รฟท.โชว์ผลงาน”ไฮสปีดเทรน กรุงเทพฯ – โคราช “ ซึ่งที่ผ่านมา ถูกวิจารณ์ถึงความล่าช้า ล่าสุด ก่อสร้างเสร็จแล้ว 1 สัญญา อยู่ระหว่างก่อสร้าง 10 สัญญา อีกทั้งยังไม่ลงนามอีก 3 สัญญา จากทั้งหมด 14 สัญญา รอลุ้น..สร้างเสร็จปี 70
โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงหรือไฮสปีดเทรน ช่วงกรุงเทพฯ –นครราชสีมา ซึ่งมีระยะทาง 250.77 กิโลเมตร โดยมีจุดเริ่มต้นจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ถึงสถานีปลายทางนครราชสีมา แบ่งการก่อสร้างงานโยธา เป็น 14 สัญญา
รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยความคืบหน้าล่าสุด ณ เดือนตุลาคม 2565 มีดังนี้
*ก่อสร้างแล้วเสร็จ 1 สัญญา คือ ช่วงกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม.
*อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 10 สัญญา ได้แก่
- ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กม. ผลงาน 95.42 %
- งานอุโมงค์มวกเหล็ก และลำตะคอง ระยะทาง 12.23 กม. ผลงาน 4.38 %
- ช่วงบันไดม้า-ลำตะคอง ระยะทาง 26.10 กม. ผลงาน 14.50 %
- ช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว และช่วงกุดจิก-โคกกรวด ระยะทาง 37.45 กม. ผลงาน 41.08 %
- ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา ระยะทาง 12.38 กม. ผลงาน 2.40 %
- ช่วงดอนเมือง-นวนคร ระยะทาง 21.80 กม. ผลงาน 0.09 %
- ช่วงนวนคร-บ้านโพ ระยะทาง 23 กม. ผลงาน 4.47 %
- ศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย ผลงาน 0.017%
- ช่วงพระแก้ว-สระบุรี ระยะทาง 31.60 กม. ผลงาน 0.15 %
- ช่วงสระบุรี-แก่งคอย ระยะทาง 12.99 กม. ผลงาน 29.69 %
*ยังไม่ลงนาม 3 สัญญา ได้แก่ - ช่วงแก่งคอย-กลางดง และปางอโศก-บันไดม้า ระยะทาง 30.21 กม.
- ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กม.
- และ ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.30 กม.
นอกจากการก่อสร้างงานโยธาแล้ว ในส่วนของสัญญางานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟ และจัดฝึกอบรมบุคลากรได้ลงนามสัญญา เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2563 ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินงานตามสัญญา
โดยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้มอบนโยบายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย โดยนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เร่งรัดและติดตามการก่อสร้าง รวมถึงแก้ปัญหาต่างๆ เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการได้ตามแผนงานที่วางไว้ คือ ภายในปี 2570