“สวทช.-PANUS”ผนึกกำลังยกระดับอุตฯขนส่ง-ยานยนต์-แบตเตอรี่เชิงพาณิชย์รับเทรนด์ใหม่

0
177

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)ผนึกกำลัง บริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด (PANUS) จรดหมึก MOU ร่วมมือพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อใช้ประโยชน์ได้จริงเชิงพาณิชย์สู่มิติการยกระดับอุตสาหกรรมขนส่ง-ยานยนต์-แบตเตอรี่รองรับเมกะเทรนด์ธุรกิจขนส่งยุคใหม่

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช.เปิดเผยว่า สวทช. ให้ความสำคัญในการส่งเสริมการรดำเนินการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมเชิงเทคโนโลยีที่มีความพร้อมไปใช้งานในเชิงพาณิชย์และสาธารณะประโยชน์ ทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ และภาคสังคม จึงได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีเฉพาะทาง (Focus Center) ซึ่งปัจจุบันมี 3 หน่วยงาน ประกอบด้วย ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ และศูนย์วิจัยเทคโนโลยีระบบรางและการขนส่งสมัยใหม่ 

“อีกทั้งสวทช. ยังผลักดันการนำผลงานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์ ผ่านระบบบัญชีนวัตกรรมไทย ซึ่งทำให้ผลงานวิจัยมีช่องทางถูกนำไปใประโยชน์ในหน่วยงานภาครัฐที่เป็นตลาดใหญ่สุดในปัจจุบัน และทำงานร่วมกับ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ สมอ. ทำมาตรฐานอุตสาหกรรมนวัตกรรม กำหนดมาตรฐานสำหรับนวัตกรรม ที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นทำให้นวัตกรรมได้รับการรับรองต่อไป”

พิสูจน์ความท้าทาย!งานวิจัยตอบโจทย์เชิงพาณิชย์-สร้างประโยชน์ได้

ผู้อำนวยการ สวทช.ระบุอีกว่าตัวอย่างในการทำงานเพื่อสนับสนุนภาคเอกชนเพิ่มเติม 2 เรื่อง ได้แก่ 1.การจัดตั้ง NSTDA Startup สวทช.ได้กำหนดกฎเกณฑ์ใหม่เพื่อให้บุคลากร สวทช. สามารถไปถือหุ้นในบริษัท และให้บริษัทจ้าง สวทช. เข้าไปบริหารจัดการเรื่องเทคโนโลยี ด้วยกลไกนี้ทำให้บุคลากร สวทช. สามารถไปทำงานในบริษัทที่ตัวเองถือหุ้นได้ ขณะเดียวกันก็ยังคงเป็นพนักงานของ สวทช. เป็นรูปแบบที่ตอบสนองแนวคิดของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการท้าทายว่า งานวิจัยสามารถทำเชิงพาณิชย์ได้ สร้างประโยชน์ได้

และ 2. การตั้ง NSTDA Holding สวทช. ได้ปรับรูปแบบการลงทุนให้เป็นแพลตฟอร์ม ใน NSTDA Holding สวทช. ได้ถือหุ้น 100% มีงบประมาณในการลงทุนประมาณ 100 ล้านบาท มีกลไกการลงทุนแยกออกจาก สวทช. เป็นบริษัทจำกัดที่ใช้ในการลงทุน เอางานวิจัยของคนรุ่นใหม่ไปตั้งเป็นบริษัท สร้างแพลตฟอร์มในการลงทุนเพื่อที่จะเอางานวิจัยวิ่งผ่านแพลตฟอร์มเหล่านี้ รวมทั้งมีเงินทุนจำนวนหนึ่งไปถือหุ้นในสตาร์ตอัปทั้งที่จัดตั้งเองและสตาร์ตอัปทั่วไป เป็นกลไกที่ขับเคลื่อนเชิงพาณิชย์ของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี NSTDA Holding สวทช. จะไปค้นหาโครงการที่น่าลงทุนและลงทุนในสัดส่วนที่เหมาะสมจะไม่ใช้เงินจำนวนมาก แต่จะใช้ seed money ดึงให้หน่วยงานอื่นมาลงทุนร่วมต่อไป

สวทช.ผนึก PANUS ร่วมสร้างนวัตกรรมใช้ประโยชน์จริงเชิงพาณิชย์

นอกจากนี้ ผู้อำนวยการ สวทช. ย้ำว่า อย่างไรก็ตามสวทช. และ บริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด ได้มีความร่วมมือในหลายด้าน เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ขับขี่อัตโนมัติ Logistics และแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน เป็นต้น การลงนามความร่วมมือระหว่าง บริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด และ สวทช. ในวันนี้ ก็เป็นส่วนหนึ่งในกลไกที่จะช่วยส่งเสริมความสามารถในการแข่งขัน และสร้างความยั่งยืนให้กับภาคอุตสาหกรรมในประเทศ ผ่านการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างนวัตกรรมเชิงเทคโนโลยีที่มีจุดแข็งและนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในธุรกิจอุตสาหกรรมในอนาคต

“ตลอด 30 ปี ผ่านมา สวทช. ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานจากองค์กรวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สู่ภารกิจในการริเริ่มและผลักดันให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สำคัญของประเทศ เพื่อลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ใช้จุดเด่นและความเข้มแข็งของทรัพยากรภายในประเทศ ผสานกับความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภารกิจต่างๆ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนสอดคล้องตามแนวทางโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่เป็นวาระแห่งชาติ”

PANUS ผงาดเบอร์1ตลาดมาอย่างยาวนาน

นายพนัส วัฒนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทฯ มีความร่วมมือกับทาง สวทช. ในหลายหลายภาคส่วน ทั้งการร่วมใช้ทรัพยากรเกี่ยวกับ Finite Element กับ DECC มากกว่า 15 ปี ความร่วมมือกับศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี จัดการประกวดผลงานความคิดสร้างสรรค์เชิงเทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้าน Logistics ในโครงการ Panus Thailand LogTech Award ที่มีการร่วมจัดมาแล้วกว่า 5 ปี นอกจากนี้มีการพัฒนาเทคโนโลยีขับขี่อัตโนมัติที่เหมาะกับการใช้งานภายใต้สภาพเงื่อนไขประเทศไทย การพัฒนาแผ่นเกราะกันกระสุนสำหรับการใช้งานในหัวรถจักรเพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ปฏิบัติงานและผู้โดยสารในพื้นที่ภาคใต้ และอีกหลายโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่และกำลังที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

“อย่างไรก็ดีกว่า 50 ปีนั้น บริษัทฯ เกิดการTransformation และพัฒนาธุรกิจในหลากหลายด้านเพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป โดยเริ่มจากธุรกิจให้บริการด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ หรือที่รู้จักกันดีในการผลิตรถขนส่งเชิงพาณิชย์ ไม่ว่าจะเป็น รถหางพ่วง รถขนตู้คอนเทนเนอร์ รถดั้ม รถทางการเกษตรต่างๆ รวมถึงรถบรรทุกรถที่เรามีนวัตกรรมร่วมกับ Toyota ซึ่งปัจจุบันในตลาดรถขนส่งเชิงพาณิชย์นี้ เราครองส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 1 มากกว่า 25% ของตลาดมาอย่างยาวนาน ด้วยเราเล็งเห็นโอกาสในทั่วทุกมมุมโลก จึงไม่เพียงแต่จำหน่ายในประเทศเท่านั้น แต่ยังส่งออกไปยังต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันเราส่งออกมากกว่า 40 ประเทศทั่วโลก”

ลุยธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์รองรับขนส่งยุคใหม่  

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท พนัสฯ กล่าวอีกว่า อีกธุรกิจหลักของบริษัทที่สำคัญเลยก็คือ ธุรกิจการให้บริการภาคพื้นสนามบินที่เราดำเนินกิจการมากว่า 15 ปี ผลิตภัณฑ์หลักๆ คือรถดันเครื่องบินที่มีทั้งดีเซล และไฟฟ้า 100% นอกจากนี้ก็เป็นอุปกรณ์ในภาคพื้นสนามบินต่าง ๆ รวมไปถึงรถบัสชานต่ำ หากพูดถึงรถดันเครื่องบินไฟฟ้า ที่พัฒนาผลิตภัณฑ์มาตั้งแต่ปี 2015 ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของบริษัทด้วยฐานคิดและนวัตกรรมด้านยานยนต์ไฟฟ้าตรงนี้ เราจึงได้พัฒนาต่อยอดและสร้างธุรกิจอีกหนึ่งส่วนขึ้นมาเรียกว่า หน่วยธุรกิจนวัตกรรม ที่ดูแลธุรกิจใหม่ๆของบริษัททั้งในเรื่องอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ “ซึ่งปัจจุบันเราได้รับการรับรองมาตรฐานรถหุ้มเกราะกันกระสุนจากกระทรวงกลาโหมถึง 2 รุ่นด้วยกัน รวมไปถึงระบบบริหารจัดการฝูงรถ และไฮไลท์เลท์คือ ยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงเชิงพาณิชย์ ในชื่อของ Panus Drive ที่เพิ่งเปิดตัวไปเป็นการสร้างชุดดัดแปลงรถสันดาปเป็นพลังงานไฟฟ้า มุ่งเน้นรถขนส่งเชิงพาณิชย์ ซึ่งตรงนี้เองเรามองว่าเป็นอนาคต ทั้งอนาคตของบริษัทและอนาคตของประเทศ และยังช่วยสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เติบโตไปพร้อมกันได้ เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมใหม่จึงจำเป็นอย่างที่จะต้องพัฒนาคนและกระจายองค์ความรู้สู่คนรุ่นใหม่ รวมไปถึงอู่รายย่อย เครือข่ายพันธมิตร สถาบัน และองค์กรต่างๆ ทุกภาคส่วนที่สามารถรับ know how หรือชุด kit ไปประกอบและดัดแปลงเองได้”

ยกระดับอุตฯขนส่ง-ยานยนต์-แบตเตอรี่

ดร.เอกรัตน์ ไวยนิตย์  ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเทคโนโลยีระบบรางและการขนส่งสมัยใหม่ สวทช. กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อใช้ประโยชน์ในธุรกิจอุตสาหกรรม ได้แก่ 1.ร่วมบริหารโครงการวิจัย พร้อมทั้งพัฒนาเครือข่ายการทำงานของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในภาคอุตสาหกรรม 2. สร้างนวัตกรรมรูปแบบใหม่ เช่น การพัฒนา Platform ให้บริการด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ 3. บูรณาการเชื่อมโยงการใช้ประโยชน์ทรัพยากรในแต่ละหน่วยงานให้มีประสิทธิภาพเพิ่มสูงขึ้น ทั้งบุคลากรในสายวิจัยและวิชาการ โครงสร้างพื้นฐาน อุปกรณ์เครื่องมือในการวิจัยและพัฒนา 4. การสร้างกลไกเพื่อขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์ ในผลงานวิจัยและพัฒนาการสร้างผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีนวัตกรรม และ 5.พัฒนางานวิจัยเชิงประยุกต์ พร้อมทั้งส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยี ผ่านกลไกต่าง ๆ เช่น โครงการรับจ้างวิจัย โครงการร่วมวิจัย การถ่ายทอดเทคโนโลยี ตลอดจนการอนุญาตให้ใช้สิทธิ เพื่อสร้างธุรกิจที่มีความแตกต่างด้วยนวัตกรรม ให้คำปรึกษาเทคโนโลยีและนวัตกรรม แก้ไขปัญหาทางวิศวกรรม การบริการวิเคราะห์และทดสอบ รวมถึงจะร่วมกันพัฒนากลไกเชิงธุรกิจ ผ่านมาตรการส่งเสริมการเงิน ภาษี และบัญชีนวัตกรรมไทย ของสวทช.

“สวทช. ได้มีความร่วมมือกับทางบริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด ในหลายด้าน โดยด้านการวิจัยและพัฒนานั้น ศูนย์วิจัยเฉพาะทาง หรือ focus center ของ สวทช. ปัจจุบัน ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีระบบรางและการขนส่งสมัยใหม่ หรือ Rail and Modern Transports Research Center : RMT ได้ร่วมดำเนินการวิจัยและพัฒนากับทาง บริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด ในการพัฒนาเทคโนโลยีขับขี่อัตโนมัติที่เหมาะกับการใช้งานภายใต้สภาพเงื่อนไขประเทศไทย เพื่อสร้างต้นแบบยานยนต์ขับขี่อัตโนมัติระดับ 3 ในรูปแบบรถฟีดเดอร์ ที่บรรทุกผู้โดยสารได้ 15 คน ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า วิ่งได้ความเร็วสูงสุด 35 กม./ชม. เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายขนส่งสาธารณะ หรือ First-and-Last Mile Connectivity โดยได้รับการทุนสนับสนุนการวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ภายใต้ระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี”

นอกจากนั้นแล้ว ยังมีการพัฒนาเพิ่มความปลอดภัยของหัวรถจักรเพื่อป้องกันโจมตีจากกระสุนให้กับผู้ปฏิบัติงานและผู้โดยสารรถไฟในพื้นที่ภาคใต้ โดยจะได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากแผนบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้ระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี

NSD กางแผนงานวิจัยร่วมมือ PANUS ใน 2 โครงการ

ด้าน ดร.ศิวรักษ์ ศิวโมกษธรรม ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ หรือ National Security and Dual-Use Technology Center: NSD กล่าวเสริมว่า ในส่วนของศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศฯ ได้วางแผนงานวิจัยที่จะร่วมมือกับ บ. พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด ใน 2 โครงการ ได้แก่ 1.การพัฒนาชุดกรองไอเสียจากเครื่องยนต์ดีเซลด้วยการตกตะกอนเชิงไฟฟ้าสถิต เพื่อกรองไอเสียจากเครื่องยนต์ดีเซลของรถขนาดใหญ่ โดยใช้เทคโนโลยีการตกตะกอนเชิงไฟฟ้าสถิต ซึ่งสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการกรองไอเสียดีเซลที่ประกอบด้วยฝุ่นละอองขนาดเล็กมากได้ สามารถฉีดล้างทำความสะอาดชุดกรองได้ง่าย สำหรับติดตั้งในรถบรรทุก รถโดยสารสาธารณะ เพื่อลดการปล่อยมลพิษทางอากาศ และ 2.การร่วมลงทุนวิจัยระหว่าง พนัส และ สวทช. ในโรงงานต้นแบบผลิตแบตเตอรี่ทางเลือก ในพื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EECi ในอำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง