นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะทำงานด้านการขนส่งของเอเปค ครั้งที่ 52 เพื่ออำนวยความสะดวกการค้า การลงทุน และฟื้นฟูความเชื่อมโยงด้านการเดินทางและการท่องเที่ยวในเขตเศรษฐกิจเอเปคและระดับโลก โดยมีสมาชิกทั้งหมด 21 เขตเศรษฐกิจ ซึ่งมารวมประชุมในครั้งนี้ 14 เขตเศรษฐกิจว่า ประเทศไทยโดยกระทรวงคมนาคมได้นำเสนอโลจิสติกส์ทั้ง 4 มิติ ประกอบด้วย ทางบก ทางน้ำ ทางราง และทางอากาศ เพื่อสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในการที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของโลจิสติกส์ของภูมิภาคอาเซียน โดยจะเห็นรูปธรรมในระยะแรกคือ โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยการพัฒนาท่าเทียบเรือแหลมฉบังเฟส3 / การพัฒนาเมืองการบินอู่ตะเภา / การพัฒนาโครงการทางพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) และระบบรางที่จะเชื่อมต่อมายังกรุงเทพมหานคร และภูมิภาค
นอกจากนี้ได้นำเสนอว่าโครงการต่อไปที่ประเทศไทยจะดำเนินการแผนเมกะโปรเจ็กต์ เพื่อเปิดประตูอีอีซีสู่โลก และเปิดโลกสู่อีอีซี คือโครงการแลนด์บริดจ์ ชุมพร-ระนอง โดยมีประเทศต้นแบบที่ดำเนินการแล้วสำเร็จ คือท่าเรือ”ตูอัส” ของสิงคโปร์ โดยใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี สามารถก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกที่สามารถรองรับตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ได้ 18 ล้านทีอียู และวางแผนรองรับได้ 68 ล้านทีอียู ภายใน 20ปี ซึ่งเป็นโครงการคล้ายคลึงกับโครงการแลนด์บริดจ์ของไทย แต่ประเทศไทยถือว่า มีข้อได้เปรียบเรื่องของที่ตั้งที่เป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อ อย่างไรก็ตาม ได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ศึกษาเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือคาร์บอนเครดิต ซึ่งในอนาคตถือว่ามีความสำคัญ โดยได้นำเสนอต่อที่ประชุม
“สำหรับผลการศึกษา โครงการแลนด์บริดจ์ ชุมพร-ระนอง ล่าสุด ใกล้แล้วเสร็จ ซึ่งจะมีการรายงานผลการศึกษาอย่างละเอียดว่าต้องใช้เงินลงทุนมาก-น้อยเพียงใด ขณะที่ประเทศและประชาชนจะได้รับประโยชน์อย่างไร รวมถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หลังจากนี้คาดว่าจะสามารถนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ภายในปี 2565 โดยมีแผนก่อสร้างในปี 72-73 จากนั้น จะมีการโรดโชว์ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างความรับรู้ และหาพาร์ตเนอร์จากต่างประเทศมาร่วมลงทุน เนื่องจากเราไม่สามารถลงทุนคนเดียวได้”นายศักดิ์สยาม กล่าว