หลังจากครม.ไฟเขียวปรับความเร็วรถยนต์เป็นสปีด 120 เมื่อช่วงปลายปี 63 ที่ผ่านมา เพื่อสร้างความปลอดภัย และความรวดเร็วสะดวกสบายในการเดินทาง โดยกระทรวงคมนาคมเจ้าภาพหลักทำการแก้ไขกฎกระทรวงว่าด้วยความเร็วรถยนต๋ใหม่ยกกระบิ
ต่อจากนั้น หน่วยที่เกี่ยวข้องทั้งกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบทต่างใส่เกียร์เดินหน้าเด้งรับนโยบายคมนาคม เพิ่มความเร็วรถยนต์ 120 กม./ชม. โดยทำการทยอยประกาศเส้นทางถนนไหนที่มีความพร้อมสามารถใช้ความเร็ว 120 กม./ชม.ทันที ภายใต้นโยบายกระทรวงคมนาคมอย่างเคร่งครัด
ย้อนหลังเมื่อวันที่ 10 มี.ค. 64 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่กฎกระทรวงกำหนดอัตราความเร็วของยานพาหนะบนทางหลวงแผ่นดินหรือทางหลวงชนบทที่กำหนด พ.ศ. 2564 โดยแก้ไขกำหนดความเร็วรถ รถเก๋งวิ่งได้สูงสุด 120 กม./ชม. ขับเลนขวาห้ามต่ำกว่า 100 กม./ชม.รวมทั้งรถประเภทต่างๆ เช่น รถบรรทุกน้ำหนักรถเกิน 2,200 กิโลกรัม ให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 90 กม./ชม. เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนความเร็วรถยนต์ใหม่ อีกเหตุผลหนึ่งเพื่อให้ความสอดคลัองกับสภาพถนนในปัจจุบัน และแก้ปัญหาจราจร ลดอุบัติบนท้องถนน ภายใต้กำกับนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ยังย้ำด้วยว่า ต้องคำนึงถึง“ ความสะดวก-รวดเร็ว-ปลอดภัย “ นับเป็นปัจจัยสำคัญในการใช้รถใช้ถนน รวมถึงระบบการขนส่งอื่นๆ ครอบคลุมทั้งทางบก ทางน้ำ ทางราง และทางอากาศ
ทั้งนี้ การกำหนดอัตราความเร็วสูงสุดเป็น 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง และกำหนดประเภทถนนที่ใช้ความเร็วดังกล่าวได้ ต้องเป็นทางหลวงแผ่นดินและทางหลวงชนบทที่มีช่องเดินรถทิศทางเดียวกันตั้งแต่ 2 ช่องขึ้นไป (4 ช่องจราจรไป–กลับ) มีเกาะกลางถนนแบบกำแพงกั้น (Barrier Median) และไม่มีจุดกลับรถเสมอระดับถนน
ขณะที่กรมทางหลวงและทางหลวงชนบท ได้ทำการประกาศรายชื่อถนนความเร็ว 120 กม./ชม.ได้ โดยเริ่มต้นจากระยะที่ 1 เช่น บนทางหลวงหมายเลข 32 หรือถนนสายเอเชีย ช่วงหมวดทางหลวงบางปะอิน ถึงทางต่างระดับอ่างทอง เป็นเส้นทางแรก เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 64 ที่ผ่านมา
หลังจากนั้นก็ได้มีการประกาศระยะที่ 2 ไปจนถึงระยะทื่ 4 ตามลำดับ กระจายไปตามเส้นทางถนนภูมิภาคต่างๆครอบคลุมทั่วประเทศ
แต่ทว่า ล่าสุดปีนี้กลับพบว่า ถนนเส้นทางที่ประกาศให้ใช้ความเร็ว 120 กม./ชม. ไปแล้วนั้น ดูเหมือนจะหละหลวม ประกาศสำคัญไม่สอดคล้องกับกฎกระทรวงฉบับปรับปรุงแก้ไข เมื่อเดือนมีนาคม 2564 (ตามภาพประกอบ) เส้นทางเจ้าปัญหานี้เป็นเส้นทางสายใต้
“ออโต้บานแบบไทยๆ นั่นคือ ถนนเส้นทางสายใต้ ช่วงระหว่างชะอำ- เพชรบุรี ทั้งที่ความจริง ถนนเส้นทางนี้วิ่งผ่านชุมชน เมืองแท้ๆ ไม่มีทางคู่ขนาน แถมยังมีจุดกลับรถชาวบ้านเป็นระยะๆ แต่ไม่รู้อีท่าไหน กลับอัดทุรังอุตส่าห์กำหนดประกาศเป็นเขตควบคุมความเร็วที่ 100-120 กม.”
ถนนเส้นทางนี้เป็นไปได้ว่า วันดีคืนดีอาจจะสุ่มเสี่ยงเกิดอุบัติสูงมาก หากเป็นไปได้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทำการทบทวนปรับแก้ด่วนที่สุด
ซ้ำร้ายไปกว่านั้น กลับสวนทางกับนโยบาย “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.กระทรวงคมนาคม ที่กล่าวย้ำว่า“สะดวก-รวดเร็ว-ปลอดภัย “ ใช่หรือไม่?