กระทรวงพาณิชย์ เดินหน้าพัฒนาคุณภาพงานศิลปหัตถกรรมไทย ชูแนวคิด Crafts Design Matching สร้างมูลค่าเพิ่มให้งานศิลปหัตถกรรมไทยตอบโจทย์ความต้องการตลาดยุคใหม่ พัฒนาศักยภาพช่างฝีมือ เสริมทักษะความคิดสร้างสรรค์ ต่อยอดงานศิลปหัตถกรรมไทยได้อย่างยั่งยืน
นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากกระแสความตื่นตัวของโลกยุคปัจจุบันกับงานศิลปหัตถกรรม กระทรวงพาณิชย์ จึงเห็นถึงความสำคัญและเดินหน้าส่งเสริมและพัฒนางานศิลปหัตถกรรมไทยอย่างสร้างสรรค์และพร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการให้มีศักยภาพ สามารถแข่งขันได้ในตลาดสากล ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับงานศิลปหัตถกรรมไทย ด้วยความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมใหม่ๆ ทั้งไอเดียและดีไซน์จะถูกหลอมรวมเข้าไปในชิ้นงาน สร้างสรรค์รูปแบบไร้ขีดจำกัดเพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าในหลากหลายกลุ่มมากขึ้น
รมช.พาณิชย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาได้มอบหมายสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ sacit ให้ดำเนินการยกระดับคุณค่าและเพิ่มมูลค่าให้กับงานศิลปหัตถกรรมไทย ด้วยการประยุกต์นำนวัตกรรมเทคโนโลยี และการพัฒนามาผสมผสานในงานศิลปหัตถกรรมไทย เพิ่มฟังก์ชันการใช้งาน เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติที่ดียิ่งขึ้น ช่วยลดต้นทุนในการผลิต การรับรองมาตรฐานให้กับงานศิลปหัตถกรรมไทย การสร้างสรรค์การออกแบบให้ทันสมัย มีรูปแบบที่สอดคล้องกับตลาดเป้าหมายทั้งในและต่างประเทศ สามารถสร้างเอกลักษณ์ให้สินค้าโดดเด่น ตลอดจนสร้างรายได้ให้ชุมชนและเพิ่มช่องทางการตลาดได้อย่างยั่งยืน ถือเป็นการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ขยายตัวมากขึ้นอีกด้วย
ด้าน นายพรพล เอกอรรถพร รักษาการแทน ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย กล่าวเสริมว่า ในขณะนี้ sacit ได้นำแนวคิด Crafts Design Matching มาใช้เป็นแนวทางในการส่งเสริมและพัฒนางานศิลปหัตถกรรมไทย ในกิจกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตปัจจุบัน (SACIT Concept 2022) เพื่อให้กระบวนการพัฒนาคุณภาพของงานศิลปหัตถกรรมไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตรงตามความต้องการของตลาด ซึ่ง sacit จะทำหน้าที่เป็น Match Maker จับคู่และประสานการทำงานระหว่างกลุ่มผู้ประกอบงานศิลปหัตถกรรมไทย ทั้งครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ช่าง ชุมชนหัตถกรรม เครือข่ายภาคเอกชน และนักออกแบบ ครอบคลุมงาน 8 ประเภท คือ เครื่องไม้ เครื่องจักสาน เครื่องดิน เครื่องทอ (ผ้า) เครื่องโลหะ เครื่องหนัง เครื่องกระดาษ และเครื่องแก้ว โดยใช้นักพัฒนา 1 คน ต่อ 1 ผู้ประกอบการ มาจับคู่กันพัฒนาชิ้นงานให้ตอบโจทย์กลุ่มผู้ซื้อมากขึ้น แต่ยังคงคำนึงถึงเทคนิคเชิงช่างดั้งเดิมไว้ และผสมผสานกับเทคโนโลยีหรือวัสดุใหม่ ๆ หรือการพัฒนาลวดลาย รูปแบบให้มีความร่วมสมัย เพื่อส่งเสริมให้เกิดประโยชน์ใช้สอย รวมถึงยังเป็นการสืบสานภูมิปัญญาเชิงช่าง และถ่ายทอดสู่คนรุ่นใหม่ให้เกิดแรงบันดาลใจในการอนุรักษ์งานศิลปหัตถกรรมไทยต่อไป