“Bualuang Save the Earth: รักษ์ท่าจีน” ชวนลดขยะในแม่น้ำท่าจีน ก่อนไหลลงทะเล

0
99

ธนาคารกรุงเทพ เปิดโครงการ “Bualuang Save the Earth: รักษ์ท่าจีน” เดินหน้ามาตรการลดปริมาณขยะในแม่น้ำท่าจีน ก่อนไหลลงทะเล เตรียมติดตั้งทุ่นกักขยะ พร้อมแผนจัดการขยะในชุมชนริมคลองมหาชัย เน้นแก้ปัญหาครบวงจร-เพิ่มการมีส่วนร่วม-สร้างรายได้ให้ชุมชน สานต่อตามเจตจำนงร่วมมือภาครัฐ-เอกชน จัดการขยะทะเลอย่างเป็นรูปธรรม ยึดมั่นแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน เล็งต่อยอดโปรโมทโครงการ เป็น “เพื่อนคู่คิด” หนุนสร้างจิตสำนึกอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพลังงานในวงกว้าง

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ และเลขานุการบริษัท ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในโอกาส “วันทะเลโลก” ประจำปี 2566 ธนาคารกรุงเทพได้เปิดตัวโครงการ “Bualuang Save the Earth: รักษ์ท่าจีน” เพื่อดำเนินการมาตรการต่าง ๆ โดยมีเป้าหมายลดปริมาณและจัดการขยะในแม่น้ำท่าจีนอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบดูแลของธนาคารกรุงเทพ อันเป็น 1 ใน 5 ของแม่น้ำสายหลักอันเป็นเส้นทางสำคัญที่ขยะจะไหลลงสู่ทะเลในบริเวณปากแม่น้ำ โดยในระยะที่ 1 ธนาคารจะดำเนินการติดตั้งทุ่นกักขยะ (Boom) ในบริเวณชุมชนริมคลองมหาชัย ซึ่งเป็นคลองสาขาของแม่น้ำท่าจีนที่น้ำจะมารวมกันและไหลออกสู่ทะเลอ่าวไทยต่อไป

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวนับเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่าง ๆ ได้ร่วมกันลงนามใน “บันทึกแสดงเจตจำนงว่าด้วยความร่วมมือในการจัดการขยะทะเล โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในบริเวณปากแม่น้ำ” ระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมควบคุมมลพิษ และกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย ร่วมกับภาคเครือข่ายภาคเอกชนที่เข้าร่วมโครงการในระยะนำร่องจำนวน 5 แห่ง แบ่งกันรับผิดชอบดูแล 5 แม่น้ำสายหลัก ซึ่งจะมีความร่วมมือเป็นระยะเวลา 5 ปี นับจากได้ลงนามในวันที่ 8 มิถุนายน 2565 ณ จังหวัดภูเก็ต

นอกจากแผนดำเนินการติดตั้งทุ่นกักขยะตามแผนงานระยะที่ 1 ซึ่งจะดำเนินการภายในเดือน กรกฎาคม – ธันวาคม 2566 นี้แล้ว คณะทำงานยังได้เริ่มศึกษาและเตรียมความพร้อมสำหรับแผนงานระยะที่ 2 เกี่ยวกับโครงการจัดการขยะชุมชนริมน้ำ ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งต้นเหตุสำคัญของปัญหาขยะ เนื่องจากขยะทะเลส่วนใหญ่กว่า 80% มีแหล่งกำเนิดจากบนบก และอีก 20% เกิดจากในทะเล ดังนั้น การดำเนินการของโครงการจะให้ความสำคัญกับการจัดการขยะอย่างครบวงจรตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวคิดสำคัญของโครงการ ขณะเดียวกัน ธนาคารยังให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมกับชุมชน ภาครัฐ และเอกชน พร้อมกับบูรณาการเข้ากับการจัดการขยะในพื้นที่ เพื่อให้แก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่ความยั่งยืน สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนเพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ต่อไปในระยะยาว

นายกอบศักดิ์ กล่าวอีกว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกภาคส่วนในสังคม และต้องใช้เวลาแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง คงไม่สามารถดำเนินการในครั้งเดียวแล้วสำเร็จในทันที แต่ต้องดำเนินการและเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่องและนำไปปรับแผนดำเนินการให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับธนาคารกรุงเทพที่มีความตั้งใจที่จะเข้ามามีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาขยะในทะเลอย่างจริงจังและอยากเชิญชวนทุกคนมาร่วมแก้ไขปัญหานี้ด้วยกัน ด้วยหวังว่าจะช่วยลดขยะตกค้างในทะเลและลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับระบบนิเวศ เป็นประโยชน์ต่อคนในพื้นที่และสังคมวงกว้าง ขณะเดียวกันจะเน้นการจัดการขยะเหล่านี้โดยไปแปรรูปเพื่อกลับมาใช้ประโยชน์ได้ใหม่ที่จะช่วยลดการใช้ทรัพยากร และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับนโยบายของธนาคารกรุงเทพ ที่มีความมุ่งมั่นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล

“ภายใต้โครงการ Bualuang Save the Earth เรามีกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์และนำไปสู่การลดใช้พลังงาน ลดการใช้ทรัพยากร ลดปริมาณขยะ และลดก๊าซเรือนกระจก เราสามารถนำมาต่อยอดด้วยการสื่อสารผ่านช่องทางต่าง ๆ ของธนาคาร เพื่อส่งเสริมและสร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพลังงานให้แก่พนักงาน ตลอดจนลูกค้า คู่ค้า และประชาชนทั่วไป เพราะถือเป็นอีกหนึ่งบทบาทของการเป็น “เพื่อนคู่คิด” ที่จะคอยแนะนำข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ ช่วยกันส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพลังงานอันจะเป็นส่วนสำคัญต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน”  นายกอบศักดิ์ กล่าว

ทั้งนี้ นายกอบศักดิ์ ยังได้นำคณะผู้บริหารและพนักงานธนาคารกรุงเทพ ร่วมกิจกรรมในงานวันทะเลโลก ประจำปี 2566 ซึ่งจัดโดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิด “Planet Ocean: Tides are Changing” “เปลี่ยน พลิกฟื้น คืนโลกสีคราม” ในวันที่ 8 มิถุนายน 2566 ทั้งที่เวทีกลาง ณ อำเภอเมือง จังหวัดระยอง โดยมี นายวราวุธ ศิลปะอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้เกียรติเป็นประธาน และที่อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร โดยมี นายกองเอก อาวุธ วิเชียรฉาย รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เป็นประธานในงาน พร้อมด้วยหน่วยงานราชการในท้องถิ่น องค์กรเอกชน และภาคประชาชนเข้าร่วมเพื่อกระตุ้นความตระหนักรู้ของสาธารณชนถึงปัญหาจากขยะที่ถูกทิ้งลงแหล่งน้ำและไหลออกสู่ทะเล ส่งผลให้สัตว์ทะเลบาดเจ็บและตาย ขยะบางส่วนสลายตัวเป็นไมโครพลาสติกซึ่งอาจปนเปื้อนในห่วงโซ่อาหาร และย้อนกลับมาเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์  ทั้งยังมีขยะอีกส่วนหนึ่งที่ถูกคลื่นซัดกลับสู่ชายฝั่ง ทำให้เสียทัศนียภาพและส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว