“ศักดิ์สยาม”ชี้แจงกระทู้สดกรณีรถไฟไม่เข้าสถานีหัวลำโพง มีผลกระทบต่อประชาชน กระทรวงคมนาคมจะบรรเทาและมีแผนงานรองรับอย่างไร
เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.65 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ชี้แจงกระทู้สด ส.ว. คำนูน สิทธิสมาน “กรณีรถไฟไม่เข้าสถานีหัวลำโพง มีผลกระทบต่อประชาชน ทางกระทรวงคมนาคมจะบรรเทาอย่างไร มีแผนงานรองรับอย่างไร” เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2565 ณ อาคารรัฐสภา
นายศักดิ์สยามชี้แจงกระทู้สด ส.ว. คำนูน สิทธิสมาน “กรณีรถไฟไม่เข้าสถานีหัวลำโพง มีผลกระทบต่อประชาชน ทางกระทรวงคมนาคมจะบรรเทาอย่างไร มีแผนงานรองรับอย่างไร” ว่า การย้ายสถานีปลายทางเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์นั้นจะเป็นการย้ายรถไฟเพียงบางส่วน ไม่ได้ย้ายทั้งหมด โดยขบวนรถที่จะย้ายมาที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ได้แก่ รถไฟทางไกลเชิงพาณิชย์ เช่น รถด่วนพิเศษ รถด่วน รถเร็ว ซึ่งเดินรถทางไกลระหว่างจังหวัดมีการเดินรถรวม 52 ขบวนต่อวันเท่านั้น ในขณะที่รถไฟเชิงสังคม เช่น รถชานเมืองและรถธรรมดา ที่ประชาชนใช้สัญจรเป็นประจำเพื่อเดินทางไปทำงาน จำนวน 48 ขบวนต่อวัน ยังคงวิ่งให้บริการเข้า – ออก จากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ตามปกติ เพื่อให้เกิดผลกระทบกับประชาชนที่เดินทางเป็นประจำน้อยที่สุด
ส่วนประเด็นเรื่องการบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน กระทรวงคมนาคมได้มีแผนรองรับและเยียวยาผลกระทบบของประชาชนจากการเปลี่ยนแปลงสถานีปลายทางของรถไฟเชิงพาณิชย์สายเหนือ สายตะวันออก และสายใต้ ดังนี้
1) ผู้โดยสารรถเชิงพาณิชย์ (ขาเข้ากรุงเทพฯ) ที่ถือตั๋วโดยสารและระบุปลายทางในตั๋ว คือ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ สถานีดอนเมือง (ยกเว้นสถานีรังสิต) หากมีความประสงค์จะลงในสถานีที่รถไฟไม่สามารถจอดเทียบชานชาลาได้ สามารถนำตั๋วโดยสารแสดงต่อเจ้าหน้าที่ที่สถานีรถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) และเข้าใช้บริการรถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) ได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม
2) ผู้โดยสารรถเชิงพาณิชย์ (ขาออกกรุงเทพฯ) ที่ถือตั๋วโดยสารและระบุต้นทางในตั๋วโดยสาร คือ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ สถานีดอนเมือง (ยกเว้นสถานีรังสิต) สามารถนำตั๋วโดยสารแสดงต่อเจ้าหน้าที่ที่สถานีรถไฟฟ้า (สายสีแดง) เพื่อไปขึ้นรถไฟที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ หรือสถานีดอนเมืองที่ระบุบนตั๋วโดยสารได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
3) กรณีผู้โดยสารรถไฟเชิงสังคมสามารถใช้ตั๋วโดยสาร (รายเดือน) กับรถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) ได้ในสถานีที่รถไฟที่ไม่สามารถจอดให้บริการได้ เช่น สถานีบางเขน สถานีทุ่งสองห้อง สถานีหลักสี่ และสถานีการเคหะ โดยมีระยะเวลาการเยียวยา 1 ปี นับจากวันที่เริ่มดำเนินการเพื่อบรรเทาปัญหาผู้เดินทาง และจะมีการประเมินผลอีกครั้ง สำหรับผู้โดยสารรถไฟเชิงพาณิชย์ที่ต้องการเดินทางเข้าสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) สามารถเชื่อมต่อการเดินทางกับรถไฟเชิงสังคมที่ให้บริการมากกว่า 50 ขบวน ได้ที่สถานีรังสิต สถานีดอนเมือง และสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ หรือสามารถเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะอื่นเช่นกัน
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคม ได้รับฟังความคิดเห็นประชาชนของประชาชน และได้นำความเห็นของประชาชนมาปรับปรุงการให้บริการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด โดยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 19 – 28 ตุลาคม 2565 พบว่าร้อยละ 70.30 เห็นด้วยกับการย้ายสถานีปลายทาง โดยเห็นว่า สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ มีความเหมาะสม และมีความพร้อมเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางรางของประเทศ และอยากให้มีการใช้ประโยชน์จากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ให้คุ้มค่าสูงสุด
สำหรับแผนการดำเนินงาน การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้กำหนดเริ่มให้บริการรถไฟทางไกล ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2566 เป็นต้นไป โดยในวันดังกล่าวจะมีการเปิดเดินขบวนรถไฟเที่ยวปฐมฤกษ์ ในเวลา 13.19 น. ด้วยขบวนรถดีเซลรางปรับอากาศ KIHA เดินรถจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ – สถานีอยุธยา ซึ่งขณะนี้ได้ทดลองเดินรถเสมือนจริงของรถไฟทางไกลร่วมกับรถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) และพนักงานขับรถไฟ เพื่อสร้างความคุ้นเคยกับเส้นทางและระบบในพื้นที่ สายสีแดงช่วงบางซื่อ – รังสิต และช่วงบางซื่อ – ตลิ่งชัน ตั้งแต่เดือนกันยายน – ธันวาคม 2565 รวม 1,458 เที่ยววิ่ง
รวมไปถึงตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2566 เป็นต้นไป รถไฟโดยสารสายเหนือและสายตะวันออกเฉียงเหนือ ทุกขบวน จะใช้เส้นทางรถไฟยกระดับของสายสีแดง ระหว่างสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ – สถานีรังสิต ซึ่งมีทางตัดผ่านถนนเสมอระดับทาง จำนวน 8 แห่ง บนถนนแจ้งวัฒนะ ถนนงามวงศ์วาน และจะไม่มีขบวนรถไฟโดยสารเดินบนเส้นทางรถไฟเดิมระดับดิน
นอกจากนี้ รฟท. ได้ปรับแผนเดินรถไฟขนส่งสินค้าให้เดินเข้าเขตกรุงเทพฯ ชั้นในช่วงเวลากลางคืน ซึ่งช่วยลดจำนวนรถไฟที่จะผ่านจุดตัดถนน ซึ่งจะเป็นผลดีทั้งต่อการลดการจราจรแออัดในเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน และช่วยลดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางรถไฟ ลดความสูญเสียต่อพี่น้องประชาชน