รถไฟฟ้าสีเหลือง-สีชมพู เล็งทดสอบเดินรถปลายปี 65 ค่าโดยสารแบบนี้

0
89

คมนาคมร่วมกับกรมการขนส่งทางราง ลุยพื้นที่ติดตามความคืบหน้ารถไฟฟ้าโมโนเรล สายสีเหลือง – สายสีชมพู และทดลองนั่งขบวนรถไฟฟ้า เพื่อทดสอบระบบ เผยเตรียมการเดินรถเสมือนจริงเดือน ต.ค.65 แย้มกำหนดอัตราค่าโดยสารแบบนี้

ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เปิดเผยภายหลังร่วมลงพื้นที่ก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง และโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2565 ว่า เพื่อติดตามความก้าวหน้าการก่อสร้าง แผนการพัฒนาโครงการฯ ในอนาคต การเชื่อมต่อกับโครงการขนส่งมวลชนอื่น ๆ และความพร้อมของขบวนรถต่าง ๆ รวมถึงแผนการเตรียมเปิดให้บริการเดินรถ โดยมีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นหัวหน้าคณะ พร้อมด้วยผู้บริหารและหัวหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมที่เกี่ยวข้องร่วมลงพื้นที่

ทั้งนี้ ปัจจุบันของการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าทั้ง 2 สาย ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีเหลือง มีความคืบหน้าในภาพรวมคิดเป็นร้อยละ 92.93 แบ่งเป็นงานโยธา ร้อยละ 93.42 และงานระบบรถไฟฟ้าร้อยละ 92.29 รถไฟฟ้าสายสีชมพูมีความคืบหน้าในภาพรวมคิดเป็นร้อยละ 88.51 แบ่งเป็นงานโยธา ร้อยละ 90.06 และงานระบบรถไฟฟ้าร้อยละ 87.02

ขณะนี้รถไฟฟ้าสายสีเหลืองได้รับมอบขบวนรถแล้ว 28 ขบวน จากทั้งหมด 30 ขบวน และรถไฟฟ้าสายสีชมพูได้รับมอบขบวนรถแล้ว 26 ขบวนจากทั้งหมด 42 ขบวน และในส่วนขบวนรถไฟฟ้าที่เหลือจะจัดส่งถึงประเทศไทยได้ภายในเดือนกรกฎาคม 2565 สำหรับรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และในเดือนตุลาคม 2565 สำหรับรถไฟฟ้าสายสีชมพู โดยโครงการรถไฟฟ้าทั้ง 2 สายทาง อยู่ระหว่างทดสอบการเดินรถ และมีแผนกำหนดการทดสอบเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) เริ่มภายในเดือนตุลาคม 2565 ก่อนจะเปิดให้บริการบางช่วงอย่างเป็นทางการในไตรมาสแรกของปี 2566

ดร.พิเชษกล่าวว่า ปัญหาและอุปสรรคที่พบในการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง และโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี พบว่าบางพื้นที่มีสาธารณูปโภคตามแนวเส้นทางก่อสร้างอยู่ด้วย ส่งผลให้การก่อสร้างมีความล่าช้า ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้มอบนโยบายให้เร่งประสานขอความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การก่อสร้างเดินหน้าได้อย่างราบรื่นแล้วเสร็จตามกำหนด และดำเนินการคืนพื้นที่โดยเร็วเพื่อบรรเทาปัญหาจราจร ลดผลกระทบต่อการเดินทางของประชาชนให้มากที่สุด พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล (Universal Design) และการกำหนดอัตราค่าโดยสารที่มีความเหมาะสม เป็นธรรม

โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง มีแนวเส้นทางเริ่มต้นที่แยกรัชดา – ลาดพร้าว บริเวณหน้าอาคารจอดแล้วจร สถานีลาดพร้าว ของรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน) ไปตามแนวถนนลาดพร้าว ถึงทางแยกบางกะปิ เข้าสู่ถนนศรีนครินทร์ ข้ามทางแยกต่างระดับพระราม 9 ผ่านแยกพัฒนาการ แยกศรีนุช แยกศรีอุดม แยกศรีเอี่ยม แยกศรีเทพา เข้าสู่ถนนเทพารักษ์ และสิ้นสุดที่บริเวณแยกเทพารักษ์ รวมระยะทางทั้งสิ้นประมาณ 30.4 กิโลเมตร

ประกอบด้วยสถานีทั้งหมด 23 สถานี ศูนย์ซ่อมบำรุง 1 แห่ง และอาคารจอดแล้วจร 1 แห่ง มีการเชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้าอีก 4 สาย ประกอบด้วย 1) สถานีลาดพร้าว (YL01) เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน) 2) สถานีแยกลำสาลี (YL09) เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) 3) สถานีหัวหมาก (YL11) เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงค์และรถไฟทางไกลสายตะวันออก 4) สถานีสำโรง (YL23) เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ

โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี มีจุดเริ่มต้นบนถนนรัตนาธิเบศร์ บริเวณถัดจากศูนย์ราชการจังหวัดนนทบุรี ผ่านแยกแครายเข้าสู่ถนนติวานนท์ ตัดเข้าสู่ถนนแจ้งวัฒนะที่บริเวณใกล้กับ ห้าแยกปากเกร็ด ผ่านแยกหลักสี่ เข้าสู่ถนนรามอินทราจนถึงแยกมีนบุรี เลี้ยวขวาสู่ถนนรามคำแหง ซึ่งมีสถานีสุดท้ายที่บริเวณใกล้ซอยรามคำแหง 192 ระยะทางประมาณ 34.5 กิโลเมตร ประกอบด้วยสถานีทั้งหมด 30 สถานี ศูนย์ซ่อมบำรุง 1 แห่งและอาคารจอดแล้วจร 1 แห่ง

โดยมีการเชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้าอีก 4 สาย ประกอบด้วย 1) สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานครสายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) 2) สถานีหลักสี่ (PK14) เชื่อมต่อกับโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ – รังสิต 3) สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ (PK16) เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต 4) สถานีมีนบุรี (PK30) เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)