โอสถทิพย์ ม.44 จากการรถไฟสู่ “บินไทย” บทสะท้อนวังวนผลประโยชน์มหาศาล!

จ่อระอุแดดขึ้นมาอีกหน่วยงาน!กับเรื่องที่กลุ่มธรรมาภิบาล เครือข่ายพนักงานการบินไทย จิตอาสาต้านโกง พร้อมตัวแทนประชาชนผู้ถือหุ้นการบินไทยลุกฮือเข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีขอให้ใช้ ม.44 แก้ไขปัญหาคอร์รัปชันหมักหมมภายในหน่วยงานการบินไทยนี้ เช่นเดียวกับการปลดล้างบางบอร์ดและผู้บริหารการรถไฟก่อนหน้า

0
1478
จ่อระอุแดดขึ้นมาอีกหน่วยงาน!
กับเรื่องที่กลุ่มธรรมาภิบาล เครือข่ายพนักงานการบินไทย จิตอาสาต้านโกง พร้อมตัวแทนประชาชนผู้ถือหุ้นการบินไทยลุกฮือเข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีขอให้ใช้ ม.44 แก้ไขปัญหาคอร์รัปชันหมักหมมภายในหน่วยงานการบินไทยนี้ เช่นเดียวกับการปลดล้างบางบอร์ดและผู้บริหารการรถไฟก่อนหน้า 
รวมทั้งขอให้นายกฯใช้ ม.44 กำกับดูแลการจัดซื้อจัดจ้างของการบินไทยฯทั้งระบบ พร้อมกับชี้ให้เห็นบรรดาโครงการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ ภายในการบินไทยที่ยังคงไม่สามารถชี้แจงความกระจ่างแก่สังคมได้ อาทิการจัดหาเครื่องบิน Airbus A340-500 การปรับเปลี่ยนฝูงบินตามแผนระยะยาวปี 2554-2565 จำนวน 75 ลำ การดัดแปลงเครื่องบินโดยสาร Boeing 747 เป็นเครื่องบินบรรทุกสินค้า การจัดตั้งสายการบินร่วมทุนนกสกู๊ต ในปี 2557 การว่าจ้างที่ปรึกษาต่างประเทศในปี 2557 จนถึงปัจจุบัน หรือแม้แต่กรณีสินบนโรลส์-รอยซ์ อื้อฉาวก่อนหน้านี้
เนื้อในของการบินไทยนั้นมีการทุจริตเกิดขึ้นทุกซอกทุกมุมของ การออกนโยบายของการบินไทยฯก็ไม่ได้ตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาหมักหมมมเหล่านี้ส่งผลให้ประชาชนทั่วไปมองว่าการบินไทยคือ แหล่งกอบโกยผลประโยชน์ของฝ่ายที่มีอำนาจทางการเมืองเท่านั้น กลายเป็นสมบัติผลัดกันชม ไม่มีการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง”
ไม่แปลกใจเลยที่เครือข่ายพนักงานบินไทยจิตอาสาต้านโกงจะออกโรงกระทุ้งให้นายกฯและหัวหน้าคสช.ได้งัด ม.44 ขึ้นผ่าตัดปัญหาหมักหมมภายในการบินไทยขนานใหญ่ เพราะวันนี้ก็เห็นได้ชัดว่าทั้งบอร์ดและฝ่ายบริหารบินไทยได้แสดงออกถึงพฤติกรรมลับลมคมใน และพยายามสร้างอาณาจักรที่ยากที่ใครจะล้วงลูกเข้ามาตรวจสอบได้
ไม่ต้องดูอื่นไกล แค่กระบวนการสรรหากรรมการผู้อำนวยการใหญ่หรือ “ดีดี”คนใหม่ แทนนายจรัมพร โชติกเสถียร ที่หมดวาระลงไปก่อนหน้านั้นก็ส่อแววฉ้อฉลกเห็นได้ชัด บอร์ดการบินมีการเล่นเกมฮั้วการสรรหาหวังจะเอาเด็กในคาถาสืบทอดเพื่อสร้างอาณาจักร จนกระบวนการสรรหาส่อจะยืดเยื้อ โดยไม่สนใจธรรมาภิบาลหรือความเสียหายที่มีต่อบริษัทและผู้สมัครคนอื่นๆ  ส่อให้เห็นถึงขบวนการเบื้องหลังชักใยหวังผลประโยชน์ ทั้งที่วันนี้การบินไทยต้องเน้นทุ่มเทบริหารแก้ปัญหาการบินไทยที่อยู่ในสภาวะใกล้ล้มละลายอยู่รอมร่อ จนรัฐบาลต้องเอาภาษีประชาชนทั้งประเทศมาอุ้มอย่างต่อเนื่อง จนพนักงาน สหภาพ ฮึ่มๆ หลายต่อหลายครั้งแล้ว แต่ก็ไม่แยแส
แม้บอร์ดบินไทยจะตั้งคณะกรรมการสรรหาที่มี นายสมชัย สัจจพงศ์ ปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน เพื่อดำเนินการสรรหาดีดีใหม่ที่ว่าตั้งแต่เดือนกันยายน 59 เพื่อให้มีเวลาพอที่จะแต่งตั้งคนใหม่ทันส่งไม้กับคนเดิมได้อย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อถึงเวลากลับมีขบวนการเล่นพรรคเล่นพวกภายในเพื่อหวังผลักดันเด็กในคาถาขึ้นมาสืบทอดตำแหน่ง  จึงทำให้กระบวนการสรรหาส่อยืดเยื้อจนนายจรัมพรเกษียณไปแล้ว ต้องแต่งตั้งนางอุษณีย์ แสงสิงแก้ว มารักษาการดีดีบินไทยพร้อมแต่งตั้งนายจรัมพรกลับเข้ามาเป็นที่ปรึกษาและอนุกรรมการวางยุทธศาสตร์ให้กับบริษัท ทั้งยังมีการเดินเกมให้ผู้สมัครที่อยู่ในเครือข่ายถอนตัวจากการสมัครเข้ารับการสรรหาเพื่อแต่งตั้งเข้ามาเป็นบอร์ดคุมกระบวนการสรรหาดีดีคนใหม่ด้วยอีก
จึงไม่แปลกใจที่วันนี้ทั้งสหภาพการบินไทยและเครือข่ายคนบินไทยถึงได้ออกโรงให้นายกฯ ล้วงลูกใช้ ม.44 ล้างบางทั้งบอร์ดและฝ่ายบริหารยกกระบิ เพราะแค่การสรรหาดีดีบินไทยคนใหม่ก็เต็มไปด้วยความอึมครึมอื้อฉาวกันเสียขนาดนี้แล้ว แล้วจะไปเพรียกหาธรรมาภิบาลหรือการปฏิรูปอะไรเอาจากองค์กร!
ทั้งนี้ การบินไทยประกาศรับสมัครดีดี 15 กันยายน ถึง 31 ตุลาคมโดยมีผู้สมัครยื่นเอกสารถึง 6 คน แต่ยังไม่ทันที่คณะกรรมการสรรหาจะได้พลิกดูแฟ้มและโปรไฟล์ผู้สมัครใด ๆ วิ่งโร่ขอขยายเวลารับสมัครออกไปในทันที ด้วยเหตุที่มีการแฉโพยกันเป็นการภายในว่าเพราะ “เด็กปั้น”ในคาถาที่เครือข่ายที่กุมผลประโยชน์ทั้งหลายทั้งปวงในการบินไทยที่หมายมั่นปั้นมือจะให้สืบทอดเกิดไปยื่นสมัครเอาวันสุดท้ายแถมยังส่งเอกสารไม่ครบทำให้ตกคุณสมบัติไปในทันที  จึงจำเป็นต้องร้องขอขยายเวลารับสมัครออกไปอีก 1 เดือน ด้วยข้ออ้างเหตุผลดื้อๆว่าเพื่อประโยชน์ต่อการบินไทย ทั้งที่หากพิจารณาชื่อชั้นของผู้สมัครคนอื่น ๆ ในเวลานั้นแต่ละคนมีความเป็นมืออาชีพไม่ได้ด้อยไปกว่าคนในการบินไทยที่ว่านี้แม้แต่น้อยไม่ว่าจะ เป็นอดีตเลขาธิการ กบข. อดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ทีโอที อดีตผู้ว่าการ รฟม. เป็นต้น  
หลังการขยายเวลา ปรากฏมีผู้มาสมัครเพิ่มเข้ามา 3 คน คือผู้ปั้นที่คนกลุ่มนี้หมายมั่นปั้นมือเอาไว้กับเพื่อนในกลุ่มที่นัยว่าหาใช่ใครอื่นก็ล้วนสมัครพรรกพวกที่สมัครเข้ามาเป็น “พระอัดดับ”ไม่ให้น่าเกลียดเท่านั้น  และเป็นทางเผื่อให้เป็นผู้สมัครตัวสำรอง กรณีหากผู้สมัครเด็กปั้นผิดพลาดขึ้นมา เพราะที่ผ่านถูกร้องเรียนและต่อต้านจากคนการบินไทยพะรุงพะรังไปหมด จนเป็นสาเหตุที่ทำให้การสรรหาต้องยืดเยื้อต่อไปอีกหลายเดือน โดยอ้างการตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครยังไม่แล้วเสร็จ ทั้งที่ในอดีตช่วงดำเนินการสรรหาดีดีรัมพรนั้น ขณะนั้นมีผู้สมัคร 4 คน ผ่านคุณสมบัติ 2 คน บอร์ดสรรหาก็เดินหน้าสัมภาษณ์แล้วรับเลย ไม่มีการต้องเที่ยวส่งเรื่องไปตีความไหนต่อไหนดังที่เป็นอยู่
ครั้งนี้มีผู้สมัครผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติกว่า 5 คน สะท้อนถึงความไม่โปร่งใส มีขบวนการเบื้องหลังที่จะเอาเด็กเส้นให้ได้ ไม่สนใจผลกระทบที่จะตามมา หากได้เป็นดีดีจริงก็อาจเผชิญปัญหาการร้องเรียนและการบริหารงานอย่างมาก สร้างความเสี่ยงและปัญหาให้บริษัทวุ่นวายเสียหายอีกมากโดยไม่จำเป็น แทนที่จะเอาคนที่คลีนๆ และทำลายเจตจำนงของกระบวนการสรรหาที่จะเปิดกว้างเพื่อให้มีตัวเลือกดีที่สุด กลับกลายเป็นแค่เล่นปาหี่เพื่อให้ผ่านกฎระเบียบได้เท่านั้น
ในเบื้องลึก การส่งตีความต่อเป็นเกมหลอก ปัญหาหลักคือเด็กเส้นมีข้อครหาหลายข้อ เช่น กรณีถูกร้องเรียนที่ปปช.ข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ที่กำลังแก้เกมให้เปลี่ยนความผิดมาที่นายจรัมพร ในฐานะคนเซ็นอนุมัติเป็นคนผิด คนขออนุมัติไม่ผิด และมีกรณีการถูกแต่งตั้งเป็นตำแหน่งรองฯด้านการเงิน(ซีเอฟโอ)โดยมิชอบ ผิดระเบียบ เพราะการจะเป็นพนักงานและผู้บริหาร จะต้องอยู่ในโครงสร้างและกระบอกเงินเดือน แต่ปรากฏว่า นายคนนี้ (และอีกหลายคนที่นายจรัมพรและบอร์ดแต่งตั้ง) ได้เงินเดือนสูงเกินกว่าที่ควรจะเป็นถึง 3 เท่า จึงไม่ใช่พนักงานและผู้บริหาร ที่ผ่านมาผิดหมด เรื่องก็ถูกร้องเรียนเป็นคดีด้วย
การที่มีการทุ่มเทมากมายเพื่อช่วยเด็กเส้นให้ได้ สะท้อนว่าต้องมีขบวนการที่จัดกลุ่มกันแข็งแรง ที่มีแผนผลประโยชน์ขนาดใหญ่เป็นเดิมพัน จึงต้องเอาเด็กเส้นตามแผนให้ได้ เพราะเด็กเส้นไม่มีความสามารถหรือผลงานดีเด่นใด ๆ เป็นเพียงตำแหน่งรองฯในธนาคารขนาดเล็ก เป็นนักการเงิน ไม่มีประสบการณ์บริหารองค์กร งานการตลาด หรือธุรกิจสายการบิน (นายจรัมพรเป็นคนรับมา เพราะอดีตที่เคยทำงานอยู่ธนาคารเดียวกัน) ในช่วงอยู่การบินไทยปีกว่าก็ไม่ได้สร้างผลงานดี มีแต่สร้างปัญหาการทำงาน ทะเลาะสร้างความแตกแยกไปทั่วจนเกิดความรังเกียจต่อต้าน
ขบวนการนี้ยังสร้างเครือข่ายอีกหลายขั้น เช่น นายจรัมพรที่เกษียณไปแล้ว โดยหลักการควรพ้นจากทุกตำแหน่ง แต่บอร์ดกลับตั้งเป็นที่ปรึกษาและอนุกรรมการต่อ ขัดกับหลักการบรรษัทภิบาลและการกำกับดูแลกิจการที่ดี ที่ควรเลี่ยงไม่ตั้งอดีตผู้บริหารที่เพิ่งจะหมดวาระกลับมากเป็นบอร์ด เพราะจะเสี่ยงเป็นกรณีสร้างอาณาจักร (ช่วงเป็นผู้บริหารก็ตั้งพวกตัวเอง แล้วพอออกก็ไปเป็นบอร์ดเพื่อคุมหรือเดินเรื่องเก่าของตนต่อได้ หรือปิดบังแผลหรือปัญหาอดีตของตนได้) รวมถึงการเอาผู้สมัครสำรองของแก๊งค์ตัวเองคือ นางปรารถนา ที่ก็มีปัญหาขัดคุณสมบัติ หมดสิทธิ์อยู่แล้ว ให้ถอนตัวสรรหาเพื่อตั้งมาเป็นบอร์ด สะท้อนถึงความเชื่อมโยงของขบวนการนี้ชัดเจน
ยิ่งกว่านั้น ช่วงนี้การบินไทยกำลังจะเสนอแผนการจัดซื้อเครื่องบินล็อตใหญ่ร่วม 3 แสนล้านบาท แต่ชะลอไปบ้างเพราะกระแสข่าวเรื่องสินบนโรลส์-รอยซ์และพนักงานเดินขบวนเปิดโปงต่อต้าน ว่ามีเบื้องหลัง แสดงว่าผลประโยชน์ขบวนการนี้ต้องไม่ธรรมดาอย่างมาก เกินระดับบอร์ดไปไกล ถึงคนในกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่และเป็นผู้เสนอตั้งบอร์ด และรัฐบาลในสายเศรษฐกิจที่กำกับดูแล
การบินไทย จากที่เคยเป็นรัฐวิสาหกิจที่ใหญ่และมีกำไรที่สุด มีชื่อเสียงระดับสากล พนักงานภาคภูมิใจ วันนี้อยู่ในสภาพตกต่ำที่สุด ทั้งที่ธุรกิจสายการบินก็เติบโตมาก รายอื่นกำไรมากมาย ถึงแม้จะแข่งขันสูง การบินไทยขาดทุนเรื้อรังหลายปี ขาดทุนสะสมร่วม 7 หมื่นล้านบาท หนี้สิน 3 แสนล้านบาท อัตราส่วนหนี้ต่อทุน (ดีอีเรโช) ขึ้นเป็นเกือบ 10 เท่า จ่อล้มละลายอยู่รอมร่อ เครดิตต่ำมาก กู้ธนาคารไม่ได้ ต้องให้คลังมาค้ำหรือรับซื้อตราสารหนี้เพื่อต่ออายุ รัฐบาลต้องเอาภาษีประชาชนมาอุ้มอย่างต่อเนื่อง พนักงานเสียขวัญกำลังใจเพราะไม่ได้ขึ้นเงินเดือนและโบนัสหลายปี ยิ่งเห็นบอร์ดเป็นแบบนี้ ยิ่งท้อถอย ประสิทธิภาพตก รั่วไหล คนดีอยู่ไม่ได้ จนหนีไปอยู่กับสายการบินคู่แข่งจำนวนมาก
ในสถานการณ์แบบนี้ จากที่มีปัญหาหมักหมามากมานาน แก้ยากอยู่แล้ว จึงควรตั้งใจสรรหามืออาชีพจริง ๆ และให้สมเจตนากฎหมายในการสรรหาเปิดกว้าง แต่ก็กลับมีขบวนการเล่นพรรคเล่นพวกเพียงเพื่อสนองผลประโยชน์  แน่นอนหากที่มาของ “ดีดีบินไทยคนใหม่” เต็มไปด้วยความไม่โปร่งใส ตัวเองเข้ามาอย่างไม่สง่างามตั้งแต่ต้นเช่นนี้ กระทรวงการคลังและคมนาคมยังจะคาดหวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากพนักงานและฝ่ายบริหารการบินไทยได้อยู่อีกหรือ?
ก็คงด้วยเหตุนี้วันนี้กลุ่มธรรมาภิบาล พนักงานการบินไทยจึงลุกฮือขึ้นเรียกร้องให้นายกฯใช้ ม.44 ล้างบางขบวนการผลประโยชน์ รวมถึงรุกไล่ให้ปรับเปลี่ยนบอร์ดเช่นเดียวกับที่นายกฯล้างบางบอร์ดและฝ่ายบริหารรถไฟก่อนหน้านี้ โดย ไม่ปล่อยให้ดันทุรังบริหารงานผิดๆ 3 ปีที่ผ่านไม่ได้มีผลงานดี ๆ เลย
หากย้อนผลงานของการบินไทยในช่วงที่ผ่านมา แม้ฝ่ายบริหารจะตีปี๊บความสำเร็จของการฟื้นฟูกิจการตามแผนฟื้นฟูกิจการที่ได้ยื่นต่อซูเปอร์บอร์ดและกระทรวงการคลัง แต่หากพิจารณาเนื้อแท้ของการดำเนินงานและผลประกอบการแล้วเรากลับพบว่า  ปี 2558 การบินไทยมีรายได้ตรง 1.83 แสนล้านบาท ค่าใช้จ่าย 2.07 แสนล้านบาท ขาดทุนถึง 2.4 หมื่นล้านบาท แต่ไปอ้างรายได้อื่น (เช่นดอกเบี้ย ฯลฯ) 9.86 พันล้านบาท บวกหักขาดทุนสะสมของปีก่อนๆอีก 1.07 พันล้านบาท จึงเหลือขาดทุนสุทธิ 1.3 หมื่นล้านบาท
ปี 2559 มีรายได้ตรง 1.78 แสนล้านบาท ค่าใช้จ่าย 1.83 แสนล้านบาท ขาดทุน5 พันล้านบาท แต่ไปอ้างรายได้อื่น 1.3 พันล้านบาท บวกหักขาดทุนสะสมอีก 1.4 พันล้านบาท เหลือกำไรน่าสมเพชอยู่ราว 46 ล้านบาทเท่านั้น และค่าใช้จ่ายที่ลดลงมาก เกิดจากโชคดีราคาน้ำมันลด ยอดขายลด แต่รายได้จากการขายทรัพย์สินมาช่วย และจากการแต่งบัญชีโยกย้ายตัวเลข (เช่น โยกเอารายจ่ายปีนี้ไปใส่ปีหน้า เพื่อให้ปีนี้ดูดี) แต่การดำเนินงานในเชิงพื้นฐานจริง ๆ และความสามารถในการแข่งขันสร้างรายได้ปรับปรุงน้อยมาก หรือยังแย่ลงด้วย แล้วยังแก้ปัญหาวิธีผิดๆ เช่น นายจรัมพรไปรับคนนอกเพื่อมาเป็นกองกำลังของตน ชนกับผู้บริหารและพนักงานเดิม ที่กินเงินเดือน 5-6 แสนขัดแย้งกับระดับรองฯลูกหม้อที่มีฐานเงินเดือนแค่ 1 ใน 3 และจ้างที่ปรึกษาฝรั่งแพง เดือนละ 1.5  ล้านบาท จ้างบริษัทที่ปรึกษาฝรั่งทำแผนปฏิรูปใช้เงินกว่า 600 ล้านบาท และทำแผนปรับปรุงบริการ ใช้เงินกว่า 1000 ล้านบาท แล้วได้ผลไม่คุ้มค่าหรือแย่กว่าเดิม ทั้งที่ผู้บริหารและพนักงานเดิมก็มีความรู้ประสบการณ์ทำได้เกินพออยู่แล้ว แต่กลับดูถูกและข้ามหัว และแค่สรรหาดีดีล่าช้าเกิน 6 เดือนและฉาวโฉ่แบบนี้ ก็ควรถูกปลดได้อยู่แล้ว
คสช. อ้างเข้ามาปราบโกงรัฐบาลก่อน แต่รัฐวิสาหกิจในสมัยตนกลับมีข่าวโกงมากมาย และสรรหาผู้บริหารก็ฉาวโฉ่ขนาดนี้ หากปล่อยให้ขบวนการนี้สูบเลือดและสร้างความเสียหายการบินไทยต่อไป ก็โทษใครไม่ได้นอกจากโทษตัวเองแล้ว