‘พนัส อินโนเวชั่น’พร้อมขยายผลเชิงพาณิชย์“ปิ๊กอัพไฟฟ้าดัดแปลงมาตรฐาน”ตอบโจทย์ธุรกิจขนส่งยุคใหม่

0
450

เรียกได้ว่ายังคงมุ่งมั่นพัฒนาและขับเคลื่อนนวัตกรรมใหม่ๆตามเมกะเทรนด์โลกยานยนต์สมัยใหม่ไร้มลพิษสำหรับบริษัท พนัส อินโนเวชั่น จำกัดในเครือพนัสแอสแซมบลีย์ บิ๊กเนมธุรกิจผลิตยานยนต์เพื่อการขนส่งและโลจิสติกส์เมืองไทยหลังซุ่มวิจัยพัฒนารถปิ๊กอัพไฟฟ้าดัดแปลงมากว่า 2 ปีจากทุนสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

ล่าสุด แหล่งข่าวระดับสูงจากฐานบัญชาการพนัสอินโนเวชั่นฯระบุว่าเวลานี้บริษัทฯได้รุดหน้าไปอีกขั้นความสำเร็จด้วยการขยายผลสู่เชิงพาณิชย์เป็นที่เรียบร้อยโดยการอบรมและดูงานจริงผ่านเครือข่ายอู่รายย่อยกว่า 30 อู่ โดยเริ่มจากกลุ่มชมรมรถไฟฟ้าเชียงใหม่เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งได้รับการตอบรับเกินความคาดหมาย

EV Conversion คือ“อุตสาหกรรมใหม่”ที่น่าจับตา

แหล่งข่าวดังกล่าว  ระบุอีกว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง หรือ EV Conversion ที่คาดกันว่าจะถูกผลักดันให้กลายเป็น“อุตสาหกรรมใหม่”ที่สร้างมูลค่าเศรษฐกิจได้มหาศาลถึงกว่า 3 แสนล้านบาทต่อปี ทำให้หลายบริษัทเกิดความตื่นตัวและประกาศวิสัยทัศน์เข้าสู่การเป็นองค์กรไร้คาร์บอน การสนับสนุนจากภาครัฐให้เกิดอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าดัดแปลง ถือเป็นก้าวสําคัญในเชิงยุทธศาสตร์ของการสร้างการเปลี่ยนผ่านให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างแพร่หลายภายในประเทศตามเป้าหมายของรัฐบาล

ลุยขยายความร่วมมือหลากหลายพันธมิตร

อย่างไรก็ตามการที่จะสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงให้มีคุณภาพและมาตรฐานความปลอดภัย จะต้องได้รับความร่วมมือจากหลากหลายภาคส่วน ทั้งการเพิ่มความสามารถของบุคลากร การสะสมองค์ความรู้ การต่อยอดเทคโนโลยี (Technology Localization) การกระจายอุตสาหกรรม (Industrial Diversification) และการพัฒนาอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีเชิงลึก(Industrial/Technological Deepening) ซึ่งจําเป็นต้องอาศัยการลงทุนด้านการวิจัยและการพัฒนาในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องควบคู่ไปด้วย

เหมาะสมสภาพภูมิประเทศ-ถนนเมืองไทย

แหล่งข่าว ยังย้ำด้วยว่าบริษัท พนัส อินโนเวชั่น เป็นหนึ่งในบริษัทที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในการพัฒนาเทคโนโลยีรถไฟฟ้าดัดแปลงให้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศและถนนของเมืองไทย การขึ้นเขาหรือสภาพถนนที่คดเคี้ยวซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อสมรรถนะและการบำรุงรักษา โดยบริษัทฯพัฒนารถปิ๊กอัพขนาด 2.5 ตัน มีเกียร์ 4 speed เพิ่มสมรรถนะในการขับขี่ระยะทางไกลและทางลาดชันตอบโจทย์กลุ่มธุรกิจขนส่ง อีกทั้งความพิเศษของรถดังกล่าวยังมีระบบระบายความร้อน (cooling system) คงอุณหภูมิอยู่ที่ 29.5 องศาเซลเซียสเพื่อให้เหมาะกับสภาพภูมิอากาศประเทศไทย

ง่ายต่อการบริการหลังการขาย

อีกส่วนสำคัญที่บริษัทฯพัฒนาคือ ซอฟต์แวร์ภายในตัวรถที่ควบคุมระบบไฟฟ้าและสมองกล โดยเป็นจุดที่แตกต่างกับการนำเข้ารถทั้งคัน เนื่องจากการพัฒนาซอฟต์แวร์เองจะทำให้ง่ายต่อการบริการหลังการขายไม่ว่าจะด้านการสื่อสารข้อมูลหรือการซ่อมบำรุง ลดระยะเวลารอคอยของผู้ใช้งาน

“ด้วยเป้าประสงค์ที่ของบริษัทฯ ที่มุ่งเน้นการสร้างสรรค์นวัตกรรม พนัส อินโนเวชั่น ไม่หยุดยั้งในการคิดค้น วิจัย พัฒนา และสร้างเครือข่ายพันธมิตรในด้านเทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ และจะเป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาของเครือพนัสฯ ในอนาคต”แหล่งข่าว ระบุปิดท้าย