ขนส่งฯเตือน!อย่าใช้แผ่นป้ายทะเบียนรถปลอม ย้ำอาจมีความผิดฐานปลอมเอกสารราชการ มีโทษจำคุกสูงสุด 5 ปี ปรับสูงสุด 100,000 บาท แนะวิธีสังเกตป้ายทะเบียนรถที่ถูกต้องตามกฎหมาย
นายเสกสม อัครพันธุ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก และโฆษกกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า ป้ายทะเบียนรถถือเป็นเอกสารที่ทางราชการออกให้โดยแสดงว่ารถยนต์ มอเตอร์ไซค์ หรือยานพาหนะนั้น ๆ ได้รับการจดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และออกให้ใช้เฉพาะสำหรับรถคันที่จดทะเบียนไว้ 1 คัน ต่อ 1 หมายเลขทะเบียนเท่านั้น โดยข้อมูลหมวดอักษร หมายเลขทะเบียน จังหวัด ที่ปรากฏในสมุดคู่มือจดทะเบียนรถและเครื่องหมายแสดงการเสียภาษี (ป้ายวงกลม) ต้องถูกต้องและตรงกัน ณ ปัจจุบัน ตามที่มีข่าวปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์ มีมิจฉาชีพใช้ป้ายทะเบียนปลอมที่ผิดกฎหมายในหลายกรณี อาทิเช่น ใช้ป้ายทะเบียนหน้ารถและด้านหลังรถเป็นคนละหมายเลขกัน ใช้ป้ายทะเบียนรถที่หมายเลขไม่ตรงกับสมุดคู่มือจดทะเบียนรถ ใช้ทะเบียนรถป้ายแดงปลอม หรือใช้ป้ายทะเบียนที่มีพื้นหลังเป็นลวดลายกราฟิกแต่ไม่ใช่ป้ายทะเบียนรถเลขสวยที่มีลักษณะพิเศษ (ป้ายประมูล) รวมถึงประชาชนอาจหลงเชื่อซื้อป้ายทะเบียนรถผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งมีความเสี่ยงจะได้แผ่นป้ายทะเบียนปลอมและสูญเสียทรัพย์สิน
กรมการขนส่งทางบกในฐานะหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอเตือนผู้ที่ทำป้ายทะเบียนปลอมจะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 265 ฐานปลอมเอกสารราชการ ส่วนเจ้าของรถที่ใช้แผ่นป้ายทะเบียนดังกล่าวจะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 268 ฐานใช้เอกสารราชการปลอม ซึ่งความผิดฐานปลอมเอกสารราชการหรือใช้เอกสารราชการปลอม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000 บาท ถึง 100,000 บาท นอกจากนี้ยังเป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ มาตรา 11 ฐานติดแผ่นป้ายทะเบียนรถไม่ถูกต้องตามที่ทางราชการกำหนดปรับสูงสุดไม่เกิน 2,000 บาท
รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวต่อไปว่า ป้ายทะเบียนที่ถูกต้องตามกฎหมายออกโดยกรมการขนส่งทางบก สามารถสังเกตได้จากตัวย่อนูน ขส ที่มุมด้านล่างขวา ต้องมีลายน้ำตราเครื่องหมายราชการกรมการขนส่งทางบก (รูปมาตุลีเทพบุตรขับรถเทียมม้า) ปรากฏในแผ่นป้ายทะเบียนรถ ลักษณะของสีแผ่นป้ายทะเบียนจะมีความสด สะท้อนแสง ตัวหนังสือหมวดอักษร ตัวเลขมีความคมชัด และจะต้องตรงกันกับสมุดคู่มือจดทะเบียนรถ ในส่วนของป้ายแดงแต่ละบริษัทตัวแทนจำหน่ายรถจะมีหมวดและหมายเลขป้ายแดงหมุนเวียนต้องใช้คู่กับสมุดคู่มือประจำรถและใบอนุญาตให้ใช้รถด้วย โดยผู้ใช้รถป้ายแดงต้องจดบันทึกข้อมูลการใช้รถลงในสมุดคู่มือประจำรถข้อมูลดังกล่าวได้แก่ ชื่อ-นามสกุลผู้ขับรถ ชื่อชนิดรถ หมายเลขตัวรถ หมายเลขเครื่องยนต์ ความประสงค์ในการขับรถยนต์ วันเดือนปีและระยะเวลาที่นำรถออกไปใช้ สำหรับผู้ซื้อรถป้ายแดงต้องตรวจสอบจำนวนวันการใช้รถขณะติดป้ายแดงต้องไม่เกิน 30 วัน นับจากวันรับรถ
นอกจากนี้ป้ายทะเบียนรถเลขสวยลักษณะพิเศษ (ป้ายประมูล) ที่ถูกต้องตามกฎหมายจะมีลักษณะ คือ พื้นหลังจะเป็นลวดลายกราฟิกมีตัวย่อ ขส ที่มุมด้านขวาล่าง และมีคำหรือข้อความที่มีตัวอักษร 2 ตัว ผสมสระหรือวรรณยุกต์ หรือ ตัวอักษรมากกว่า 2 ตัว โดยสามารถใช้ตัวอักษรผสมสระ หรือวรรณยุกต์ได้ โดยหมายเลข ตัวอักษร สระรวมแล้วต้องไม่เกิน 7 หลัก และต้องไม่มีข้อความลักษณะต้องห้าม เช่น ข้อความที่ส่อไปในทางลามกอนาจาร หรือหยาบคาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมหรือวัฒนธรรมอันดี