กรมเจ้าท่าเร่งแผนงานงบปี 2566 ดำเนินการต่อเนื่องการนำร่องให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด และเก็บค่าจ้างนำร่องให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด สร้างศักยภาพการขนส่งทางน้ำรองรับการส่งออกและการท่องเที่ยวไทยที่กำลังฟื้นตัว
กรมเจ้าท่า โดยสำนักนำร่อง ได้กำหนดแผนงานการนำร่องให้เกิดความปลอดภัยประจำปีงบประมาณ 2566 โดยมีเป้าหมายเพื่อให้การเดินเรือ โดยใช้ผู้นำร่องในหรือนอกเขตบังคับใช้ผู้นำร่องเกิดความปลอดภัยสูงสุด และรวมถึงการเรียกเก็บค่าจ้างนำร่องให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งจะเป็นอีกส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนแผนงานเชิงรุกประจำปี 2566 ของกรมเจ้าท่าที่มุ่งเน้นความสำคัญในมาตรการความปลอดภัยด้านการจัดการระบบขนส่งทางน้ำควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อม เพิ่มประสิทธิภาพและการเฝ้าระวังในทุกมิติ
ทั้งนี้ สำนักนำร่อง กรมเจ้าท่า มีหน้าที่ศึกษาและพัฒนาระบบ รูปแบบ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการนำร่องเรือ และระบบการประกอบกิจการนำร่อง ดำเนินการเกี่ยวกับการนำร่องตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย เสนอแนะเกี่ยวกับการกำหนดเขตท่าเรือน่านน้ำใดๆให้เป็นเขตที่ต้องเดินเรือโดยผู้นำร่อง เสนอแนะเกี่ยวกับการออกข้อบังคับที่เกี่ยวกับการนำร่อง และดำเนินการเกี่ยวกับการฝึกอบรมและสอบความรู้ผู้นำร่องรัฐบาลและผู้นำร่องพิเศษ
สำหรับแผนการดำเนินงาน ได้แก่ 1. งานออกใบสำคัญ (ใบอนุญาต) การออกใบอนุญาตผู้นำร่องรัฐบาลและการออกใบอนุญาตผู้นำร่องพิเศษ 2. งานทำการนำร่องเรือเข้า – ออกและเลื่อนในเขตบังคับใช้ผู้นำร่องทั้ง 6 เขตท่า (เขตท่าเรือกรุงเทพ เขตท่าเรือศรีราชา เขตท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ เขตท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด เขตท่าเรือจังหวัดสงขลา เขตท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต 3. งานการเงินการนำร่อง ที่ประกอบด้วย การวางมัดจำด้วยเงินสดหรือหนังสือสัญญาค้ำประกันในการขอใช้ผู้นำร่อง ออกใบแจ้งหนี้เรือขอใช้ผู้นำร่องเรือที่ออกจากเขตท่าไปแล้ว เก็บเงินค่าจ้างนำร่องจากเรือที่ขอใช้บริการนำร่อง ตรวจสอบและติดตามให้ผู้ประกอบการชำระค่าจ้างนำร่องให้เป็นปัจจุบัน และฝึกอบรมผู้สมัครนำร่องรัฐบาลและผู้นำร่องพิเศษ
การนำร่องเป็นส่วนหนึ่งของระบบการขนส่งทางน้ำ โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าทางทะเลที่เป็นการสนับสนุนการส่งออกของประเทศ รวมไปถึงการนำร่องเรือขนาดใหญ่เช่น เรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ เรือบรรทุกสินค้าทั่วไป เรือสำราญ เรือรบต่างประเทศ เรือบรรทุกน้ำมัน/สารเคมี เพื่อสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวของไทยที่มีแนวโน้มการขยายตัวต่อเนื่อง กรมเจ้าท่าจึงมุ่งเน้นการขนส่งทางน้ำอย่างเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อ มีมาตรฐาน เพื่อให้เกิดความสะดวก ปลอดภัย และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยผู้นำร่องที่มีความรู้ความสามารถ ประสบการณ์และมีเครื่องมือที่ทันสมัย ปัจจุบัน การนำร่องเรือมีจำนวน 40,000 เที่ยวต่อปี นับเป็นความสำคัญของระบบการขนส่งที่ต้องมีการบริหารจัดการการขนส่งทางน้ำ เพื่อเข้าสู่การเข้าเทียบท่าภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยสูงสุด ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับระบบขนส่งทางน้ำของไทย โดยอาศัยความได้เปรียบทางด้านภูมิศาสตร์ของประเทศสู่การเป็นศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อไป