแล้วเสร็จ 78,254 เรื่อง (ร้อยละ 91.59%) แบ่งออกเป็นรถโดยสารสาธารณะตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ (รถแท็กซี่ รถสามล้อ รถสี่ล้อเล็ก รถจักรยานยนต์รับจ้าง ฯลฯ) 18,782 เรื่อง ดำเนินการแก้ไขแล้วเสร็จ 16,818 เรื่อง (ร้อยละ 89.54%) และรถโดยสารสาธารณะตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก (รถเมล์ รถมินิบัส รถตู้ รถสองแถว ฯลฯ) 12,772 เรื่อง ดำเนินการแก้ไขแล้วเสร็จ 10,528 เรื่อง (ร้อยละ 82.43%) สำหรับ 5 ข้อหาที่มีการร้องเรียนมากที่สุด ตาม พ.ร.บ. รถยนต์ ได้แก่ 1) ปฏิเสธไม่รับผู้โดยสาร 2) แสดงกิริยาวาจาไม่สุภาพ 3) ใช้รถผิดประเภท (ป้ายดำ) 4) ขับรถประมาทน่าหวาดเสียว 5) ไม่ส่งผู้โดยสารตามที่ตกลง และตาม พ.ร.บ. การขนส่งทางบก ได้แก่ 1) ขับรถประมาทน่าหวาดเสียว 2) ปฏิเสธ/ไม่หยุดรรับ – ส่งผู้โดยสารที่ป้าย 3) แสดงกิริยาวาจาไม่สุภาพ 4) สภาพรถไม่สมบูรณ์ (ควันดำ) 5) เก็บค่าโดยสารเกินอัตราที่กำหนด ทั้งนี้ มีเรื่องร้องเรียนรถอื่น ๆ และรถส่วนบุคคล 53,884 เรื่อง ดำเนินการแก้ไขแล้วเสร็จ 50,599 เรื่อง (ร้อยละ 94.00%)
รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวเพิ่มเติมว่า ขบ. ได้กำชับผู้ขับรถขนส่งและรถสาธารณะต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด หากพบพนักงานขับรถทำผิดจนเกิดอุบัติเหตุร้ายแรง จะดำเนินการลงโทษผู้ฝ่าฝืนขั้นสูงสุดและมีโอกาสถูกพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับรถได้ หากประชาชนพบปัญหาจากการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะสามารถแจ้งสายด่วน โทร. 1584 ตลอด 24 ชั่วโมง