การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กระทรวงคมนาคม ร่วมกับ ที่ปรึกษาบริหารโครงการและควบคุมการก่อสร้างโครงการฯ (PCYL) วิศวกรอิสระ (ICE) และ บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM) ผู้รับสัมปทาน โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง ลงพื้นที่สำรวจความเรียบร้อยของสถานีต่างๆ ประกอบการพิจารณาเพื่อขยายระยะทางและขยายช่วงเวลา ที่จะเปิดให้ประชาชนได้เข้าร่วมทดสอบการเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) เพิ่มเติม
รฟม. ได้มีการติดตามประเมินผลการให้ประชาชนร่วม Trial Run รถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง (MRT สายสีเหลือง) จำนวน 13 สถานี รวมถึงสถานีอื่นๆ ทั้งหมดของโครงการมาอย่างต่อเนื่อง และกำชับให้ผู้รับสัมปทานดำเนินการปรับปรุงแก้ไขในประเด็นต่างๆ ตามความเห็นของ รฟม. และที่ปรึกษาฯ อย่างเร่งด่วน จนกระทั่งทุกฝ่ายได้มีความเห็นสอดคล้องกันแล้วว่า ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 12 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไป รถไฟฟ้า MRT สายสีเหลือง จะสามารถขยายระยะทางให้ประชาชนร่วม Trial Run เพิ่มเติมอีก 9 สถานี จากเดิมบนแนวถนนศรีนครินทร์ ไปจนถึงแนวถนนลาดพร้าวได้ ดังนี้
– สถานีภาวนา
– สถานีโชคชัย 4 เปิดใช้เฉพาะทางเข้า-ออก 2 (ซอยลาดพร้าว 55) และทางเข้า-ออก 3 (ซอยลาดพร้าว 58)
– สถานีลาดพร้าว 71 เปิดใช้เฉพาะทางเข้า-ออก 1 (โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา) ทางเข้า-ออก 3 (ซอยลาดพร้าว 84) และทางเข้า-ออก 4 (ซอยลาดพร้าว 80/3)
– สถานีลาดพร้าว 83
– สถานีมหาดไทย ที่ทางเข้า-ออก 2 (โรงพยาบาลลาดพร้าว) เปิดใช้เฉพาะบันได
– สถานีลาดพร้าว 101
– สถานีบางกะปิ เปิดใช้เฉพาะทางเข้า-ออก 1 (ซอยลาดพร้าว 113) ทางเข้า-ออก 2 (ซอยลาดพร้าว 115) และทางเข้า-ออก 4 (ซอยลาดพร้าว 142)
– สถานีแยกลำสาลี
– สถานีศรีกรีฑา
ซึ่งเป็นเส้นทางต่อเนื่องมาจากช่วง 13 สถานี ที่เปิดให้ทดลองใช้เดิม ได้แก่ สถานีหัวหมาก (เปิดใช้เฉพาะทางเข้า-ออก 2 (สี่แยกพัฒนาการ) และทางเข้า-ออก 3 (ซอยศรีนครินทร์ 16)) สถานีกลันตัน สถานีศรีนุช สถานีศรีนครินทร์ 38 สถานีสวนหลวง ร.9 สถานีศรีอุดม สถานีศรีเอี่ยม สถานีศรีลาซาล สถานีศรีแบริ่ง สถานีศรีด่าน สถานีศรีเทพา สถานีทิพวัล และสถานีสำโรง รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 22 สถานี โดยพร้อมกันนี้ จะขยายช่วงเวลาให้บริการเป็นระหว่างเวลา 06.00 น. – 20.00 น. เพื่อรองรับความต้องการเดินทางในช่วงเร่งด่วนเช้าและเย็นของประชาชนด้วย คงเหลือเพียงสถานีลาดพร้าว ที่ผู้รับสัมปทานยังอยู่ระหว่างปรับสภาพทางเท้าและถนนบริเวณโดยรอบให้มีความปลอดภัย ซึ่ง รฟม. ตั้งเป้าหมายจะให้รถไฟฟ้า MRT สายสีเหลือง สามารถเปิดให้ประชาชนร่วม Trial Run ได้ครบตลอดสาย จำนวน 23 สถานี รวมระยะทาง 30.4 กิโลเมตร โดยเร็วที่สุด
ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง ถือเป็นหนึ่งในโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในความรับผิดชอบของ รฟม. ที่ได้รับการออกแบบให้เป็นระบบขนส่งมวลชนระบบรอง (Feeder Line) ที่จะใช้ขนส่งผู้โดยสารจากพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ และพื้นที่บางส่วนในจังหวัดสมุทรปราการ เข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายหลักอื่นๆ โดยมีอาคารจอดแล้วจรให้บริการได้บริเวณสถานีศรีเอี่ยม และสถานีลาดพร้าว
สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์รถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง MRT Yellow Line Call Center โทร. 0 2617 6111 Line Official: @pinkyellowline เว็บไซต์ www.ebm.co.th หรือเฟซบุ๊กแฟนเพจ YellowLineofficial และติดตามรายละเอียดและข้อมูลข่าวสาร รฟม. ได้ที่เว็บไซต์ รฟม. www.mrta.co.th และเฟซบุ๊กแฟนเพจการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ Call Center รฟม. โทร. 0 2716 4044