ธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ของไทย นับว่าเป็นหนึ่งในธุรกิจบริการที่มีความสำคัญมากต่อเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากเป็นสาขาที่จะเข้ามาช่วยในการเอื้ออำนวยความสะดวกทางการค้าและยังสามารถที่เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ภาคธุรกิจอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี จากฐานข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ แสดงถึงสถานภาพปัจจุบันของธุรกิจบริการโลจิสติกส์ โดยจากสถิติจำนวนนิติบุคคลที่มีการแบ่งหมวดหมู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจตามการจัดประเภทมาตรฐานอุตสาหกรรมประเทศไทยหรือ Thailand Standard Industrial Classification; TSIC ในหมวด H: การขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า จะเห็นได้ว่าจากข้อมูลปรากฎเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี พ.ศ. 2559 มีจำนวนนิติบุคคลคงอยู่ประมาณ 25,873 ราย แบ่งเป็นผู้ประกอบขนาดย่อมร้อยละ 96 ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดใหญ่รวมร้อยละ 4 จากจำนวนผู้ประกอบการทั้งหมด ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า ผู้ประกอบการของไทยส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการขนาดเล็กและมักจะเป็นบริษัทที่มีเงินทุนจำกัด ขาดแคลนการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้ในการให้บริการ รวมถึงขาดแคลนบุคลากรชำนาญการเฉพาะทางและขาด การทำธุรกิจเชิงรุก โดยจากสถานการณ์ปัจจุบันผู้ให้บริการโลจิสติกส์ที่มีการขยายกิจการหรือเครือข่ายไปต่างประเทศ ได้นั้น มักพบว่าจะเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ ในขณะที่ผู้ประกอบการรายเล็กนั้นยังไม่สามารถจะทำได้ เนื่องมาจากข้อจำกัดหลายอย่างด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการจำกัดจำนวนรถของไทยที่จะเข้าไปในประเทศกัมพูชา การห้ามไม่ให้รถของประเทศไทยวิ่งเข้าไปหรือการจำกัดน้ำหนักของรถบรรทุกสินค้าที่จะเข้าประเทศเมียนมาทำให้เป็นเพิ่มต้นทุนการขนส่งสินค้า เนื่องจากต้องทำการเปลี่ยนถ่ายรถบรรทุก รวมไปถึงความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานในการขนส่งของ สปป.ลาว และภูมิประเทศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการขนส่ง อีกทั้งยังมีประเด็นของตัวบทกฎหมายที่ออกมาเพื่อกำกับดูแลเรื่องการเข้าไปดำเนินธุรกิจของต่างชาติในแต่ละประเทศ
ในภาพรวมของการพัฒนาโลจิสติกส์ของประเทศไทย สิ่งที่สังเกตได้ชัดเจนคือ ภาครัฐรับบทบาทในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเป็นหลัก ในขณะที่ภาคเอกชนจะมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในการทำธุรกิจ แต่ในความเป็นจริง หากต้องการให้ระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทยแข็งแกร่งได้นั้น ต้องอาศัยความร่วมมือของจากทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน ด้วยเหตุนี้ในการส่งเสริมและสร้างโอกาสทางการค้าการลงทุนภาคธุรกิจบริการโลจิสติกส์ให้แก่ผู้ประกอบการไทยเพื่อสร้างความเข้มแข็งในการแข่งขันทางธุรกิจได้นั้น จะต้องพิจารณาถึงปัจจัยสำคัญ อันประกอบไปด้วย การปรับปรุงและพัฒนากฎหมาย กฎระเบียบ ข้อกำหนด และสร้างมาตรฐานการให้บริการสำหรับธุรกิจบริการโลจิสติกส์ คือ การมาทบทวนถึงตัวกฎหมาย กฎระเบียบหรือข้อกำหนดต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคทางการค้าของธุรกิจบริการโลจิสติกส์พร้อมทั้งทำการปรับปรุงและพัฒนาให้เอื้อต่อการค้าให้มากขึ้น รวมถึงการผลักดันสร้างมาตรฐานในการให้บริการเพื่อความเป็นสากลและเป็นที่ยอมรับได้บนเวทีโลก การส่งเสริมภาคเอกชนหรือผู้ประกอบการไทยให้สามารถส่งออกหรือขยายกิจการออกไปต่างประเทศได้ คือ การส่งเสริมให้มีการขยายกิจการหรือสร้างเครือข่ายทางธุรกิจไปยังต่างประเทศโดยเฉพาะกลุ่ม CLMV ASEAN และ ASEAN+6 โดยอาศัยฐานจากข้อตกลงทางการค้าเสรีภาคบริการที่ได้มีการตกลงร่วมกันไว้ การเสริมสร้างความเข้มแข็งธุรกิจบริการโลจิสติกส์ของไทยให้มีความมั่นคงและมีศักยภาพในการแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ การเสริมสร้างและพัฒนาความสามารถของบุคลากรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและยังมีการส่งเสริมธุรกิจในลักษณะของคลัสเตอร์ให้มากขึ้น รวมถึงมีการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่จะเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของธุรกิจบริการโลจิสติกส์และธุรกิจต่อเนื่องที่เกี่ยวข้องได้ คือ การส่งเสริมให้มีการคิดค้นบริการใหม่ๆ หรือเพิ่มมูลค่า (Value Creation) ให้กับบริการของผู้ประกอบการไทยให้มากขึ้น หากปัจจัยสำคัญตามที่กล่าวไว้ข้างต้นได้มีการนำไปใช้และพัฒนาอย่างจริงจัง ความหวังในการที่จะให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าและบริการโลจิสติกส์นั้นคงไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป
บทความโดย : สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี