ยังคงเป็นประเด็นสุดฮอต เป็นทอล์ก ออฟ เดอะทาวน์ ที่กำลังเรียกแขกให้งานเข้า
เรื่องของ “ควันหลง” จากการปรับขึ้นค่า FT ระลอกล่าสุดของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่จะดีเดย์ในงวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2566 นี้ ที่แม้จะเอื้ออาทรให้ครัวเรือนยังคงจ่ายค่า FT ในอัตราเดิม แต่ในส่วนของภาคธุรกิจที่เจอค่าไฟฟ้าใหม่เข้าไปเต็มๆ นั้น ก็ตั้งแท่นส่งสัญญาณที่ชัดเจนออกมาแล้ว
ยังไงซะก็ต้องผลักภาระไปให้ผู้บริโภควันยังค่ำ แต่แม้โรงเรียน สถานศึกษาเอง ก็อาจต้องขึ้นค่า “แป๊ะเจี๊ยะ” เอ้ย! ค่าเทอมเอากับผู้ปกครอง เพราะเมื่อค่าไฟฟ้าแพงขึ้น ย่อมหลีกหนีไม่พ้นที่จะต้องหาทางผลักภาระออกไป ส่วนสินค้าและบริการทั้งหลายแหล่นั้น อันนั้นมันแน่อยู่แล้วว่า จะต้องถูกบวกลงไปในราคาสินค้าและบริการทั้งหลายโดยอัตโนมัติ ก่อนที่ถนนทุกสาย รวมทั้งคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) จะออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลและกระทรวงพลังงานได้ทบทวนการปรับขึ้นค่าไฟในครั้งนี้
“ลำพังวิกฤตเศรษฐกิจจากผลพวงไวรัสโควิด-19 ที่ประชาชนคนไทยต้องเผชิญมาในห้วง 3-4 ปีที่ผ่านมานั้น ก็นับว่าสาหัสสากรรจ์กัน ทำเอาประชาชนคนไทยสำลักกันถ้วนหน้าอยู่แล้ว ความหวังในอันที่จะได้ลืมตาอ้าปากกันในปี 2566 ที่คาดว่า จะมีการเลือกตั้ง มีรัฐบาลใหม่และมีเงินสะพัด เมื่อมีเจอกับ “กับดักของค่าไฟ” แบบนี้ ก็เห็นทีจะกู่ไม่กลับกันก็งานนี้”
วันวานได้อ่านข้อเรียกร้องของสภาองค์กรของผู้บริโภค และเครือข่าย ที่ร่วมกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ออกโรงยื่นข้อเรียกร้องบให้กระทรวงพลังงานเร่งแก้ไขไฟฟ้าแพงที่ว่านี้ ก่อนโยนบาปไปที่การวางแผนการผลิตพลังงานไฟฟ้าของรัฐบาลผิดพลาดมาอย่างต่อเนื่อง คำนึงถึงความมั่นคงจนเกินความจำเป็น และเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจพลังงานไฟฟ้าของภาคเอกชนบางกลุ่มเกินสมควร ซ้ำยังมีแผนการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้นอีก จนภาคผลิตไฟฟ้าเอกชนมีสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าสูงเกือบ 70% ของกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของประเทศ ขณะที่กำลังผลิตไฟฟ้าของภาครัฐโดยตรงเหลือเพียง 30% เท่านั้น
แต่ก็อย่างที่ทุกฝ่ายรู้แก่ใจกันดี ก็หากยังคงยืนยันว่า ปริมาณสำรองไฟฟ้า Reserve Margin บ้านเราที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมีล้นทะลักไปแล้ว เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ประชาชนต้องจ่ายค่าไฟส่วนเกินแพงกันนัก แล้วทำไมเครือข่าย “ขุ่นแม่” ถึงไม่ออกโรงคัดค้าน คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่กำลังเดินเครื่อง รับซื้อไฟฟ้าสีเขียว หรือไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนระลอกใหม่อีกกว่า 5,200 เมกกะวัตต์ ในช่วงปี 2565-73 นี้อยู่ ก็ในเมื่อทุกฝ่ายบอกว่า “สำรองไฟฟ้าล้นจนสำลัก” แล้วจะซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนไปเพื่อ???
ส่วนเรื่องที่สหภาพการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ และฝ่ายบริหาร กฟผ. ออกมาตีฆ้องผสมโรงกับเรื่องนี้ “เต็มคาราเบล” โดยหยิบยกกำลังการผลิตไฟฟ้าโดยรวมของประเทศ เพื่อชี้ให้เห็นว่า กฟผ. นั้น ถูกรัฐบาลและกระทรวงพลังงานเบียดตกขอบ สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. ในปัจจุบันนั้นมีอยู่เพียง 16,920.32 เมกะวัตต์ (MW) หรือ 34.44% ของกำลังผลิตไฟฟ้าโดยรวมของประเทศเท่านั้น ที่เหลือเป็นของผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระรายใหญ่ IPP 16,748 MW หรือ 34.08% ผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระรายย่อย (SPP) 9,232.79 MW และจัดซื้อไฟจากต่างประเทศอีก 6,234.90 MW (รายละเอียดตามกราฟฟิค)
แต่สิ่งหนึ่งที่ กฟผ. คงลืมแจกจงไป ก็คือ กำลังการผลิตไฟฟ้าของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ IPP ที่ว่านั้น ส่วนหนึ่งก็คือบริษัทลูกของ กฟผ. เอง ไม่ว่าจะบริษัทผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ “เอ็กโก กรุ๊ป” ที่ กฟผ. นั่นแหล่ะจัดตั้งขึ้นตามนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจของรัฐบาล และส่งเสริมให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุนผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าเพื่อลดภาระการลงทุนของภาครัฐ โดย กฟผ. ได้จัดตั้ง “เอ็กโก กรุ๊ป” ขึ้นในปี 2535 ก่อนจดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนในปี 2537 ใช้ชื่อว่า บริษัทผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) ก่อนนำกิจการเข้าจดทะเบียนระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อปี 2538 เป็นบริษัทผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่แห่งแรกของประเทศไทยเลยก็ว่าได้
แต่คล้อยหลังจากนั้นไม่ถึง 3 ปี กฟผ. ก็ขายหุ้นที่ตัวเองถืออยู่ในมือออกไปเกือบทั้งหมด โดยเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 41 ได้ขายหุ้นบิ๊กล็อต 78 ล้านหุ้น หรือ 14.92% คิดเป็นมูลค่าราว 9,800 ล้านบาท ให้บริษัท China Light and Power (Thailand) : CLPT ซึ่งเป็นบริษัทผู้ประกอบธุรกิจพลังงานจากฮ่องกง ก่อนที่ในอีกไม่กี่ปีต่อมาบริษัท CLPT จะขายหุ้นต่อไปให้กับ OneEnergy Limited และถูกเปลี่ยนมืออีกครั้งไปเป็นของ Tokyo Electric Power Company (TEPCO) จากญี่ปุ่นในปัจจุบัน โดยในส่วนของ กฟผ.นั้น เหลือหุ้นอยู่ในมือเพียง 25.41% เท่านั้น จนแทบไม่มีสิทธิ์ออกเสียง “วีโต้” แต่อย่างใด
นอกจากการจัดตั้งบริษัทเอ็กโก กรุ๊ป แล้ว ในปี 2543 กฟผ. ยังไปจัดตั้ง บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง จำกัด ขึ้นมาอีกบริษัท มีทุนจดทะเบียนสุดมหึมาถึง 14,500 ล้านบาท เพื่อหวังจะให้ผงาดเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน และบริษัทชั้นนำด้านพลังงานและระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน โดย กฟผ. ถือหุ้นใหญ่ 45% ก่อนจะแปรรูปและนำกิจการเข้าจดทะเบียนระดมทุนในตลาด และได้ปรับเปลี่ยนชื่อเป็น บมจ.ราชกรุ๊ป อยู่ในปัจจุบัน ส่วนหุ้นใหญ่ที่ถืออยู่ในปัจจุบันนั้น จะมีแผน “เซ็งลี้” ออกไปให้ใครที่ไหนอีกหรือไม่ คงเป็นเรื่องที่ต้องจับตาดูกันต่อไป
นอกจากนั้น ในส่วนของการจัดซื้อไฟฟ้าจากเพื่อนบ้านจากผู้ผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนต่างๆ ใน สปป.ลาว นั้น กฟผ.คงลืมไปสนิทว่า การขายไฟฟ้าที่ว่านี้มาให้กับประเทศไทยนั้น เขาขายตรงสู่ 2 การไฟฟ้าหรือสู่ชุมชนหรือไม่ และขายในราคาแพงกว่าที่ตนเองผลิตไฟขายอยู่ในปัจจุบันหรือไม่ เพราะไฟฟ้าจากเพื่อนบ้านที่ส่งเข้ามายังประเทศนั้น ต้องผ่านระบบสายส่งของบิ๊ก กฟผ. แต่ผู้เดียว ไม่สามารถจะซิกแซกลอดลำน้ำโขงมาขายตรงสู่ชุมชนได้ ส่วนไฟฟ้าที่ขายมาให้นั้น จะถูกบวกกำรี้กำไรไปสักกี่มากน้อยอย่างไรอันนี้ไม่มีใครตรวจสอบได้ (แม้แต่บอด) กฟผ.เอง จริงหรือไม่อย่างไร คงต้องให้ท่านโฆษก กฟผ. ออกมาชี้แจงแถลงต่อสาธารณะกันอีกหน ช่วยบอกประชาชนให้ชื่นใจทีว่า ไฟฟ้าที่เรานำเข้ามาจากผู้ผลิตไฟฟ้าในเขื่อนต่างๆ ใน สปป.ลาว นั้น ไม่น่าจะนำเข้ามาเลย เพราะขายแพงบรรลัย สู้ที่ กฟผ. ผลิตเองไม่ได้ถูกกว่าครึ่ง
“ถ้าท่านยืนยันอย่างนั้นได้ ประชาชนคนไทยก็พร้อมจะเชียร์ให้ กฟผ. ผูกขาดการผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศ ณ บัดดลนี้เลยทีเดียว กลัวแต่ ”ยิ่งแก้(ตัว)… ก็ยิ่งล่อนจ้อน” ซิไม่ว่า จริงไม่จริงท่านผู้ว่า กฟผ. ที่เคารพ!!!
เรื่องโดย… แก่งหิน เพิง
หมายเหตุ: อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง..
– เนตรทิพย์: Special Report
ดราม่าต้นตอค่าไฟแพง (1) นโยบายรัฐผิดพลาด หรือแผนยืมมือฟื้น”เสือนอนกิน”
http://www.natethip.com/news.php?id=6150
– เนตรทิพย์: Special Report
ดราม่าต้นตอค่าไฟแพงแบบก้าวกระโดด (ตอนที่2) คลี่โรงไฟฟ้าชุบทอง กฟผ. – เปิดโมเดลพลังงานในฝัน!
http://www.natethip.com/news.php?id=6158
– เนตรทิพย์: Special Report
ดราม่าต้นตอค่าไฟแพง (ตอนที่ 3).. เส้นทางปฏิรูปพลังงานในฝัน!
http://www.natethip.com/news.php?id=6159
– เนตรทิพย์: Special Report
“ใครคือไอ้โม่งตัวจริง! ทำค่าไฟแพงฉิบ…”
http://www.natethip.com/news.php?id=5912