ผ่าปมเขตเศรษฐกิจพิเศษ “ติดหล่ม”

0
508

 

นับตั้งแต่รัฐบาลคสช.จุดพลุนโยบายการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ 10 จังหวัด หวังปลุกปั้นให้เป็นการพัฒนาเชิงพื้นที่เชื่อมโยงกระบวนการผลิตและการลงทุนข้ามแดน พร้อมดึงดูดเม็ดเงินจากนักลงทุนทั้งในและเทศ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ กระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ลดความเหลื่อมล้ำและแก้ไขปัญหาความมั่นคงกับประเทศเพื่อนบ้าน ทำเอาทุกภาคส่วนออกโรงเด้งรับลูกพร้อมเดินหน้าผลักดันสุดลิ่มทิ่มประตู

แต่ไฉนถึงวันนี้ความคืบหน้าการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษภายใต้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ(กนพ.)ที่มี “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.นั่งหัวโต๊ะเป็นประธาน ที่แม้จะขยันออกแพ็กเกจประเคนสิทธิประโยชน์จูงใจนักลงทุนผ่านบีโอไอ พร้อมกระหน่ำโรดโชว์ควักมือเชิญนักลงทุนในต่างประเทศ แต่ความคาดหวังที่วาดไว้สวยหรูกลับตาลปัตรอย่างสิ้นเชิง

จนกระทั่งนายกรัฐมนตรีออกโรงเผยถึงความคืบหน้าว่าการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ เฟสแรก 6 พื้นที่ 6 จังหวัด คือ จ.ตาก มุกดาหาร สระแก้ว ตราด สงขลา และหนองคาย เป็นนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องการผลักดันให้เกิดผลในทางปฏิบัติเป็นรูปธรรมภายในปีนี้“เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษทั้งหมด 6 แห่ง 5 +1 วันนี้ก็เดินหน้ามาก ที่ผ่านมาไม่มีการเริ่มต้นที่ดีพอ เราใช้เวลาประมาณ 1 ปี ทำเรื่องแผนงานการ “เครือข่าย” Connectivity ถนนหนทางด่าน ศุลกากร เป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมาต้องเห็นใจเวลามีเพียงแค่นี้…รัฐบาลต้องเร่งอนุมัติงบประมาณมา จังหวัดนี้ต้องการ 3,000 ล้าน จังหวัดนี้ต้องการ 5,000 ล้าน ขอให้รัฐบาลอนุมัติ ผมพร้อมอนุมัติแต่มีเงินให้ผมอนุมัติหรือเปล่าที่ผ่านมายังไม่เริ่มต้นกันเลย…

และล่าสุด ที่ประชุมครม.( 24 ส.ค.)มีมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ….  ร่างพ.ร.บ.การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ฉบับที่..) พ.ศ. …. ที่กำหนดให้ผู้ว่าการนิคมฯมีอำนาจเบ็ดเสร็จในภายในการนิคมนั้นๆ ยังไม่รวมถึงพ.ร.บ.ที่รัฐหวังเติมเต็มศักยภาพการลงทุน ทั้งพ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน แก้ไขเพิ่มเติมเมื่อปี 2520 เพื่อส่งเสริมการลงทุนใหม่ในเรื่องภาษีเงินได้นิติบุคคล สามารถยกเว้นภาษีเงินได้ 13 ปี สำหรับกิจการที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง ส่วนกิจการที่ไม่ควรได้รับยังคงได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ไม่เกิน 50% เป็นเวลา 10 ปี เป็นต้น และพ.ร.บ.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งล้วนแล้วเป็นกฎหมายที่ภาครัฐหวังเป็นเครื่องมือผลักดันให้เขตเศรษฐกิจพิเศษเดินหน้าสะดวกโยธิน

“ถึงกระนั้น ก็ยังถูกนักวิชาการวิพากษ์วิจารณ์หนักหน่วงว่าการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษมีหลายกระทรวงที่ร่วมรับผิดชอบ มีคณะกรรมการและคณะทำงานหลายคณะนับไม่ถ้วนที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้น จึงถูกมองว่าอำนาจการบริหารจัดการซ้ำซ้อน ต่างคนต่างทำต่างคนต่างเดินไร้เอกภาพ เสมือนการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด เกาไม่ถูกที่คัน”

แล้วยังมีอีกหลายคำถามตามมาว่าแล้วอะไรคือสาเหตุเป็นตัวฉุดรั้งการขับเคลื่อนเกิด “ติดหล่ม” พ่นพิษให้กระบวนการ “บิดเบี้ยว”และยังไร้ซึ่ง “ความชัดเขน”ถือเป็นการผลักดันที่อาจกล่าวได้ว่า“ล้มเหลว” ไม่เป็นท่าหลังโหมโรงกว่า 2 ขวบปีที่ผ่านมา

Logistics Time ได้ประมวลมุมมองของนักวิชาการที่สะท้อนให้เห็นถึงต้นตอการฉุดรั้งการเดินหน้าการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษของรัฐบาล “สะดุดตอ”และไร้รูปไร้ทรง ดังนี้;

11351336_705813719546724_180022797225507906_n
สายัณห์ จันทร์วิภาสวงศ์

สปท.ฟันธง นักลงทุนผวา“การเมืองไร้เสถียรภาพ”

ประเดิมด้วยนายสายัณห์ จันทร์วิภาสวงศ์ คณะทำงานปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานโลจิสติกส์ ในคณะอนุกรรมาธิการอุตสาหกรรม และบริการ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) เปิดเผยว่าแม้รัฐบาลจะประโคมข่าวอย่างไรก็ตาม แต่ทุกวันนี้เขตเศรษฐกิจพิเศษไทยยังไม่เด้งปึ๋งปั๋ง สาเหตุหลักที่นักลงทุนยังไม่ลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติยังไม่มั่นใจเสถียรภาพด้านการเมืองของไทย ส่วนนักลงทุนไทยผมว่าไม่มีปัญหาอะไร อยู่ที่ว่าจะไปลงทุนเมื่อไหร่ คงรอดูสถานการณ์เศรษฐกิจซัก 2 ปีก็น่าจะเป็นไรมากนัก

“ขณะที่ไทยเกิดสะดุดขาตัวเอง แต่รัฐบาลจีนและสปป.ลาว ได้เซ็นสัญญาความตกลงในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษร่วมบ่อเต็น-บ่อหาน(จีน-ลาว) พื้นที่ 24 ตารางกิโลเมตร (หรือราว 15,000 ไร่) โดยจีนจะใช้เงินลงทุนพัฒนาระบบสาธารณูปโภคเชื่อมโยงมายังเขตเศรษฐกิจร่วมบ่อหาน-บ่อเต็นในครั้งนี้ประมาณ 2 แสนล้านหยวน หรือราว 1 ล้านล้านบาท โครงการดังกล่าวอาจกระทบกับไทย เพราะปัจจุบันจีนถือเป็นผู้ควบคุมระบบโลจิสติกส์ และได้ประโยชน์มากจากเส้นทาง R3A เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าจากทางภาคใต้ของจีนเข้ามาตลาดไทของไทยอยู่แล้ว อนาคตหากศูนย์แห่งนี้ของจีนแล้วเสร็จสินค้าจากจีนจะถูกส่งมาพัก หรือรีแพ็กเก็จ หรือบรรจุหีบห่อใหม่ในที่แห่งนี้ ก่อนส่งเข้าลาวและไทยเพิ่มมากขึ้น ในระยะยาวผลประโยชน์ทางการค้าและการลงทุนจะอยู่ในมือจีนเกือบทั้งหมด”

นอกจากนี้ นายสายัณห์ กล่าวอีกว่า เพื่อให้ไทยได้ประโยชน์คานจีน ทางคณะทำงานปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานฯ สปท. ขอเสนอให้รัฐบาลไทยเจรจากับรัฐบาล สปป.ลาวเพื่อให้มีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษร่วมเชียงของ-ห้วยทราย(ไทย-ลาว) ในบริเวณสองฝั่งรอบสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 4 ของ อ.เชียงของ จ.เชียงราย โดยลงทุนสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานเพื่อพัฒนาเชียงของให้เป็น “ชุมทางการขนส่ง”ต่อเนื่องหลายรูปแบบ ทั้งทางบก รถไฟ เรือ และอากาศ ถ้าทำตรงนี้ดักไว้ได้ การเชื่อมโยงการคมนาคมทุกรูปแบบจากเส้นทาง R3Aก็จะได้ต้นทุนการขนส่งจะถูกลง นักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติก็จะเห็นโอกาสในการลงทุนทั้งด้านอุตสาหกรรมและบริการไทยก็จะได้ประโยชน์มากขึ้น

เธžเธฃโ€‹เธจเธดเธฅเธ›เนŒ เธžเธฑเธŠโ€‹เธฃเธดเธ™โ€‹เธ—เธฃเนŒเธ•โ€‹เธ™เธฐโ€‹เธเธธเธฅ
พรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล

ส่วนนายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ที่ปรึกษากรรมการสภาหอการค้าเเห่งประเทศไท ให้ความเห็นว่าการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ มันต้องเป็นพื้นที่ที่พิเศษจริงๆ เราต้องสร้างความชัดเจนในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาษี การเคลื่อนย้ายคน เป็นต้น ทุกอย่างต้องพิเศษและฟรีจริง นักลงทุนถึงจะสนใจไปลงทุน ตอนนี้ยังขาดความชัดเจนด้านโครงสร้าง ไม่ได้กำหนดชัดๆว่าตรงไหนจะเอาอะไรกันแน่ พูดให้ชัดว่าจะให้เขาไปลงทนุผลิตอะไร ผมมองว่าไม่เห็นเป็นรูปธรรมตรงไหนเลย เห็นแต่พูดๆกันและเนื้องานที่ชัดเจนจริงๆในแต่ละแห่งมีหรือเปล่า ถ้ายังเป็นแบบนี้ความหวังที่จะเห็นการใช้เขตเศรษฐกิจพิเศษในแต่ละแห่งเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจชายแดน ผมมองว่าคงอีกนาน

ปธ.สรท.ชี้ “ยุทธศาสตร์บิดเบี้ยว”

 

13244668_1035265519888096_8171775651103678321_n
นพพร เทพสิทธา

ด้านนายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ขนส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ให้มุมมองว่าแม้การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษโดยเนื้อในแล้วเป็นเรื่องที่ดี แต่ลึกๆแล้วรัฐบาลไม่แยกให้ชัดในแต่ละเขตว่าจะมีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง ส่วนวัตถุประสงค์การจัดตั้งก็ไม่สอดคล้องกับความต้องการจริงๆของผู้ไปลงทุน รัฐบาลโฟกัสที่ปัจจุบันมากไป แต่กลับไม่มองผลระยะยาว ผมมองว่าภาครัฐต้องเน้นการสร้างความเข้าใจกับคนในพื้นที่ว่าเขาจะได้รับประโยชน์อะไรบ้าง มีส่วนร่วมอะไรบ้างหากเกิดเขตเศรษฐกิจขึ้นมา ไม่ใช่แค่ชูเรื่องราคาที่ดินสูงขึ้นเท่านั้น ต้องบอกด้วยว่าความเจริญที่จะเข้ามาต้องเป็นความเจริญที่คนท้องถิ่นสัมผัสได้ และสามารถทำให้เขาเติบโตและเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้

“เขตเศรษฐกิจพิเศษจะทำแบบเดิมไม่ได้แล้ว ต้องกลับไปดูที่จีนเขาทำสำเร็จได้อย่างไร ที่สามารถดึงดูดความสนใจให้คนไปลงทุน และสร้างความเจริญให้กับคนในพื้นที่นั้นๆได้อย่างไรบ้าง ไม่ใช่มีแค่ทีดินแล้วป่าวประกาศเชิญเอกชนไปลงทุนอย่างเดียว ผมมองว่ามันผิดตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว รัฐบาลไทยต้องมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนในการพัฒนาท้องที่ เพื่อทำให้จุดนั้นเจริญเติบโต และเป็นการเติบโตอย่างยั่งยืนที่คนที่พื้นที่ได้ส่วนร่วม โดยรัฐต้องอัดฉีดเข้าไปสร้างความเจริญในพื้นที่ตรงนั้น แล้วนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อสร้างดีมานด์ให้เกิดขึ้นในพื้นที่นั้นๆอย่างครบวงจร คล้ายๆว่าเรามีอีสเทิร์นซีบอร์ดในแต่ละพื้นที่ ดังนั้น ถ้ายังขาดวัตถุประสงค์และยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนที่ชัดเจนแล้ว ก็ยากที่เกิดและยากที่นักลงทุนจะไปลงทุน”

%e0%b8%a2%e0%b8%b9
ยู เจียรยืนยงพงศ์

ประมุข 10 ล้ออาเซียน จวกเขตศก.ไทย “ไร้กึ๋น”

ฟากฝั่งนายยู เจียรยืนยงพงศ์ ประธานสหพันธ์การขนส่งทางรถบรรทุกแห่งอาเซียน (ATF) แสดงทัศนะว่าหลังภาครัฐประกาศผลักดันสร้างเขตเศรษฐกิจ 10 แห่งทั่วประเทศ ถึงวันนี้ผ่านไป 2 ปีกว่าแล้ว แต่ความคืบหน้าของแต่ละแห่งยังไม่เป็นชิ้นเป็นอัน เหตุที่ยังไม่คืบหน้าไปไหนมาไหน อย่างแรกผู้นำประเทศต้องเข้าใจคอนเซ็ปต์ด้านเขตเศรษฐกิจอย่างถ่องแท้เสียก่อน ไม่ใช่การสั่งการแค่เชิงนโยบายเท่านั้น อย่างที่สองข้าราชการในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขาดเอกภาพ ชิงความเป็นใหญ่ในการบริหารจัดการเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทำให้ขาดเอกภาพในการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ และไม่อาจขับเคลื่อนให้เกิดเป็นรูปธรรมได้ ส่งผลให้วันนี้ทุกเขตเศรษฐกิจยังหาข้อสรุปไม่ได้

“อีกประเด็นหนึ่งไทยเราต้องสร้างชัดเจนในแง่ความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างชัดเจนในทุกๆมิติมากกว่านี้ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิพิเศษด้านการลงทุนต่างๆ อีกประเด็นหนึ่งที่สร้างความสับสนให้กับนักลงทุนต่างชาติ นั่นก็คือเรื่องของกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าการลงทุน โดยเฉพาะกฎหมายด้านศุลกากร ที่มีเนื้อหาสร้างปัญหาด้านการดีแคลร์เสียภาษี ที่บางครั้งถูกตรวจสอบย้อนหลัง เป็นเหตุให้นักลงทุนขาดแรงจูงใจและไม่อยากแสดงเจตจำนงการมาลงทุนในไทย”

นอกจากนี้ แหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงอุตสาหกรรมระบุว่า การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ เฟสแรก 6 พื้นที่ 6 จังหวัด ซึ่งเป็นนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องการผลักดันให้เกิดผลในทางปฏิบัติเป็นรูปธรรมภายในปีนี้ แม้จะมีความคืบหน้าในการจัดหาที่ดินรองรับ การประกาศเขตพื้นที่ การให้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุน (BOI) การจัดหาพื้นที่ของรัฐที่ให้เช่า รวมทั้งเตรียมลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ และก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรีได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เพื่อปลดล็อกกฎหมายผังเมือง เพื่อให้การเดินหน้าด้านผังเมืองไม่เกิดการสะดุด

“แต่ความพยายามผลักดันประกาศบังคับใช้ร่าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. …. ให้มีกฎหมายรองรับเป็นทางการยังมีปัญหา เนื่องจากกระทรวงมหาดไทย ไม่เห็นด้วยในสาระสำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าวหลายข้อ เมื่อยังไม่มีกฎหมายเป็นกลไกผลักดัน จนก่อให้เกิดการขับเคลื่อนล่าช้า กระบวนการไม่เป็นรูปเป็นร่างแม้จะล่วงเลยเวลามานานแล้วก็ตาม ซึ่งน่ากังวลว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษในเฟสแรกจะเกิดขึ้นทันในรัฐบาลนี้หรือไม่ ”

ทั้งหมดทั้งมวลเป็นบทเรียนราคาแพงที่สอนใจประชาชนคนไทยได้ชัดว่าหลายๆนโยบายที่แรกเริ่มรัฐบาลจุดพลุพลางฉายหนังตัวอย่างระดับความคมชัดยิ่งกว่า Super HD แต่พอเอาเข้าจริงๆแล้วก็เหลวแหลกล้มไม่เป็นท่า ล้วนเข้าทำนอง “ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่ พอเหลาลงไปกลายเป็นบ้องกัญชา”

นี่ขนาดรัฐบาลท็อปบู๊ทที่มีอำนาจอยู่เต็มมือยังไม่สามารถผลักดันให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมได้ นับประสาอะไรกับการฝากความหวังลมๆแล้งๆไว้ที่ “นักการเมืองมืออาชีพ