ไทยพร้อมเป็น”ดีทรอยต์แห่งเอเชีย”ผลิตรถยนต์อีก 9 ปี

0
35

โฆษกรัฐบาลเผยไทยพร้อมเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ในภูมิภาค ชี้ผลการสำรวจแนวโน้มอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยในช่วง 9 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2565 – 2574) มีแนวโน้มสดใส (Good prospect)

เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงผลการสำรวจแนวโน้มอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยในช่วง 9 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2565 – 2574) ยังมีแนวโน้มที่เติบโตได้ดี โดยเป็นผลจากนโยบายส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาล การลงนามในความตกลงเขตการค้าเสรีของไทยกับหลาย ๆ ประเทศ รวมถึงปัจจัยสนับสนุนการส่งออกรถยนต์อื่น ๆ

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เว็บไซต์ Research and Markets ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่รวบรวมผลงานวิจัยในด้านต่าง ๆ ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้เผยแพร่ผลการสำรวจแนวโน้มอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยระหว่างปี พ.ศ. 2565 – 2574 (Research Report on Thailand’s Automobile Industry, 2022-2031) ระบุว่า ด้วยปัจจัยทางภูมิศาสตร์ที่เหนือกว่า และการสนับสนุนจากรัฐบาล ประเทศไทยจึงเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และถูกเรียกว่าดีทรอยต์แห่งเอเชีย (Detroit of Asia) โดยในปี 2564 มูลค่าส่งออกของการผลิตรถยนต์คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 10% ของ GDP ของประเทศไทย

โดยอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยเน้นการส่งออกในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีการส่งออกรถยนต์มากกว่า 1 ล้านคัน ไปยังประเทศในกลุ่มอาเซียน ออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง และยุโรปทุกปี ในขณะที่ภาษีนำเข้ารถยนต์มีแนวโน้มว่าจะลดลง เนื่องจากไทยได้ลงนามในข้อตกลงการค้าเสรีมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประกอบกับ รัฐบาลไทยมีนโยบายดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ที่พัฒนาไปมาก และมีผู้ผลิต (supplier) ชิ้นส่วนยานยนต์จำนวนมาก แม้ยังคงจะต้องนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ที่สำคัญอยู่

ซึ่งรวมทั้งรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนผู้ประกอบการรถยนต์ EV เพื่อสนับสนุนการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ตามเป้าหมายของไทยในการเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี 2065 อีกด้วย

“รัฐบาลมุ่งมั่น วางแผนดำเนินนโยบาย ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อกระตุ้นการลงทุนในประเทศไทย โดยอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นอีกเป้าหมายสำคัญ เพื่อผลักดันไทยไปสู่การเป็นฐานการผลิต และการลงทุนยานยนต์ที่สำคัญของโลกหรือศูนย์กลางของภูมิภาค โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน โดยต้องการเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันในด้านต่าง ๆ ให้กับประเทศไทย ในขณะเดียวกันก็คำนึงถึงการรักษาความสมดุลของสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนเพื่อส่งต่อโลกให้คนรุ่นใหม่” นายอนุชากล่าว