เกาะติด!“พาณิชย์-DITP”แนะส่งออกไทยเตรียมใช้ประโยชน์นโยบายพัฒนาท่าเรือ-โลจิสติกส์อียิปต์

0
99

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) แนะผู้ส่งออกไทยเกาะติดนโยบายการพัฒนาประเทศเป็นศูนย์กลางการค้าระหว่างประเทศของอียิปต์อย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมความพร้อมในการใช้ประโยชน์จากท่าเรือและระบบโลจิสติกส์ เพิ่มโอกาสในการส่งออกสินค้าไทย และต้องติดตามกฎระเบียบด้านการค้าด้วย ป้องกันผลกระทบต่อการส่งออก

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า ตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้มอบหมายให้กรมฯ สำรวจลู่ทางและโอกาสการส่งออกสินค้าไทยในประเทศต่าง ๆ ล่าสุดได้รับรายงานจากนายเถลิงศักดิ์ วงศ์สามศร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงไคโร อียิปต์ ถึงการใช้ประโยชน์จากยุทธศาสตร์ของอียิปต์ที่ได้ตั้งเป้าหมายพัฒนาประเทศเป็นศูนย์กลางการค้าระหว่างประเทศในยุคหลังโควิด-19 ผ่านการส่งเสริมและพัฒนาในด้านต่าง ๆ อาทิ การพัฒนาท่าเรือของอียิปต์ให้สามารถรองรับเรือได้มากขึ้นและมีประสิทธิภาพการปรับปรุงระบบโลจิสติกส์เพื่ออำนวยความสะดวกการนำเข้าและส่งออก โดยใช้ความได้เปรียบทางด้านภูมิศาสตร์ของประเทศในการเชื่อมโยงเส้นทางการค้าที่สำคัญระหว่างตะวันออกกลาง แอฟริกา และภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก

โดยทูตพาณิชย์ได้รายงานว่า ในช่วงระหว่างการระบาดใหญ่ของโควิด-19 อียิปต์ได้พยายามเร่งฟื้นฟูห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการปรับปรุงและพัฒนาท่าเรือต่าง ๆ ของประเทศในแถบทะเลแดงและทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งใช้งบประมาณกว่า 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ประกอบด้วยโครงการต่าง ๆ 58 โครงการ อาทิ การก่อสร้างท่าเทียบเรือใหม่ การพัฒนาลานการค้า การขุดลอกช่องทางเดินเรือ การพัฒนาเส้นทางถนนและทางรถไฟเพื่อเชื่อมโยงท่าเรือภายในประเทศ โดยตั้งเป้าหมายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะการนำเข้าและส่งออก

นอกจากนี้ ยังวางแผนสร้างทางหลวงที่เชื่อมอียิปต์กับอีก 9 ประเทศในแอฟริกา รวมถึงการพัฒนาเส้นทางรถไฟความเร็วสูงระหว่างท่าเรืออียิปต์บนทะเลแดงและชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เพื่อช่วยลดต้นทุนการขนส่ง ทั้งนี้ คาดว่า โครงการต่างๆ จะสามารถดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2567

ขณะเดียวกัน อียิปต์ได้พยายามพัฒนาปรับปรุงระบบการค้าระหว่างประเทศ เพื่อรองรับการค้าหลังจากสถานการณ์โควิด-19 อาทิ การพัฒนาระบบแจ้งข้อมูลล่วงหน้าของสินค้านำเข้า (Advance Cargo Information System : AC) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใช้บล็อกเชนช่วยในการจัดส่งข้อมูลทางการค้าให้กับผู้นำเข้าและศุลกากรอียิปต์ในลักษณะหน้าต่างเดียว (Single window) เพื่อใช้ประกอบการผ่านพิธีการศุลกากรและตรวจปล่อยสินค้าเมื่อมาถึงท่าเรือปลายทาง โดยได้เริ่มใช้ระบบดังกล่าวมาตั้งแต่เดือนต.ค.2564 เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการและลดเวลาการดำเนินงานทางศุลกากร

 อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาลอียิปต์จะพยายามส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางด้านการค้าระหว่างประเทศ ด้วยการพัฒนาและปรับปรุงกลไกทางการค้าต่าง ๆ ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศ และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศ แต่จากสถานการณ์ด้านการเงินและการขาดดุลงบประมาณอย่างต่อเนื่อง ทำให้รัฐบาลอียิปต์ โดยธนาคารกลางต้องประกาศใช้นโยบายทางการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะเพื่อแก้ไขปัญหาสภาพคล่องด้านเงินตราต่างประเทศในระบบเศรษฐกิจ และชะลอการไหลออกของเงินตราต่างประเทศจากการนำเข้า ด้วยการกำหนดมาตรการทางการเงินที่เข้มงวด อาทิ การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศจะต้องเปิด L/C เท่านั้น ยกเว้นสินค้าจำเป็นบางรายการ รวมไปถึงมาตรการจดทะเบียนโรงงานสำหรับสินค้าบางรายการตามประกาศของกระทรวงการค้า ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการและเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกสินค้ามายังอียิปต์

“ผู้ส่งออกไทยที่ทำตลาดอียิปต์อยู่ในปัจจุบัน หรือผู้ส่งออกรายใหม่ที่ต้องการส่งออกไปอียิปต์ จะต้องทำการศึกษา และติดตามนโยบายการพัฒนาประเทศเป็นศูนย์กลางการค้าระหว่างประเทศ เพื่อเตรียมการใช้ประโยชน์จากท่าเรือและระบบโลจิสติกส์ รวมทั้งต้องติดตามการใช้กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องด้านการค้าอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้กระทบต่อการส่งออกสินค้าของไทยเข้าสู่ตลาดอียิปต์”นายภูสิตกล่าว

ปัจจุบัน การค้าระหว่างประเทศของอียิปต์ มีความการต้องการนำเข้าสินค้ามากขึ้น เพื่อผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการในประเทศและผลิตเพื่อการส่งออก โดยการนำเข้าทั้งหมดในปี 2564 มีมูลค่า 73,781 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมีสินค้านำเข้า 5 กลุ่มสำคัญ ได้แก่ 1.เชื้อเพลิงแร่ น้ำมัน และผลิตภัณฑ์เคมี มูลค่าการนำเข้ามากกว่า 18,000 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25 ของการนำเข้าทั้งหมด 2.เครื่องจักรและเครื่องมือกล มูลค่านำเข้า 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐ 3.ยานยนต์ นอกเหนือจากรางรถไฟและรถราง มูลค่าการนำเข้ามากกว่า 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ 4.สินค้าเกษตรและปศุสัตว์ อาทิ ข้าวสาลี ข้าวโพด ข้าวไรย์ข้าวโอ๊ต ข้าว และข้าวบาร์เลย์ มูลค่าเกือบ 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ 5.อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ มูลค่าการนำเข้ารวมกว่า 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ