“สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ นครวิถี ธานีรัถยา”นามพระราชทาน ศูนย์กลางระบบรางของประเทศ

0
72

การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ก่อสร้างโครงการศูนย์กลางระบบรางและเส้นทางรถไฟชานเมืองสายสีแดง ตามแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมของประเทศ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและพัฒนาโลจิสติกส์ของไทยให้มีความโดดเด่น กลายเป็นศูนย์กลางคมนาคมในรูปแบบสถานีรถไฟที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศและภูมิภาคอาเซียน สามารถเชื่อมต่อทุกการเดินทาง ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศได้แบบไร้รอยต่อ

พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานพระบรมราชานุญาตในการพระราชทานนามชื่อศูนย์กลางระบบราง และเส้นทางรถไฟชานเมืองสายสีแดง เพื่อเป็นสิริมงคลแก่การรถไฟฯ และประชาชนปวงชนชาวไทย ประกอบด้วย

1. พระราชทานชื่อศูนย์กลางระบบราง ว่า “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์”

2. พระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน (บางซื่อ – ตลิ่งชัน) ระยะที่ 1 ว่า “นครวิถี”

3. พระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม (บางซื่อ – รังสิต) ระยะที่ 1 ว่า “ธานีรัถยา”

“สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” มีความหมายว่า ความเจริญรุ่งเรืองแห่งกรุงเทพมหานคร เป็นสถานีรถไฟหลักแห่งใหม่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยให้มีการพัฒนาและยกระดับให้เป็นศูนย์กลางการระบบคมนาคมทางรางที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ที่ครอบคลุม เชื่อมต่อการเดินทางและการขนส่งมวลชนทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้า รถไฟชานเมืองสายสีแดง รถไฟทางไกล รถไฟความเร็วสูง รถไฟเชื่อมท่าอากาศยาน ตลอดจนโครงข่ายถนนสายหลัก ทางพิเศษ ทางยกระดับควบคู่ไปกับการพัฒนาพื้นที่โดยรอบ พลิกโฉมให้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ ที่ประชาชนสามารถเชื่อมการเดินทางไปยังทุกจุดหมาย ลดระยะเวลาในการเดินทาง และลดต้นทุนการเดินทางของประชาชน พร้อมเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“นครวิถี” มีความหมายว่า เส้นทางของเมือง เป็นเส้นทางรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน (ตะวันออก-ตะวันตก) วิ่งระหว่างสถานีบางซื่อ – ตลิ่งชัน

“ธานีรัถยา” ความหมายว่า เส้นทางของเมือง เป็นเส้นทางรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม (เหนือ-ใต้) วิ่งระหว่างสถานีบางซื่อ – สถานีรังสิตเส้นทางรถไฟชานเมืองสายสีแดง

ทั้ง 2 เส้นทาง เป็นเส้นทางรถไฟที่เป็นแกนหลักของแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในการดำเนินการแก้ไขปัญหาจราจรในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยบูรณาการร่วมกันกับระบบรถไฟทางไกลที่สามารถเชื่อมโยงการเดินทางไปสู่ภูมิภาคต่างๆ อีกทั้งสามารถเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนอีกหลายโครงข่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตในการเดินทางของประชาชน ถือเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งที่สำคัญของระบบขนส่งคมนาคมของประเทศต่อไป