ผ่ามาตรการ5ป.ล้อมคอก“สายแบก”ปังหรือแป๊ก?

0
96

ต้องยอมรับปัญหารถบรรทุกเกินน้ำหนักตามที่กฎหมายกำหนดส่งต่อความเดือดร้อนให้กับประชาชนสร้างปัญหาซ้ำเติมความเสียหายถนนหลวงลามบานปลายถึงปัญหาส่วยทางหลวง ยังคงเป็นซากปัญหาหมักหมมหนักอกหน่วยงานภาครัฐกับการแก้ไขให้สิ้นซาก ขณะที่ภาคสังคมต่างตั้งคำถามว่าเมื่อไหร่ปัญหานี้จะถูกแก้ไขถอนรากถอนโคนให้หมดไปซะที?ท่ามกลางข้อครหาที่ยังแก้ไม่ได้ก็เพราะมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวพัน ขณะที่แนวทางแก้ไขปัญหาก็ล้วนถูกมองว่าเป็นการล้อมคอกปัญหาทั้งสิ้น

ล่าสุด กรมทางหลวง สังกัดกระทรวงคมนาคม ที่ต้องดูแลรับผิดชอบถนนหลวงรวมระยะทาง 52,204.42 กิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 7.43 ของพื้นที่ทั้งหมด มุ่งมั่นกับการการตรวจสอบ ป้องกัน ปราบปราม จับกุม ประชาสัมพันธ์ ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ถูกต้อง สุจริตเป็นธรรม เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนที่เกิดขึ้น และเป็นการป้องกันมิให้บรรทุกน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ได้งัดหลักมาตรการ 5 ป. ในการปฏิบัติงานต่อการแก้ไขปัญหารถบรรทุกน้ำเกิน คือ

ป.ที่ 1 ป.ป้องปราม จัดตั้งสถานีตรวจสอบน้ำหนักบนทางหลวงสายหลักให้ครอบคลุม โครงข่ายทั่วประเทศ โดยดำเนินการตรวจสอบและจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินตลอด 24 ชั่วโมง โดยปัจจุบันมีสถานีตรวจสอบน้ำหนักทั้งหมด  97 แห่ง

ป.ที่ 2 ป.ปราบปราม จัดตั้งหน่วยเครื่องชั่งน้ำหนักเคลื่อนที่(spot check) ออกดำเนินการสุ่มตรวจและควบคุมรถบรรทุกน้ำหนัก ไม่ให้เกินกว่ากฎหมายกำหนด บนทางหลวงสายหลัก หรือ บนทางหลวงสายรอง หรือ หรือ บนทางหลวงที่ไม่มีสถานีฯ หรือ บนหลวงทางที่เป็นเส้นทางหลบเลี่ยงสถานีฯ โดยมี

 – ชุดเฉพาะกิจส่วนกลาง 12 ชุด

 – ชุดเฉพาะกิจของส่วนภูมิภาค 97 ชุด (ทุกสถานีฯ)

ป.ที่ 3 ป.ป้องกัน มาตรการป้องกันการทุจริตของเจ้าหน้าที่ โดยมี

 – ศูนย์ควบคุมกลางคอยติดตามควบคุมการปฏิบัติงานของสถานีตรวจสอบน้ำหนักตลอด 24 ชั่วโมง

 – ติดตั้งระบบป้องกันรถไม่เข้าชั่งที่สถานี

 – สับเปลี่ยนหมุนเวียนหัวหน้าสถานีฯ/หัวหน้าชุด ไม่เกิน 1 ปี

ป.ที่ 4 ป.ปลอดภัย อำนวยความปลอดภัยให้กับรถบรรทุก และประชาชนผู้ใช้ทาง ดังนี้

– จุดจอดพักรถบรรทุก (Truck Rest Area) ปัจจุบันเปิดใช้งาน 21 แห่ง

 – จุดบริการทั่วไทยช่วงวันหยุดเทศกาลปีใหม่/สงกรานต์

 – การขออนุญาตเดินรถพิเศษเพื่อควบคุมการเดินรถที่มีขนาดใหญ่พิเศษ

ป.ที่ 5 ป.ประชาสัมพันธ์ การประชาสัมพันธ์เชิงรุก ในรูปแบบต่างๆ ให้กับผู้ขับขี่รถบรรทุก ประชาชนผู้ใช้ถนนให้ทราบถึงข้อกฎหมาย มาตรการ นโยบาย ความสำคัญของการควบคุมน้ำหนักรถบรรทุกให้เป็นไปตามกฎหมายผลเสียจากการบรรทุกน้ำหนักเกิน โดย

– การโทรสายด่วน 1586 กด 5 สอบถามข้อมูลแจ้งเหตุ ฯ

 – ทาง facebook , Line , Twitter เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบข่าวสารที่รวดเร็ว ครบถ้วน

แม้จะเป็นมาตรการที่ดีก็ตาม และหากทุกภาคส่วนมีจิตใต้สำนึกที่ดีร่วมด้วยช่วยกันก็น่าจะช่วยกันแก้ปัญหาได้ไม่ยาก ทว่า หากผู้บังคับใช้หย่อนยานโดยมีทฤษฎีสมประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องเปิดตาข้างปิดตาข้างกับการแก้ไขปัญหา ต่อให้มีอีกมาตรการ 100 ป.ก็เปล่าประโยชน์ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ให้สิ้นซากได้

…จากที่เคยคาดหวังว่าจะปังกลับกลายเป็นแป๊กไม่เป็นท่า!

:ลมใต้ปีก