ทช.ยกระดับมาตรฐานทางเข้าโครงการหลวง อ.เวียงป่าเป้า คาดแล้วเสร็จกลางปี67

0
96

กรมทางหลวงชนบท(ทช.)ยกระดับมาตรฐานทางเข้าโครงการหลวง สายบ้านทุ่งยาว อ.เวียงป่าเป้า กว่า 36 กม.ส่งเสริมท่องเที่ยวเชียงรายและเชียงใหม่ เพิ่มคุณภาพชีวิตให้ประชาชนสัญจรปลอดภัยทุกฤดู คาดก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์ทั้งเส้นช่วงกลางปี 67

กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ดำเนินโครงการก่อสร้างถนนสายแยก ทล.118 – บ้านทุ่งยาว อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ทางเข้าโครงการหลวงในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร นับเป็นความภาคภูมิใจของ ทช. ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการได้รับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท ในการสร้างเส้นทางสนับสนุนพื้นที่โครงการหลวงและโครงการพระราชดำริ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม โดยการยกระดับมาตรฐานทางให้ประชาชนสามารถสัญจรได้อย่างสะดวกปลอดภัยในทุกฤดู เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งผลิตผลทางการเกษตรให้ออกสู่ท้องตลาดได้ทันเวลา ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ตามนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

โครงการก่อสร้างดังกล่าวเป็นเส้นทางเชื่อมจากแยก ทล.118 (เชียงใหม่ – เชียงราย) กม.ที่ 76+100 ด้านซ้าย โดยผ่านอ่างเก็บน้ำดอยงู บ้านทุ่งยาว บ้านห้วยทราย บ้านปางมะกาด บ้านป่าเมี่ยงม่อนวัด บ้านห้วยคุณพระ และบ้านขุนลาวแล้วจึงเชื่อมกับ ทล.118 (เชียงใหม่ – เชียงราย) อีกครั้ง กม.ที่ 54+100 โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ช่วง ดังนี้

– โครงการก่อสร้างถนนสายแยก ทล.118 – บ้านทุ่งยาว (ช่วงที่ 1) อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย รวมระยะทาง 19.800 กิโลเมตร ปัจจุบันได้เริ่มเข้าดำเนินการก่อสร้างแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างรางระบายน้ำ คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์ในช่วงกลางปี 2567 โดยก่อสร้างเป็นผิวจราจรแบบแอสฟัลท์ติกคอนกรีต 2 ช่องจราจร ไป – กลับ พร้อมก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก 3 แห่ง ก่อสร้างท่อลอดเหลี่ยม ระบบระบายน้ำคอนกรีตเสริมเหล็ก เครื่องหมายจราจรบนผิวทาง ระบบระบายน้ำ ติดตั้งเครื่องหมายจราจรและอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย ใช้งบประมาณในการก่อสร้างรวม 84.090 ล้านบาท

– โครงการก่อสร้างถนนสายแยก ทล.118 – บ้านทุ่งยาว (ช่วงที่ 2) อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย รวมระยะทาง 16.875 กิโลเมตร ปัจจุบันผลการดำเนินงานมีความคืบหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 71 ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างชั้นผิวจราจรคอนกรีต รางระบายน้ำ คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จสมบูรณ์ในช่วงต้นปี 2566 นี้

โดยก่อสร้างเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ช่องจราจร ไป – กลับ พร้อมก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก 3 แห่ง และติดตั้งป้ายจราจร เครื่องหมายจราจรบนผิวทาง ระบบระบายน้ำ เครื่องหมายจราจรและอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย ใช้งบประมาณในการก่อสร้างรวม 108.7 ล้านบาท