การรถไฟฯจับมือภาคเอกชน เปิดเดินขบวนรถสินค้าคอนเทนเนอร์ขนส่งทุเรียน 600 ตัน จากไทยสู่จีนด้วยรถไฟขบวนพิเศษมาบตาพุด-สถานีท่านาแล้ง สปป.ลาว หนุนส่งออกผลไม้ไทยสู่ต่างประเทศด้วยต้นทุนประหยัดและมีประสิทธิภาพ พร้อมยกระดับระบบโลจิสติกส์ไทยทัดเทียมนานาชาติ
นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การร่วมมือเปิดเดินขบวนรถสินค้าคอนเทนเนอร์ส่งออกทุเรียนครั้งนี้ เป็นการดำเนินตามนโยบายของนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาโครงข่ายขนส่งระบบราง เพื่อยกระดับระบบโลจิสติกส์ของประเทศให้มีความสามารถทางการแข่งขันทัดเทียมนานาชาติ ทั้งด้านการเดินทางของผู้โดยสาร และการขนส่งสินค้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ซึ่งช่วยเพิ่มทางเลือกการขนส่งสินค้าแก่พี่น้องเกษตรกรไปสู่ตลาดปลายทางทั้งในและต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ในการเปิดเดินขบวนรถสินค้าคอนเทนเนอร์ขนส่งทุเรียน ด้วยรถไฟขบวนพิเศษมาบตาพุด – สถานีท่านาแล้ง สปป.ลาว ได้มีการขนส่งทุเรียนจำนวน 25 ตู้ ๆ ละ 24 ตัน รวมจำนวนทั้งสิ้น 600 ตัน โดยตู้คอนเทนเนอร์มีการควบคุมอุณหภูมิพร้อมติดตั้งเครื่องทำความเย็นในตัว ซึ่งนำผลไม้จากแหล่งผลิตในพื้นที่ภาคตะวันออกของไทยไปสู่ประเทศจีน เป็นการช่วยเพิ่มทางเลือกในการขนส่งสินค้าเกษตรแก่พี่น้องเกษตรกรที่มีประสิทธิภาพ ต้นทุนต่ำ และประหยัดพลังงาน อีกทั้งสามารถขนส่งได้ครั้งละจำนวนมากกว่าทางถนนหลายเท่าตัว ที่สำคัญยังช่วยดูแลรักษาผลผลิตส่งถึงมือผู้บริโภคได้อย่างมีคุณภาพด้วย
หลังจากนี้การรถไฟฯ พร้อมให้การสนับสนุนการขนส่งผลไม้ทางรถไฟอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าหมายว่าในช่วงฤดูกาลผลไม้ที่กำลังมาถึงนี้ จะขนส่งสินค้าเกษตรทางรถไฟ ช่วยเหลือให้เกษตรกรไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาผลไม้ล้นตลาดได้ ไม่น้อยกว่า 25,000 ตัน ซึ่งเป็นการดำเนินการอย่างต่อเนื่องจากก่อนหน้า ที่เคยร่วมมือกับ บริษัท เอ็น. อี. (1992) จำกัด เปิดเดินขบวนรถสินค้าบรรทุกเกลือมาแล้ว รวมถึงร่วมกับบริษัท ลิงค์ แลนด์ โลจิสติกส์ จำกัด เปิดเดินขบวนรถขนส่งปุ๋ยเคมีนำเข้าจากประเทศจีน และบริษัท เก้าเจริญ เทรน ทรานสปอร์ต จำกัด ขนส่งตู้สินค้าผลไม้ ทุเรียน และมะพร้าวน้ำหอม บรรจุในคอนเทนเนอร์ควบคุมอุณหภูมิจนประสบผลสำเร็จ
ท้ายนี้ การรถไฟฯ มีความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการนำระบบขนส่งทางราง มาสนับสนุนขนส่งสินค้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงผลผลิตจากแหล่งเพาะปลูกไปยังตลาดจุดหมายปลายทาง ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนถ่ายการขนส่งสินค้าจากถนนมาสู่ระบบรางให้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถระบบขนส่งโลจิสติสก์ของประเทศ ให้มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ประหยัด และยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีต่อประชาชน เกษตรกร และประเทศชาติต่อไป
ทั้งนี้ จุดเริ่มขนส่งจากมาบตาพุด จังหวัดระยองถึงจังหวัดหนองคาย และขนส่งต่อไปยังสถานีท่านาแล้งใน สปป.ลาว จากนั้นเชื่อมต่อการขนส่งไปที่ Transshipment yard จุดเปลี่ยนถ่านสินค้า ลาว – จีน ไปยังปลายทางเมืองกวางโจว ประเทศจีน