มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย ฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ พร้อมด้วย วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ ศูนย์หัวใจสิริกิติ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมกับ บริษัทเอเอ็ม หุ่นซีพีอาร์ จำกัด ลงนามการถ่ายทอดทรัพย์สินทางปัญญามหาวิทยาลัยขอนแก่น “นวัตกรรมเพื่อชีวิต หุ่น CPR ยางพาราอัจฉริยะ ” CPRobot (ซี-โปร-บ็อท) : หุ่น CPR อัจฉริยะสำหรับเรียนรู้และ ฝึกฝนทักษะการช่วยฟื้นคืนชีพ โดยมี รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น นายอำนาจ เกิดอนันต์ กรรมการบริษัทเอเอ็ม หุ่นซีพีอาร์ จำกัด รศ.สิรภัทร เชี่ยวชาญวัฒนา คณบดีวิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ รศ.นพ.ภัทรพงษ์ มกรเวช ผู้อำนวยการศูนย์หัวใจสิริกิติ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผศ.สายยัญ สายยศ หัวหน้าโครงการฯ ณ ห้องประชุมสารสิน ชั้น 2 อาคารสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น
รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า CPRobot (ซี-โปร-บ็อท) : หุ่น CPR อัจฉริยะ นับเป็นผลงานอีกชิ้นของมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อช่วยให้ทุกคนสามารถช่วยเหลือผู้มีภาวะหัวใจหยุดเต้นมีชีวิตรอดได้และไม่เกิดภาวะสมองตาย ผู้ที่จะช่วยชีวิตต้องมีความรู้เรื่องของ CPR เพื่อให้ผู้ป่วย มีชีวิตรอด ซึ่งนวัตกรรมเพื่อชีวิต หุ่น CPR ยางพาราอัจฉริยะ CPRobot (ซี-โปร-บ็อท) : หุ่น CPR อัจฉริยะสำหรับเรียนรู้และฝึกฝนทักษะการช่วยฟื้นคืนชีพนี้ ถือเป็นความสำเร็จในการพัฒนานวัตกรรมด้าน Health AI ที่มีความสำคัญต่อประเทศไทย ซึ่งเกิดจากความร่วมมือจากหลายฝ่าย เช่น การนำวัสดุยางพาราทำเป็นหุ่น การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่สามารถประมวลผลได้ เป็นผลงานของวิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ และร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญทางด้านหัวใจ คือศูนย์หัวใจสิริกิติ์ และภาคเอกชนที่จะนำอุปกรณ์นี้ไปต่อยอดในการผลิต เพื่อช่วยให้ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นักศึกษา บุคลากร และประชาชนทั่วไป สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการช่วยเหลือในสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างดี รวมถึงสามารถผลักดันนวัตกรรมนี้เพื่อช่วยสังคม การต่อยอดเชิงนโยบายสุขภาพต่อไป
ทางด้าน รศ.สิรภัทร เชี่ยวชาญวัฒนา คณบดีวิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มข. กล่าวว่า “เป้าหมายของการสร้างหุ่น CPRobot คือ ทำให้บุคคลทั่วไป สามารถเรียนรู้และฝึกฝนทักษะการช่วยฟื้นคืนชีพที่ใดก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ฝึกสอน โดยสามารถวางหุ่น CPRobot (ซี-โปร-บ็อท) ในที่สาธารณะสามารถเข้าถึงได้ง่าย เช่น โรงเรียน อบต. สถานีขนส่ง เป็นต้น ทำให้ผู้คนสามารถเรียนรู้ และฝึกทักษะของตนเองจนเกิดความมั่นใจที่จะสามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้ อีกทั้งยังสามารถนำไปเป็นเครื่องมือฝึกสอนสำหรับผู้เรียนกลุ่มใหญ่ เช่น โรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย ศูนย์ฝึกทหาร เทศบาล เป็นต้น
ด้านนักวิจัย ผศ.สายยัญ สายยศ หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า“วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ ได้พัฒนาร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์ของศูนย์หัวใจสิริกิติ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในการให้องค์ความรู้ด้าน CPR ซึ่งหุ่น CPRobot (ซี-โปร-บ็อท) ถูกคิดค้นและพัฒนาด้วยแนวความคิดที่ว่า ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีผสานกับการใช้วัตถุดิบภายในประเทศ จึงเลือกใช้ยางพาราเป็นหุ่นต้นแบบ โดยได้รับความอนุเคราะห์จากศูนย์การเรียนรู้จากยางพาราจังหวัดของแก่น สำหรับการทำโมเดลหุ่น เพื่อทดสอบรุ่นแรก หุ่น CPRobot (ซี-โปร-บ็อท) ถูกคิดค้นพัฒนาทั้งทางด้านซอฟต์แวร์ และคอมพิวเตอร์ฮาร์ดแวร์ ซึ่งประมวลผลใน Single-board Computer ขนาดเล็ก เพื่อความสามารถในการประมวลที่ชาญฉลาด และรองรับความต้องการในอนาคต และทำงานร่วมกับอุปกรณ์ตรวจจับแรงกดที่ทางทีมพัฒนาขึ้น นอกจากนี้ ทางด้านซอฟต์แวร์ มีการคิดค้นอัลกอริทึม กระบวนการวิเคราะห์สัญญาณ (Signal Processing) และการเรียนรู้ของเครื่อง เพื่อความสามารถในการโต้ตอบ และตอบสนองกับผู้ใช้งานได้อย่างอัตโนมัติและมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ CPRobot (ซี-โปร-บ็อท) มีขีดความสามารถในการรองรับการประมวลผลที่หลากหลาย ตามความต้องการของตลาด ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตผลงานชิ้นนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าหากไม่ได้รับความสนับสนุน จากคณาจารย์ จากวิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ และองค์ความรู้ที่สำคัญจากบุคลากรทางการแพทย์
ส่วน รศ.นพ.ภัทรพงษ์ มกรเวช ผู้อำนวยการศูนย์หัวใจสิริกิติ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า การช่วยฟื้นคืนชีพหรือ CPR ไม่ใช่เป็นหน้าที่เฉพาะของบุคลากรทางการแพทย์ การช่วยฟื้นคืนชีพที่รวดเร็วในขณะที่เกิดหัวใจหยุดเต้นทันทีในที่เกิดเหตุ มีความสำคัญต่อผู้ป่วยอย่างยิ่ง เพราะสมองสามารถทนการขาดออกซิเจนไปเลี้ยงสมองได้เพียง 4 นาที การที่จะทำให้มีออกซิเจนไปเลี้ยงสมองได้ทันในช่วงเวลานี้ ถือเป็นความสำคัญอย่างยิ่งยวด ดังนั้นการสอนให้ประชาชนสามารถทำ CPR ได้ ถือเป็นภารกิจสำคัญ ที่จะสร้างสังคมแห่งความปลอดภัยขึ้นมาได้ การสร้างนวัตกรรมหุ่น CPRobot (ซี-โปร-บ็อท) : หุ่น CPR อัจฉริยะสำหรับเรียนรู้และฝึกฝนทักษะการช่วยฟื้นคืนชีพ จะทำให้เกิดการเรียน การฝึกฝนในการทำ CPR ให้แพร่หลาย ก่อให้เกิดสังคมที่มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น หวังว่านวัตรกรรมนี้จะนำไปสู่การที่ประชาชนสามารถที่จะ CPR ได้อย่างถูกต้อง เพื่อที่จะเกิดสังคมที่ปลอดภัยต่อไป ทั้งนี้ ศูนย์หัวใจสิริกิติ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และคณะแพทยศาสตร์ จะต่อยอดนำไปฝึกอบรม การทำ CPR ให้แก่นักศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น และโรงเรียนรอบข้าง ในจังหวัดขอนแก่น และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
และนายอำนาจ เกิดอนันต์ กรรมการบริษัทเอเอ็ม หุ่นซีพีอาร์ จำกัด กล่าวในท้ายที่สุดว่า บริษัท เอเอ็ม หุ่นกู้ชีพซีพีอาร์ นำนวัตกรรมนี้ มาพัฒนาและต่อยอดและสื่อสารให้กับประชาชน และหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนได้รับรู้ว่า ปัจจุบันได้มีนวัตกรรมอันล้ำเลิศของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ออกสู่สายตาและการรับรู้ของประชาชนว่า พวกท่านเหล่านั้น สามารถเรียนรู้วิธีปฏิบัติในการช่วยเหลือและกู้ชีพคนได้อย่างถูกต้อง ในการทำพีซีอาร์ เพื่อช่วยชีวิตคน บริษัท หวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะได้ส่งต่อผลงานวิจัยนี้ ผ่านผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่ากับชีวิตของประชาชนคนไทย และต่างประเทศ ขอขอบคุณ ทีมผู้บริหารและทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ช่วยสนับสนุนด้วยดีตลอดมา ซึ่งหลังจากนี้คงจะได้ร่วมมือกัน เพื่อพัฒนานวัตกรรม หุ้นกู้ชีพซีพีอาร์ ให้ล้ำหน้าไปกว่าเดิม และผลักดันออกสู่ตลาด เพื่อที่ประชาชนจะได้รับรู้ว่า นวัตกรรมของคนไทย และมหาวิทยาลัยขอนแก่นนั้น ไม่แพ้ชาติใดในโลก”