“ขณะนี้ไทยเรายังไม่ได้ทำอะไรที่เป็นเรื่องเป็นราว ซึ่งต้องรีบทำให้ฝั่งชายแดนจ.หนองคาย หรือฝั่งชายแดนจ.อุดรธานีก็ดี ต้องรีบดำเนินการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟความเร็วสูงลาว-จีน”
ถึงวันนี้โครงการความร่วมมือการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพฯ – หนองคาย และการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย สปป.ลาว และจีน ก้าวหน้าไปถึงไหน
เมื่อวันที่ 28 ส.ค.65 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงตอนหนึ่งสรุปว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างงานโยธาของโครงการระยะที่ 1 และระยะที่ 2ได้ออกแบบงานโยธาแล้วเสร็จแล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณารายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม(EIA)
หากเหลียวมองดูประเทศเพื่อนบ้าน อย่างประเทศ สปป.ลาว เดินหน้าไม่หยุดหลังจากชิงเปิดหวูดรถไฟความเร็วสูงลาว-จีนไปก่อนไทย เมื่อปลายปี 64 ที่ผ่านมา ล่าสุด สปป.ลาวยัง เปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษโลจิส ติกส์ปาร์คน้องใหม่ (ป้ายแดง)และมีความสำคัญอย่างไร ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้
รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผอ.ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ ม.หอการค้าไทย เปิดเผยถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษโลจิสติกส์นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว ว่าประเทศสปป.ลาวมีทั้งสิ้น 12 เขตเศรษฐกิจจากทั่วประเทศ หรืออาจจะเรียก 12 เขตอุตสาหกรรม หากโฟกัสเฉพาะที่นครหลวงเวียงจันทน์ก็พบว่ามี 4 เขตเศรษฐกิจพิเศษ
ทั้งนี้ เขตเศรษฐกิจพิเศษโลจิสติกส์ นครหลวงเวียงจันทน์ น้องใหม่เป็น 1 ใน 4 เขตเศรษฐกิจพิเศษฯนั้นมีความสำคัญมาก เพราะได้ชื่อว่าเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษน้องใหม่กำลังมากแรงแซงโค้งจริงๆ ประชาชนสปป.ลาว มักรู้จักในชื่อ “เขตเศรษฐกิจพิเศษโลจิสติกส์ปาร์ก “ ต้องยอมรับว่ามีความสำคัญมากกว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษอื่นๆ ในนครหลวงเวียงจันทน์
เขตเศรษฐกิจพิเศษอื่นๆจะมีประเทศจีน มาเลเซีย และเวียดนาม เข้าไปพัฒนา แต่ “เขตเศรษฐพิเศษโลจิสติกส์น้องใหม่ 2019 “ ผู้พัฒนาเป็นนักลงทุนลาว 100 % นอกจากนี้ เขตเศรษฐกิจแห่งนี้ยังมีความสำคัญเพราะทำเลที่ตั้งเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟความเร็วสูงลาว-จีน รวมถึง ยังมีท่าเรือบกที่ขนถ่ายตู้สินค้าขึ้น-ลง ทั้งมีเขตพิ้นที่ Free Zone หรือเขตปลอดภาษี ตลอดจนมีพื้นที่ที่มีถังน้ำมันใหญ่ๆ ผนวกกับตำแหน่งที่ตั้งอยู่ในอาณาเขตของนครหลวงเวียงจันทน์ ซึ่งดินแดนใกล้กับไทยไม่ห่างจากเวียดนาม และกัมพูชามากนัก
โลจิสติกส์ HUB – ส่งออกสินค้าทั่วโลก
ดังนั้น จึงกลายเป็นโลจิสติกส์ HUB อันจะมีผลต่อเศรษฐกิจของ สปป.ลาว ติดปีกไปได้เยอะมาก แน่นอนที่สุดสินค้าเกษตร ในพื้นที่นครหลวงเวียงจันทน์จะมาใช้บริการในเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งนี้ เพื่อส่งสินค้าต่างไปยังประเทศจีนแลประเทศต่างทั่วโลก รวมทั้ง นักท่องเที่ยวจะเดินทางเข้ามาที่นี่
“เหนือสิ่งอี่นใดเขตเศรษฐกิจพิเศษฯแห่งนี้จะกลายเป็นแหล่งแปรรูปสินค้าอุตสาหกรรม สินค้าเกษตร นักธุรกิจลาวอาจจะนำสินค้าเกษตรไทยไปแปรรูปเป็นสินค้าอุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งนี้ก็ได้ เพราะสถานที่แห่งนี้เชื่อมต่อกับสถานีรถไฟความเร็วสูงลาว-จีน เชื่อมต่อกันท่าเรือบก อีกทั้งยังใกล้กับสถานีท่านาแร้งที่ระยะทางใกล้กับเขตประเทศไทย ดังนั้น ทุกอย่างจึงพร้อม Connectivity 100% “
รศ.ดร.อัทธ์ ยังกล่าวต่อว่า ส่วนประเทศไทยคาดว่าจะรับอานิสงส์ เนื่องจากทำเลที่ตั้งประเทศอยู่ในเส้นทางรถไฟความเร็วสูงไทย-ลาว-จีน แต่สิ่งที่ประเทศไทยควรทำคือ พูดคุยกับ 2 ประเทศคือ ลาว จีน เกี่ยวกับกฎระเบียบกติกา เพราะการขนส่งสินค้าจะมีค่าใช้จ่าย ขั้นตอนดำเนินการก็คงไม่ง่าย ฉะนั้น ทางผู้นำไทยคงจะต้องคุยถึงเรื่องซอฟต์แวร์
จี้ไทยเร่งเชื่อมต่อรถไฟลาว-จีน
“ขณะนี้ไทยเรายังไม่ได้ทำอะไรที่เป็นเรื่องเป็นราว ซึ่งต้องรีบทำให้เป็นรูปธรรม ฝั่งชายแดนจ.หนองคาย หรือฝั่งชายแดนจ.อุดรธานีก็ดี ต้องรีบดำเนินการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟความเร็วสูงลาว-จีน“
โดยเฉพาะบริเวณสะพานเชื่อมไทย- ลาว แห่งที่สอง ที่จ.หนองคายจะต้องรีบดำเนินการให้แล้วเสร็จ กล่าวคือเส้นทางรถไฟจากสถานีจ.หนองคายจะต้องเชื่อมต่อกับรถไฟความเร็วสูงลาว-จีนด่วนที่สุด เนื่องจากไทยเราจะได้ประโยชน์ในลักษณะวิน-วิน ชนะร่วมกันระหว่างประเทศไทย ลาว จีน
“ประเทศไทยที่รัก ควรกลับไปคิดใหม่ว่า งานอุตสาหกรรมที่อยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษควรจะโฟกัสและเน้นในเขตเศรษฐกิจพิเศษดีกว่า ถ้าเราเน้นอุตสาหกรรมที่เป็นโฟกัสประเภท Liber หรือแรงงาน เราก็ไม่อาจจะไปแข่งขันกับประเทศ สปป.ลาว หรือประเทศอื่นๆได้ เราไม่ควรใช้คำว่า “สู้” แต่เราควรใช้คำว่า ความร่วมมืออุตสาหกรรม เติมเต็มซึ่งกันและกันมากกว่า “ รศ.ดร.อัทธ์ กล่าวทิ้งท้าย